ถามแพทย์

  • อายุ 30 ปี อัตราการเต้นของหัวใจเร็ว 90-120 ครั้ง/นาที มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจไหมค่ะ?

  •  Ae Wilavun
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะ เอ๋อายุ30มีอาการหัวใจเต้นเร็วที่92-120หายใจไม่ออก เพลีย เวียนหัว ส่วนตัวเป็นโรคโลหิตจางและความดันต่ำประมาน90-98 ไปตรวจไทรอยด์แล้วไม่เป็นค่ะ ยิ่งเวลามีไข้หัวใจยิ่งเต้น110-120ค่ะ อาการแบบนี้มีโอกาศเสี่ยงเป็นโรคหัวใจไหมค่ะ ควรดูแลตัวเองอย่างไรค่ะ ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Ae Wilavun,

                     สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือเกิน 100 ครั้งต่อนาทีนั้น ในกรณีของคุณ Ae Wilavun อาจเกิดจากภาวะโลหิตจางได้ ซึ่งนอกจากทำให้หัวใจเต้นเร็วแล้ว ยังทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและ เวียนหัวที่เป็นอยู่ได้

                    ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ได้แก่

                    1. มีไข้ จากโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย มีแผลติดเชื้อ หรือจากโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้ตนเองชนิดต่างๆ 

                    2. ร่างกายขาดน้ำ เช่น มีท้องเสีย อาเจียน เหงื่อออกเยอะร่วมกับดื่มน้ำน้อย เสียเลือดประจำเดือนมาก เป็นต้น

                    3. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไอหรือยาลดน้ำมูกบางชนิด ยาขยายหลอดลม ยาปฏิชีวนะบางชนิด

                    4. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน

                    5. มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

                    6. โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

                     7. ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดความกลัว หรือตื่นตระหนกตกใจ 

                     แนะนำให้คุณ Ae Wilavun ไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับความรุนแรงและหาสาเหตุของโลหิตจาง เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางค่ะ ซึ่งอาจทำให้อาการหัวใจเต้นเร็วและอาการต่างๆ ที่เป็นอยู่ดีขึ้น 

                     สำหรับสาเหตุของโลหิตจาง ได้แก่

                   1. การเสียเลือดเรื้อรัง เช่น ประจำเดือนมามาก มีเลือดประจำเดือนกะปริดกะปรอย เป็นริดสีดวงทวารและมีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นบ่อยๆ 

                   2.ขาดสารอาหารจากการทานไม่เพียงพอ เช่น ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก วิตามินบี 12 โปรตีน

                   3. เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ติดเชื้อ HIV วัณโรค โรคไตเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ตนเองชนิดต่างๆ โรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น

                    4. โรคที่เม็ดเลือดแดงอายุสั้นกว่าปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย พาหะธาลัสซีเมีย โรคพร่องเอนไซม์ G-6-PD โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell anemia) การทำลายเม็ดเลือดแดงที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อ ภาวะม้ามโต การแพ้ยาบางชนิด เป็นต้น

                    5. โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก หรือการติดเชื้อในไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกมีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว เมื่อไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ จึงทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดลดน้อยลง