ถุงน้ำในโพรงไขสันหลัง (Syringomyelia)

ความหมาย ถุงน้ำในโพรงไขสันหลัง (Syringomyelia)

Syringomyelia หรือภาวะผิดปกติที่ไขสันหลังของผู้ป่วยพบการเกิดซีสต์ (Cyst) หรือถุงน้ำ ซึ่งซีสต์อาจไปเบียดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการปวด อ่อนแรง ตึงกล้ามเนื้อบริเวณหลัง หัวไหล่ แขน และขา 

Syringomyelia เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติทางสมองตั้งแต่กำเนิด ไขสันหลังเกิดบาดแผลหรือความเสียหาย เนื้องอก หรืออาจไม่ทราบสาเหตุในบางกรณี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามสาเหตุเป็นหลักและอาจต้องนัดตรวจเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลการรักษา เนื่องจากภาวะนี้อาจมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้

ถุงน้ำในโพรงไขสันหลัง (Syringomyelia)

อาการของ Syringomyelia

ภาวะ Syringomyelia อาจก่อให้เกิดอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ขนาด ตำแหน่ง และสาเหตุของซีสต์ โดยอาการมักเกิดขึ้นบริเวณหลัง หัวไหล่ แขน และขา ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และอาการมักแสดงออกมาอย่างช้า ๆ

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาการอาจรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วหากความดันช่องในสมองและไขสันหลังเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากสาเหตุบางอย่าง อย่างการไอหรือการเบ่งอุจจาระ 

อาการของ Syringomyelia ที่อาจพบได้ เช่น 

  • ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น (Reflex)
  • กล้ามเนื้อไม่มีความรู้สึกต่ออาการปวดหรือความร้อนและเย็น โดยเฉพาะบริเวณมือ
  • กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมักเริ่มเกิดบริเวณมือและค่อย ๆ ลามไปยังแขนและหัวไหล่
  • รู้ตึกตึงบริเวณหลัง หัวไหล่ แขน คอ และขา
  • ปวดบริเวณคอ หัวไหล่ หลัง แขน และมือ
  • รู้สึกปวด ชา หรือรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่ม โดยอาจพบอาการบริเวณใบหน้าร่วมด้วย
  • กล้ามเนื้อกระตุก

นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีปัญหาด้านการทรงตัว สมรรถภาพทางเพศมีปัญหา การควบคุมระบบขับถ่ายมีปัญหา หรือในผู้ป่วยเด็กอาจพบภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

รวมถึงในบางกรณีที่ก้อนซีสต์ทำลายเส้นประสาทส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อดวงตาและใบหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น หนังตาตก ลืมตาได้น้อยลง ลูกตาดำมีขนาดเล็กลง หรือใบหน้าบางส่วนมีเหงื่อออกน้อยลง เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการในข้างต้นควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเกิดอุบัติเหตุหรือโรคบริเวณไขสันหลัง ให้หมั่นสังเกตอาการในข้างต้น เนื่องจากอาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นภายในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากที่ไขสันหลังเกิดความเสียหาย 

สาเหตุของ Syringomyelia

Syringomyelia เป็นภาวะที่มักเกิดจากการที่น้ำไขสันหลังจับตัวกันเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ ซึ่งจะค่อย ๆ ขยายขนาดจนไปกดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมา อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • โรค Chiari Malformation เป็นโรคที่ส่งผลให้เนื้อสมองของผู้ป่วยยื่นเข้ามาในบริเวณโพรงกระดูกสันหลังจนไปขวางหรืออุดตันการไหลเวียนของน้ำไขสันหลัง มักมีสาเหตุมาจากการที่สมองพัฒนาผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยจะพบอาการในช่วงอายุประมาณ 25–40 ปี
  • ความผิดปกติบริเวณไขสันหลัง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ การอักเสบ เนื้องอก หรือการติดเชื้อ เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการ Tethered Cord ที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณกระดูกสันหลังของผู้ป่วยเชื่อมติดกับไขสันหลัง หรือโรค Arachnoiditis ที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณที่หุ้มไขสันหลังของผู้ป่วยเกิดการอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัย Syringomyelia

