ถามแพทย์

  • ภาวะอ้วนกับโรคอ้วนต่างกันอย่างไร

  •  12345
    สมาชิก
    โรคอ้วนกับภาวะอ้วนแตกต่างกันยังไงครับ?
    12345  Natthaphat
    แพทย์

    สวัสดีค่ะ

    โดยทั่วไปแล้ว เกณฑ์มาตรฐานสากลสำหรับใช้พิจารณาน้ำหนักส่วนสูงที่เหมาะสมจะใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มาเป็นตัวชี้วัดค่ะ คิดได้จากใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสองค่ะ

    โดยค่าที่ได้เมื่อนำมาเทียบกับเกณฑ์ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของประชากรเอเชีย ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จะได้ดังนี้ค่ะ

    < 18.5           นํ้าหนักน้อย

    18.5 -22.99 นํ้าหนักปกติ

    23 - 24.99   นํ้าหนักเกิน(at risk)

    25 - 29.99    อ้วนระดับ 1

    ≥ 30              อ้วนระดับ 2 

    จะเห็นได้ว่าภาวะอ้วน(obesity) จะใช้สำหรับผู้ที่มีBMI มากกว่า 25 ขึ้นไปในชาวเอเชียค่ะ

    ส่วนโรคอ้วนที่ก่อให้เกิดอันตราย มีโรคอื่นๆตามมา จะเรียกแบบเต็มๆว่า โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome)ค่ะ ซึ่งมีเกณฑ์วินิจฉัยดังนี้ค่ะ

    1.ความยาวเส้นรอบเอว ≥ 90 ซม. (หรือ ≥ 36 นิ้ว) ในชาย และ ≥ 80 ซม. (หรือ ≥ 32 นิ้ว ) ในหญิง

    2. ต้องพบปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ร่วมด้วย อย่างน้อย 2 ข้อ คือ

     2.1 ความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปหรือผู้ที่ได้รับยารักษาความดันโลหิตสูง

     2.2 ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้ยาลดไขมัน

     2.3 ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

     2.4 ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดหรือ HDL-cholesterolน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/เดซิลิตรในหญิง หรือผู้ที่เป็นไขมันสูงและได้รับยาลดไขมัน

    โรคอ้วนลงพุงก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น

    - เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง

    - เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ

    - เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

    - หัวใจวาย ไตวาย

    - เลือดจะแข็งตัวได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจ เพิ่มโอกาสเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้

    - หายใจไม่เต็มอิ่ม เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

    - โรคข้อเสื่อม ความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบ มีอาการปวดหลังหรือเข่า เนื่องจากน้ำหนักตัวมาก

    - มีผลกระทบทางด้านอารมณ์ ขาดความมั่นใจในตัวเอง

    ดังนั้นแล้วเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่อันตรายดังกล่าว ทางที่ดี เราควรหันมาป้องกันและจัดการกับโรคอ้วนลงพุงโดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองค่ะ

    หากสนใจเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การป้องกันโรคอ้วนลงพุงสามารถอ่่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