ถามแพทย์

  • ปวดหลังช่วงล่างในขณะนอนหงาย เป็นมา 7-8 เดือน เป็นเพราะอะไร มีวิธีดูแลเบื้องต้นไหม

  •  Irawadi
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะคุณหมอ คือมีอาการปวดหลังช่วงล่างบริเวณเหนือก้นในขณะนอนหงายประมาณ3-4ชม.ขึ้นไปค่ะ จนถึงกับตื่นมากลางดึกตลอด แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วนั่งสักพัก(ครึ่งชม.)อาการก็จะหายไปค่ะ เป็นเรื้อรังมาประมาณ7-8เดือนแล้วค่ะ อยากทราบว่าอาการแบบนี้เป็นเพราะอะไรได้บ้าง และมีวิธีในดูแลเบื้องต้นมั้ยคะ ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้านะคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Irawadi,

                        อาการปวดหลังช่วงล่าง อาจเกิดจาก 

                       1. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เช่น จากการยกของหนัก ทำงานก้มๆ เงยๆ ตลอดเวลา ใส่รองเท้าส้นสูงมากไป การนั่งหรือยืนที่ผิดท่าเป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ การออกกำลังกายที่ผิดท่า หรือจากอุบัติเหตุต่างๆ อาการมักจะเป็นการปวดแบบระบม ปวดแบบตุบ ๆ มีจุดที่กดเจ็บชัดเจน

                       2. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการปวดจะอยู่บริเวณหลังส่วนล่างหรือบริเวณสะโพก และมักร้าวไปที่ขาหรือน่อง จะปวดแบบเสียวๆ และอาจมีอาการชาร่วมด้วย ไม่มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อนั่งงอตัวไปข้างหน้า ไอ จาม หรือเบ่ง  และดีขึ้นเมื่อนอนหงาย สาเหตุมักเกิดจากการยกของหนักเป็นประจำ หรือการก้มที่ผิดท่าผิดจังหวะ

                      3. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome) เกิดจากกล้ามเนื้อ piriformis ซึ่งอยู่ที่สะโพกเกิดการอักเสบหริอเกิดพังผืดแล้วไปกดทับเส้นประสาท sciatic ที่มาจากไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา  รู้โดยจะสึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งเป็นเวลานานหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวลำตัวส่วนล่าง เช่น วิ่ง หรือขึ้นบันได เป็นต้น นอกจากนี้จะมีอาการชาตามเส้นประสาทได้ หากเป็นมาก อาจมีอาการอ่อนแรงของขาได้ 

                       4. ช่องไขสันหลังตีบแคบลง มักเกิดจากการเสื่อมตามอายุ จึงมักพบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง จากอุบัติเหตุบริเวณหลัง จากโรคกระดูกพรุน เป็นต้น อาการปวดจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่มักปวดมากเวลาแอ่นตัว หรือนอนหงาย และดีขึ้นเมื่อก้มตัว หรือนั่ง

                       5. กระดูกสันหลังยุบตัว มับพบในผู้สูงอายุจากโรกระดูกพรุน หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุ มีมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ติดเชื้อในกระดูก วัณโรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น มักทำให้เกิดอาการปวดแบบตื้อๆ ตึงๆ และมักทำให้เกิดอาการปวดมากและปวดตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในท่าใด

                       6. เนื้องอกและมะเร็งของเนื้อเยื่อ กระดูก และเส้นประสาท แต่มักทำให้เกิดอาการปวดมากและปวดตลอดเวลา ไม่วาอยู่ในท่าใด

                        ในเบื้องต้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือท่าทางที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อบริเวณหลัง เอวและสะโพก เช่น การยกของหนัก การเข็นของหนัก การก้มๆ เงยๆ การใส่รองเท้าส้นสูง และใช้การประคบบริเวณที่ปวดด้วยน้ำอุ่น ทายาบรรเทาอาการปวดเมื่อย หากปวดมากอาจทานยาแก้ปวดลดลดอักเสบ เช่น  ไดโคลฟีแนค (diclofenac), ไพรอกซิแคม (piroxicam) เป็นต้น ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาค่ะ