ในการวินิจฉัย Syringomyelia แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้น

หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติบริเวณไขสันหลัง แพทย์จะส่งตรวจภาพถ่ายทางรังสี เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scans) เพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณไขสันหลังและเนื้อเยื่อใกล้เคียง 

นอกจากนี้ อาการของ Syringomyelia อาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น แพทย์จึงอาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography) เพื่อหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การรักษา Syringomyelia

แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษา Syringomyelia จากความรุนแรงของอาการและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน

หากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือมีอายุมาก แพทย์อาจเพียงติดตามอาการโดยการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและตรวจระบบประสาทของผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ เท่านั้น รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมบางอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้เกิดอาการต่าง ๆ 

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากจากอาการที่เกิดขึ้น หรืออาการต่าง ๆ แย่ลงอย่างรวดเร็ว แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น โดยจุดประสงค์การผ่าตัดจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เช่น

  • การผ่าตัดขยายพื้นที่ภายในกระโหลก 

หากอาการของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากสมองส่วนล่างยื่นเข้ามาในบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง แพทย์อาจผ่าตัดนำกระดูกบริเวณท้ายกระโหลกศีรษะและกระดูกสันหลังออกเล็กน้อย เพื่อเพิ่มพื้นที่ในกระโหลกศีรษะและลดแรงดันจากสมอง รวมถึงช่วยให้น้ำไขสันหลังไหลเวียนได้ดีขึ้น

  • การผ่าตัดเพื่อระบายของเหลว 

หากอาการของผู้ป่วยไม่ได้มีสาเหตุมาจากสมองส่วนล่างยื่นเข้ามาในบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง เนื้องอก หรือตรวจไม่พบสาเหตุ แพทย์อาจผ่าตัดใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายสายยางไว้ในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อช่วยระบายของเหลวจากซีสต์ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย 

  • การผ่าตัดกำจัดสิ่งอุดตันในไขสันหลัง 

หากพบสิ่งอุดตันภายในไขสันหลัง อย่างเนื้อเยื่อแผลเป็น เนื้องอก หรือกระดูกงอก แพทย์จะผ่าตัดเอาสิ่งที่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือขวางการไหลเวียนของน้ำไขสันหลังออก 

หลังการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงหรือบรรเทาอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาบางชนิดเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจไม่รักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ รวมถึงอาการต่าง ๆ หรือก้อนซีสต์ยังมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำภายหลังการผ่าตัด แพทย์จึงอาจต้องนัดตรวจผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการและผลการรักษาหลังการผ่าตัดเป็นระยะ ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของ Syringomyelia

Syringomyelia อาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการทำงานของระบบประสาท พิการ หรือก้อนซีสต์ที่โตขึ้นอาจทำให้เส้นประสาทในไขสันหลังเกิดความเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น กระดูกสันหลังคด ปวดบริเวณไขสันหลังเรื้อรัง กล้ามเนื้อบริเวณขาอ่อนแรงหรือตึงจนทำให้เดินลำบาก อัมพาต กลืนอาหารลำบาก ตากระตุก พูดลำบาก หรือออกเสียงไม่ชัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากก้อนซีสต์เกิดขึ้นบริเวณก้านสมอง เนื่องจากก้อนซีสต์ที่โตขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่สำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะการหายใจหรือการเต้นของหัวใจ ทำให้เกิดอาการบางอย่างที่รุนแรง เช่น หายใจมากหรือน้อยไป หรือหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ เป็นต้น

การป้องกัน Syringomyelia

การป้องกัน Syringomyelia อาจทำได้ยากเพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุบริเวณไขสันหลัง เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานที่เสี่ยงภัย ทำงานในที่สูง หรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการปะทะแรง ๆ อย่างฟุตบอลหรือบาสเกตบอล 

นอกจากนี้ หากสังเกตพบอาการผิดปกติในข้างต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุหรือมีโรคเกี่ยวกับไขสันหลัง ให้รีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม