นิ่วทอนซิล (Tonsillolith/Tonsil Stones)

ความหมาย นิ่วทอนซิล (Tonsillolith/Tonsil Stones)

นิ่วทอนซิล (Tonsillolith/Tonsil Stones) คือ การรวมตัวของเชื้อโรค เซลล์ที่ตายแล้ว น้ำลาย และเศษอาหาร มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลืองหรือสีขาวบริเวณต่อมทอนซิล และมักมีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าวหรือเมล็ดถั่ว จึงอาจทำให้ยากต่อการมองเห็น นอกจากนี้ นิ่วทอนซิลอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น กลิ่นปาก ความระคายเคือง หรือทำให้ต่อมทอนซิลบวมได้

นิ่วทอนซิลเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป และมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยนิ่วทอนซิลอาจดีหลุดออกได้เองตามธรรมชาติ และมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตาม หากนิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่มาก หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

นิ่วทอนซิล

สาเหตุของนิ่วทอนซิล

นิ่วทอนซิลอาจเกิดจากการสะสมตัวของเซลล์ที่ตายแล้ว น้ำลาย เศษอาหารต่าง ๆ แบคทีเรีย และเชื้อราตามซอกและร่องในต่อมทอนซิล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า นิ่ว โดยผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบหลายครั้งมักมีความเสี่ยงสูงในการเกิดนิ่วทอนซิล 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้นิ่วทอนซิล มีดังนี้

  • การรักษาความสะอาดช่องปากที่ไม่เพียงพอ
  • ต่อมทอนซิลที่มีขนาดใหญ่
  • ปัญหาไซนัสเรื้อรัง
  • ภาวะขาดน้ำ 

อาการของนิ่วทอนซิล

นิ่วทอนซิลมักไม่มีอาการรุนแรง โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

อาการของนิ่วทอนซิลที่ควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์ หากรักษานิ่วทอนซิลด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น นิ่วทอนซิลกลับมาเป็นซ้ำหลายครั้ง นิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่หรือฝังลึก หรือมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้สูง ทอนซิลบวมและอักเสบ เจ็บบริเวณหู กลืนอาหารลำบาก เจ็บคอนานเกิน 1 เดือน

การวินิจฉัยนิ่วทอนซิล

แพทย์มักวินิจฉัยนิ่วทอนซิลโดยการตรวจดูในช่องคอ และบางกรณีอาจใช้ภาพเอกซเรย์ (X-Ray) หรือภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย

การรักษานิ่วทอนซิล

การรักษานิ่วทอนซิลทำได้ดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

การรักษานิ่วทอนซิลเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

  • การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยลดการระคายเคืองในช่องคอและอาจช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออกได้
  • การไอแรง ๆ อาจทำให้นิ่วทอนซิลหลุดออก
  • ใช้สำลีก้านดันนิ่วออกอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต่อมทอนซิลมีเนื้อเยื่อที่บอบบางจึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้

การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์

การรักษานิ่วทอนซิลจากแพทย์มีดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเพื่อช่วยลดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดและเติบโตของนิ่ว 
  • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Laser Tonsil Cryptolysis) กระบวนการนี้จะใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วทอนซิลโดยใช้การวางยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดชนิดนี้ทำให้ต่อมทอนซิลเกิดการระคายเคืองและต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวเล็กน้อย
  • การผ่าตัดแบบโคเบลชั่น (Coblation Cryptolysis) การผ่าตัดชนิดนี้จะใช้คลื่นรังสีในการเปลี่ยนสารละลายกลุ่มโซเดียมให้เป็นไอออน เพื่อช่วยในการตัดเนื้อเยื่อ ซึ่งคล้ายกับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ แต่การผ่าตัดชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองดังที่เกิดขึ้นในการใช้เลเซอร์
  • การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) การผ่าตัดต่อมทอนซิลทำได้หลายวิธีทั้งโดยการใช้มีด เลเซอร์ หรือเครื่องโคเบลชั่น (Coblation Device) แพทย์มักเลือกใช้การผ่าตัดต่อมทอนซิลสำหรับกรณีที่อาการรุนแรง เรื้อรัง หรือรักษาไม่หายขาดเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วทอนซิล

โดยทั่วไปแล้วนิ่วทอนซิลมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่การแคะหรือดันนิ่วทอนซิลออกด้วยตนเองอาจทำให้ต่อมทอนซิลได้รับความเสียหายได้ นอกจากนี้ นิ่วที่ทำให้ต่อมทอนซิลติดเชื้ออาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เลือดออก ติดเชื้อ 

การป้องกันนิ่วทอนซิล

การป้องกันนิ่วทอนซิลสามารถทำได้โดยการรักษาสุขภาพภายในช่องปาก เช่น แปรงฟันและแปรงลิ้นวันละ 2 ครั้งหรือหลังจากกินอาหาร งดสูบบุหรี่ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหลังจากกินอาหาร นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติของต่อมทอนซิล เพราะอาจช่วยให้ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะรุนแรงยิ่งขึ้น