ท้องผูกเรื้อรัง อาการและวิธีรับมือง่าย ๆ ด้วยตนเอง

นอกจากอาการท้องผูกเรื้อรังจะสร้างความรำคาญใจและความทุกข์ทรมานแล้ว ปัญหานี้ยังอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้อีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าเราสามารถบรรเทาอาการที่ไม่พึงประสงค์นี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่มขึ้น หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การใช้ยาระบายที่วางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปก็อาจช่วยให้อาการท้องผูกเรื้อรังทุเลาลงได้ เช่น แลคตูโลส ไซเลียม ฮัสค์ หรือน้ำมันพาราฟิน เป็นต้น แต่จะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการท้องผูกอย่างเรื้อรังแล้ว และควรใช้ยาอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสมกับอาการ ศึกษาได้จากบทความนี้

ท้องผูก rs

ท้องผูก กับท้องผูกเรื้อรัง มีอาการต่างกันอย่างไร ?

อาการท้องผูกอาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย การเดินทาง ภาวะเจ็บป่วย และการใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อาจบรรเทาอาการท้องผูกได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาระบายที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และการปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนความแตกต่างของอาการท้องผูกและท้องผูกเรื้อรัง คือ ระยะเวลาของอาการที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่มีปัญหาท้องผูกทั่วไปมักมีอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หรืออาการท้องผูกเกิดติดต่อกันเพียงไม่กี่วันเท่านั้น รวมทั้งผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังมักถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง โดยอาจมีอาการถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือถ่ายได้ไม่สุด ต้องใช้แรงเบ่งมาก ต้องใช้มือกดบริเวณหน้าท้อง และอาจต้องใช้นิ้วมือช่วยเขี่ยอุจจาระออกจากช่องทวารหนักด้วย ซึ่งอาการท้องผูกเรื้อรังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน หรือนานเป็นปีจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

ลักษณะอุจจาระของอาการท้องผูกเรื้อรัง

ผู้ที่ประสบปัญหาด้านการขับถ่ายสามารถสังเกตลักษณะอุจจาระของตนเองได้ตามการจำแนกของบริสตอล (Bristol Stool Chart) ดังนี้

แบบที่ 1 อุจจาระเป็นก้อนแข็งเล็ก ๆ มีรูปร่างเป็นเม็ด ๆ คล้ายถั่ว

แบบที่ 2 อุจจาระเป็นก้อนแข็ง มีรูปร่างคล้ายไส้กรอก

แบบที่ 3 อุจจาระมีรูปร่างคล้ายไส้กรอก แต่มีรอยแตกที่ผิว

แบบที่ 4 อุจจาระมีรูปร่างคล้ายไส้กรอกหรืองู แต่มีความนุ่มและลื่น

แบบที่ 5 อุจจาระเป็นก้อนนุ่ม มีขอบชัดเจน และขับถ่ายออกมาได้ง่าย

แบบที่ 6 อุจจาระเป็นก้อนฟู และ และมีขอบยุ่ย

แบบที่ 7 อุจจาระเป็นน้ำเหลว ไม่มีก้อนแข็งปน

ทั้งนี้ อาจจำแนกลักษณะของอุจจาระตามตัวอย่างด้านบนได้ว่า อุจจาระแบบที่ 1 หรือ 2 ถือเป็นสัญญาณที่แสดงอาการท้องผูก อุจจาระแบบที่ 3 และ 4 เป็นอุจจาระที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนอุจจาระแบบที่ 5 6 และ 7 เป็นสัญญาณของอาการท้องเสีย

นอกจากนี้ มีเกณฑ์วินิจฉัยของ Rome III Criteria ที่กำหนดลักษณะของอาการท้องผูกเรื้อรังไว้ ดังนี้

  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง
  • ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
  • ถ่ายอุจจาระไม่ออก เนื่องจากรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งมาอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ต้องใช้มือช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ

โดยเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยนั้น ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังจะต้องมีอาการข้างต้นอย่างน้อย 2 อาการ และมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป

วิธีรับมือกับปัญหาท้องผูกเรื้อรัง

อาการท้องผูกเรื้อรังอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ดังนั้น ผู้ที่ประสบปัญหานี้ควรเรียนรู้วิธีบรรเทาอาการอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหาร

การแก้ปัญหาท้องผูกโดยไม่ต้องรับประทานยานั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพิ่มมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ซีเรียล และขนมปังธัญพืช เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณเนื้ออุจจาระให้ขับถ่ายง่ายขึ้น โดยควรเพิ่มปริมาณการบริโภคอย่างช้า ๆ เนื่องจากหากไฟเบอร์ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันอาจทำให้ท้องอืดและมีแก๊สในกระเพาะอาหารได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ หากร่างกายขาดน้ำอาจส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อนแข็ง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บขณะถ่ายอุจจาระได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อระบบขับถ่ายด้วย
  • ไม่กลั้นอุจจาระ หากรู้สึกปวดควรรีบไปเข้าห้องน้ำทันที แต่ไม่ควรรีบเร่ง โดยควรใช้เวลาในการถ่ายอุจจาระอย่างเพียงพอ

การใช้ยาระบาย

ปัจจุบันมียาระบายหลายชนิดด้วยกันที่สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูกเรื้อรังได้ ซึ่งยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์รักษาแตกต่างกันไป โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเรื้อรัง มีดังนี้

  • ยาระบายกลุ่มออสโมซิส เป็นยาที่ช่วยเพิ่มความถี่ในการขับถ่าย มีฤทธิ์ช่วยดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้สะดวกขึ้น อย่างยาโพลีเอทิลีน ไกลคอลที่ช่วยเพิ่มน้ำในอุจจาระและช่วยปรับลักษณะอุจจาระให้นุ่มลงจนง่ายต่อการขับถ่าย หรือยาแลคตูโลสที่เป็นน้ำตาลสังเคราะห์และได้รับการแนะนำว่าอาจมีประสิทธิภาพช่วยให้ขับถ่ายบ่อยและง่ายขึ้น ซึ่งอยู่ในรูปแบบยาน้ำ และใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • ไฟเบอร์หรือเส้นใยที่จะช่วยเพิ่มปริมาตรอุจจาระให้ง่ายต่อการขับถ่าย โดยตัวยามีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด แบบผง และแบบเม็ดเคี้ยว มีตัวอย่างยา เช่น ยาไซเลียม ซึ่งออกฤทธิ์โดยการดูดซึมของเหลวในลำไส้ไปเพื่อช่วยเพิ่มมวลอุจจาระและทำให้อุจจาระนุ่มลง เป็นต้น

อาการท้องผูกเรื้อรังแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

หากบรรเทาอาการด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการท้องผูกเรื้อรังยังไม่ดีขึ้น หรือท้องผูกติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการท้องผูกที่เผชิญอยู่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือภาวะความเจ็บป่วยต่าง ๆ นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น ไม่เคยท้องผูกมาก่อนแต่เพิ่งมาเป็น มีอาการปวดท้องหรือปวดท้องเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก หรือมีปัญหาท้องผูกขณะอยู่ในวัยผู้สูงอายุ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที