ทำจมูก รวมขั้นตอนที่ควรรู้

ทำจมูก หรือการศัลยกรรมจมูก (Rhinoplasty) คือการผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของจมูก โดยอาจมีจุดประสงค์เพื่อปรับรูปร่างลักษณะของจมูกใหม่ หรือช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ ที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือความบกพร่องแต่กำเนิด นอกจากนี้ ในปัจจุบันการผ่าตัดทำจมูกยังเป็นการผ่าตัดเสริมความงามเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตนเองด้วยเช่นกัน

การผ่าตัดศัลยกรรมจมูกแบ่งออกเป็นหลายประเภท โดยส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างจมูก ได้แก่ ปรับสันจมูกให้ตรงหรือโด่งขึ้น กำจัดส่วนที่โก่งจนเกินไปที่บริเวณสันจมูก ปรับเปลี่ยนรูปร่างของปลายจมูก ขยายหรือลดขนาดของรูจมูก แก้ไขความผิดปกติของจมูกซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุ เสริมหรือลดขนาดของจมูก และเปิดทางเดินหายใจ

Beautiful,Asian,Woman,Touching,Nose,Smile,With,Clean,And,Fresh

ขั้นตอนการทำจมูก

การศัลยกรรมจมูกเป็นหนึ่งในการผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยการผ่าตัดจะเน้นการตกแต่งกระดูกอ่อนที่บริเวณจมูก หรือเสริมวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้สำหรับการศัลยกรรมเข้าไปที่บริเวณสันจมูก นอกจากนี้บางกรณีอาจมีการตกแต่งบริเวณปลายจมูกและปีกจมูกร่วมด้วย

สาเหตุของการศัลยกรรมจมูกอาจมาจากความไม่พึงพอใจในรูปร่างจมูกของตนเอง ซึ่งในกรณีนี้จะเข้าข่ายเป็นการผ่าตัดเสริมความงาม แต่นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกเพื่อแก้ไขจมูกที่ผิดรูปร่างหรือเสียหายจากอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและความบกพร่องที่มีมาแต่กำเนิด 

ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ใดสามารถเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกได้ ด้วยการคำนึงถึงหลักในการผ่าตัด สภาพจิตใจของผู้เข้ารับการผ่าตัด และปัจจัยสุขภาพหลายประการ โดยกลุ่มคนที่ไม่ควรทำศัลยกรรมจมูก ได้แก่

  • ผู้ที่มีสภาวะทางจิตไม่คงที่ เช่น โรคจิตเภท และโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Body Dysmorphic Disorder : BDD) ซึ่งผู้ป่วยมักจะเฝ้าสังเกตตัวเองบ่อยครั้ง และไม่พึงพอใจในตนเองแม้จะทำจมูกแล้วก็ตาม
  • มีบุคลิกภาพแบบ SIMON (Single, Immature, Male, Overly Expectant, Narcissistic) คือ โสด อายุน้อย คาดหวังสูงเกินไป และหลงตัวเอง
  • ผู้ที่ไม่ต้องการมีแผลเป็นภายนอก
  • ผู้ที่มีผนังจมูกบวมหนามากหลังจากการทำศัลยกรรมครั้งก่อน
  • ผู้ที่มีความคาดหวังในการศัลยกรรมที่เกินจริง
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดศัลยกรรมจมูกมาก่อนหน้านี้ 9–12 เดือน ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ และผู้ที่เคยมีประวัติในการทำจมูกบ่อย ๆ จนทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อที่บริเวณจมูกไม่แข็งแรง และมีแผลเป็นค่อนข้างรุนแรง
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้สูง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนศัลยกรรมเพื่อรับทราบความเสี่ยง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ขณะนอนหลับอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับและช่วยลดอัตราภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด
  • ผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างเช่น โคเคน ผ่านทางจมูก

ในการทำจมูกเพื่อเสริมความงาม ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่กระดูกบริเวณจมูกเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แต่อาจอนุโลมในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุ 18–20 ปีและมีผู้ปกครอง พ่อ หรือแม่เซ็นยินยอมให้ทำศัลยกรรม

วิธีการทำจมูก

การผ่าตัดศัลยกรรมจมูกมีเทคนิคในการผ่าตัดที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพและเป้าหมายของผู้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกอาจทำจากภายในจมูก หรือกรีดเป็นแผลเล็ก ๆ ภายนอกที่ฐานของจมูกบริเวณระหว่างรูจมูก และอาจทำการตกแต่งกระดูกอ่อนที่ใต้ผิวหนังก่อนทำการผ่าตัด การตกแต่งกระดูกจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ รูปร่างจมูกของผู้เข้ารับการผ่าตัด และปริมาณของวัสดุที่ต้องการเสริมเข้าไป

หากเป็นการเสริมขึ้นเพียงเล็กน้อย ศัลยแพทย์อาจนำกระดูกอ่อนจากด้านในของจมูก หรือนำกระดูกอ่อนจากใบหูมาเป็นวัสดุเสริม แต่หากต้องการเสริมมากขึ้น อาจต้องใช้กระดูกอ่อนที่ปลูกถ่ายกระดูกจากบริเวณซี่โครง หรือกระดูกอ่อนจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย หรือในบางกรณีก็อาจใช้วัสดุสังเคราะห์ที่ใช้สำหรับการศัลยกรรม เช่น ซิลิโคน เป็นต้น

การทำจมูกจำเป็นจะต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมกับยากล่อมประสาทหรือยาสลบ ซึ่งการเลือกใช้ยาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการผ่าตัดและความชำนาญของศัลยแพทย์ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าถึงประเภทของยาชาที่ใช้ เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่ายาชาประเภทใดเหมาะกับผู้เข้ารับการผ่าตัดมากที่สุด

  • ยาชาเฉพาะที่ร่วมกับยากล่อมประสาท ยาชาชนิดนี้มักจะใช้ในผู้เข้ารับการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก โดยแพทย์จะฉีดยาชาที่บริเวณเนื้อเยื่อตรงจมูก และให้ยากล่อมประสาทผ่านทางหลอดเลือด วิธีนี้จะทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดอยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น
  • ยาสลบ โดยใช้วิธีใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยสูดดมยา หรือฉีดยาสลบเข้าทางหลอดเลือดดำผ่านทางสายน้ำเกลือ ยาสลบจะส่งผลต่อร่างกายและทำให้หมดสติ วิธีนี้จำเป็นต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจในระหว่างการผ่าตัดด้วย

ทั้งนี้ หลังจากการผ่าตัด เมื่อผู้เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกตัวแล้วจะถูกนำไปยังห้องพักฟื้น ซึ่งเจ้าหน้าจะคอยเฝ้าดูระดับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกัน หรือหากมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ก็จำเป็นจะต้องค้างคืนเพื่อรอดูอาการอื่น ๆ ต่อไป

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

เมื่อตัดสินใจที่จะเข้าทำการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกแล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดและทีมศัลยแพทย์จะต้องหารือกันเรื่องแนวทางในการผ่าตัด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งปัจจัยที่ศัลยแพทย์นำมากำหนดแนวทางในการผ่าตัดมีดังนี้

ประวัติการรักษาทางการแพทย์ 

สิ่งสำคัญที่สุดที่แพทย์มักถามผู้เข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมเป็นอย่างแรกคือวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้แพทย์จะถามถึงประวัติการรักษาทางการแพทย์ เช่น เคยมีประวัติภาวะจมูกอุดตันหรือไม่ ผู้เข้ารับการผ่าตัดเคยผ่านการผ่าตัด หรือมีการใช้ยาใดในการรักษาโรคหรือไม่ ทั้งนี้หากผู้เข้ารับการผ่าตัดมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) แพทย์อาจไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดศัลยกรรมจมูก

การตรวจสุขภาพ

ก่อนศัลยแพทย์จะตัดสินใจทำการผ่าตัดให้ แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด ตรวจดูลักษณะผิวหนังด้านในและด้านนอกของจมูก เพื่อดูความหนาของผิวหนังและความแข็งแรงของกระดูกอ่อนที่ปลายจมูก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนในการรักษา และทราบถึงผลกระทบในด้านการหายใจหลังจากการทำศัลยกรรมได้ดียิ่งขึ้น

การถ่ายภาพ 

ในการวางแผนการผ่าตัดจะต้องมีการถ่ายภาพจมูกของผู้เข้ารับการผ่าตัดจากมุมต่าง ๆ จากนั้นศัลยแพทย์จะนำภาพเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองผลจากการศัลยกรรมให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดได้ทราบว่า หากทำการผ่าตัดแล้วจะได้ผลอย่างไร โดยศัลยแพทย์จะใช้ภาพถ่ายเพื่อเปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด รวมทั้งใช้อ้างอิงในขณะการผ่าตัดและในระยะยาวด้วย

ความคาดหวังของผู้เข้ารับการผ่าตัด

แพทย์และผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันถึงความคาดหวังที่จะได้รับจากการผ่าตัดศัลยกรรม โดยแพทย์จะแนะนำว่าการทำจมูกแบบใดที่สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ และผลที่จะได้เป็นอย่างไร

ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องมีความมั่นใจที่จะพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเอง และควรเปิดใจกับศัลยแพทย์ถึงความต้องการ ซึ่งบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ทำศัลยกรรมส่วนอื่นบนใบหน้าเพิ่มเติมเพื่อให้ใบหน้าดูสมดุลมากขึ้น

หากสามารถกำหนดวันเข้ารับการผ่าตัดได้แล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรนัดแนะให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมารับหลังจากผ่าตัดเสร็จในกรณีที่เป็นการผ่าตัดแบบที่สามารถกลับบ้านได้ทันที และควรมีคนอยู่ด้วยหลังจากผ่าตัดอย่างน้อย 1–2 คืนเพื่อดูแลผู้เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากหลังจากการผ่าตัด ฤทธิ์ของยาชาอาจทำให้เกิดอาการหลงลืมหรือมีปฏิกิริยาตอบโตช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรงดใช้ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้เลือดไหลออกมากกว่าที่ควรจะเป็นในระหว่างการผ่าตัด หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเป็นยาที่แนะนำโดยศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้เท่านั้น 

นอกจากนี้ ควรงดหรือเลิกสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะทำให้กระบวนการในการรักษาตัวของการผ่าตัดเป็นไปได้ช้าลง และอาจทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น

การดูแลหลังผ่าตัด

โดยปกติแล้วการผ่าตัดทำจมูกจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะมีการนอนพักเพื่อดูอาการ หากไม่มีอะไรที่ผิดปกติแพทย์จะให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดหยุดพักอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และต้องใช้เวลา 2–3 สัปดาห์กว่าจะสามารถกลับมาทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ 

ในช่วงแรก ๆ อาการบวมจะยังคงอยู่ และอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นไปอาการบวมและแดงจึงจะค่อย ๆ ลดลง และเผยให้เห็นรูปร่างของจมูกที่เปลี่ยนไปได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดศัลยกรรมจมูกนั้นมีความเสี่ยงและสามารถพบภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด ได้แก่

  • เลือดออกในปริมาณมาก การผ่าตัดทุกชนิดเป็นสาเหตุของการสูญเสียเลือด แต่หากการสูญเสียเลือดนั้นมากเกินควบคุมอาจส่งผลอันตรายต่อผู้เข้ารับการผ่าตัด โดยอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ และเข้าสู่ภาวะขาดเลือด
  • การติดเชื้อ แม้การดูแลรักษาหลังผ่าตัดที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่การติดเชื้อก็ยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อยในการผ่าตัดศัลยกรรม โดยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อภายใน และอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • เกิดแผลเป็น โดยปกติแล้วการผ่าตัดส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดแผลเป็นในภายหลัง แต่ถ้าหากเป็นการผ่าตัดศัลยกรรม แผลเป็นถือเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นหากเกิดแผลเป็นขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากความผิดพลาดจากการผ่าตัดหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาชาและยาสลบ เช่น

  • ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ
  • หายใจทางจมูกได้ลำบากเนื่องจากลักษณะของรูจมูกเปลี่ยนไป
  • เกิดอาการชาอย่างถาวรภายในหรือบริเวณรอบ ๆ จมูก
  • อาการเจ็บปวด บริเวณจมูกเปลี่ยนสี หรือมือาการบวมอย่างต่อเนื่อง
  • จมูกเบี้ยว
  • จมูกอุดตันจนทำให้หายใจทางจมูกไม่ได้ และต้องหายใจทางปากแทน
  • มีเลือดกำเดาออกเล็กน้อยหลังการผ่าตัดช่วงแรก ๆ
  • เกิดอาการแพ้ยาหรือยาสลบที่ใช้
  • การรับกลิ่นผิดเพี้ยน

สำหรับการดูแลรักษาตนเองหลังจากการผ่าตัดศัลยกรรมจมูก เพื่อให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็วผู้เข้ารับการผ่าตัดควรดูแลตัวเองดังนี้

  • นอนหนุนหมอนให้สูงขึ้น เวลาพักผ่อนควรเสริมหมอนที่ใช้รองคอให้สูงขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 2 วันเพื่อลดอาการบวม
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นจัด หรือทำให้บริเวณผ้าที่ปิดแผลเปียก เพราะอาจทำให้แผลหายช้า
  • หลีกเลี่ยงการแกะแผลใด ๆ ที่บริเวณจมูกจนกว่าแพทย์จะให้นำเฝือกออกได้
  • หลีกเลี่ยงการเกิดแรงดันที่จมูก เช่น การจาม ควรจามแบบเปิดปาก และห้ามสั่งน้ำมูก
  • หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน หากเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าปิดปากเพื่อป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างน้อย 4–6 สัปดาห์
  • รับประทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด ยาที่สามารถใช้ได้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง และควรหลีกเลี่ยงยาไอบูโพรเฟน

ไม่เพียงเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่เคี้ยวยาก ระมัดระวังการแสดงสีหน้า ควรยิ้มหรือหัวเราะอย่างพอดีเพื่อไม่ให้แผลได้รับการกระทบกระเทือน หากถอดเสื้อควรถอดอย่างระมัดระวังไม่ให้โดนจมูก แปรงฟัเบา ๆ เพื่อไม่ให้กระเทือนไปถึงแผลผ่าตัด และระมัดระวังการสวมแว่นตาทุกชนิด ที่สำคัญที่สุดคือควรหลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะการโดนแสงแดดอาจทำให้ผิวบริเวณจมูกเปลี่ยนสีและเป็นอันตรายได้

หลังจากการผ่าตัดศัลยกรรม ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติภายในเวลา 1 สัปดาห์ แต่ในระยะประมาณ 2–3 สัปดาห์แรกอาจมีอาการที่เป็นผลกระทบบริเวณรอบดวงตา อาทิ อาการชา อาการบวม หรือผิวหนังบริเวณรอบดวงตาเปลี่ยนสี แต่มีในกรณีที่น้อยมากที่อาการบวมอาจจะอยู่นานถึง 6 เดือน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวมให้ลดลง

หลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรไปพบแพทย์ให้ตรงตามนัดและควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติหลังทำจมูก เช่น ปวดบริเวณจมูกอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก เลือดกำเดาไหลไม่หยุด หรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีหนองไหลและมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา