ต่อมน้ำลายอักเสบ

ความหมาย ต่อมน้ำลายอักเสบ

ต่อมน้ำลายอักเสบ เป็นอาการอักเสบที่เกิดกับต่อมน้ำลายข้างใดข้างหนึ่ง จนทำให้มีอาการ เช่น เจ็บในปาก หน้าบวม คอบวม คางบวม เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส การอุดกั้นในต่อมน้ำลาย และสาเหตุอื่น ๆ เช่น นิ่วในต่อมน้ำลาย โรคคางทูม และภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

1593 Resized ต่อมน้ำลายอักเสบ

อาการของต่อมน้ำลายอักเสบ

ต่อมน้ำลายมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ซึ่งอยู่ที่ด้านหน้าใบหู ใต้กราม และโคนลิ้น อาการของต่อมน้ำลายอักเสบบางอาการจะคล้ายกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น

  • มีรสชาติผิดปกติในปาก
  • ไม่สามารถอ้าปากได้ตามปกติ เจ็บหรือรู้สึกติดขัดเมื่อต้องอ้าปากหรือรับประทานอาหาร
  • เจ็บในปาก ปากแห้ง
  • เจ็บที่ใบหน้า บวมหรือแดงบริเวณกรามด้านหน้าใบหู ใต้กราม หรือใต้ปาก
  • หน้าบวม คอบวม
  • มีอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หรือหนาวสั่น เป็นต้น
  • หากต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการบวมใต้คางแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดในระหว่างที่รับประทานอาหาร และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย

หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติที่บริเวณดังกล่าว หรือพบอาการใด ๆ ของภาวะต่อมน้ำลายอักเสบ โดยเฉพาะมีรสชาติผิดปกติในปาก อ้าปากไม่ได้ตามปกติ เจ็บที่ใบหน้า บวมหรือแดงบริเวณด้านหน้าใบหู มีไข้สูง หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

สาเหตุของต่อมน้ำลายอักเสบ

ต่อมน้ำลายอักเสบอาจเป็นผลจากการผลิตน้ำลายที่ลดลง เพราะน้ำลายเป็นตัวช่วยย่อยเศษอาหาร ช่วยทำให้ช่องปากสะอาด ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหาร และยังช่วยควบคุมสมดุลของเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดีและไม่ดีในช่องปากด้วย เมื่อมีน้ำลายน้อยลงและมีเศษอาหารตกค้างก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการอักเสบของต่อมน้ำลายตามมาได้

โดยสาเหตุที่อาจทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ มีดังนี้

การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus เป็นชนิดที่พบว่าทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบมากที่สุด ส่วนเชื้อ Streptococcus Viridans เชื้อ Streptococcus Pyogenes เชื้อ Haemophilus Influenzae หรือเชื้อ Escherichia Coli ก็สามารถทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบได้เช่นกัน

การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคคางทูม การติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซาชนิดที่ 1 กับ 2 และโรคเริม เป็นต้น

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • โรคเอดส์
  • โรคเบาหวาน
  • โรคบูลิเมีย
  • โรคพิษสุรา
  • นิ่วในต่อมน้ำลาย
  • ท่อน้ำลายอุดตันจากเสมหะ
  • เนื้องอก
  • กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome) เป็นการเจ็บป่วยทางระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการปากแห้ง
  • ซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) เป็นการเจ็บป่วยทางระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
  • ภาวะปากแห้ง
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะขาดสารอาหาร
  • การฉายรังสีรักษามะเร็งบริเวณศีรษะและคอ
  • การดูแลสุขอนามัยในช่องปากไม่ดีพอ
  • การสูบบุหรี่

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบได้สูงขึ้น เช่น มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันคางทูม เป็นต้น

การวินิจฉัยต่อมน้ำลายอักเสบ

แพทย์จะตรวจร่างกายหรือวินิจฉัยอาการคร่าว ๆ ในเบื้องต้น หากมีอาการปวด ต่อมน้ำลายขยายใหญ่ขึ้น หรือพบหนองไหลในปาก ก็อาจแสดงถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้น แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound)
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT Scan)
  • การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยภาวะติดเชื้อ
  • การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อของต่อมน้ำลายและท่อน้ำลายไปตรวจ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจากเนื้อเยื่อของเหลวนั้นในห้องปฏิบัติการ

การรักษาต่อมน้ำลายอักเสบ

การรักษาต่อมน้ำลายอักเสบจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ สาเหตุ และอาการที่เกิดขึ้น โดยสามารถแบ่งการรักษาได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

  • ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้ว โดยอาจผสมน้ำมะนาวเข้าไปด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นน้ำลายและช่วยทำความสะอาดต่อมน้ำลาย
  • ประคบร้อนบริเวณต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบ
  • นวดต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบ
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น
  • อมมะนาวหรือลูกอมรสเปรี้ยว เพื่อกระตุ้นน้ำลายและลดอาการบวม
  • ฝึกการรักษาสุขอนามัยในช่องปาก ทั้งการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ซึ่งอาจช่วยฟื้นฟูและป้องกันการติดเชื้อแพร่กระจายได้
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น

การรักษาโดยแพทย์

  • การใช้ยา แพทย์จะรักษาต่อมน้ำลายอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการมีตุ่มหนองหรือมีไข้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยบางรายแพทย์อาจต้องใช้เข็มเจาะเพื่อระบายหนองออกก่อน
  • การผ่าตัด เฉพาะกรณีที่ป่วยอย่างเรื้อรังหรือมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน โดยการผ่าตัดอาจเป็นการนำเอาบางส่วนหรือทั้งหมดของต่อมน้ำลายออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของต่อมน้ำลายอักเสบ

โดยส่วนใหญ่ต่อมน้ำลายอักเสบจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

  • อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน หรือกลับมาเป็นอีกหลังจากหายดีแล้ว
  • กรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดตุ่มหนองและก่อตัวจนเป็นฝีในต่อมน้ำลาย
  • การกระจายของเชื้อแบคทีเรียจากต่อมน้ำหลายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาจทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ และการอักเสบรุนแรงที่เนื้อเยื่อในโพรงใต้คาง จนทำให้มีภาวะทางเดินหายใจตีบแคบและไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ
  • ต่อมน้ำลายอักเสบที่เกิดจากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงอาจทำให้ต่อมน้ำลายขยายใหญ่ขึ้น ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายอาจลุกลามหรือเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนอาจส่งผลให้ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

การป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบ

เนื่องจากสาเหตุที่พบบ่อยของต่อมน้ำลายอักเสบมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การป้องกันภาวะนี้จึงเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น

  • ดื่มน้ำให้มาก
  • หมั่นรักษาสุุขอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

อย่างไรก็ตาม ต่อมน้ำลายอักเสบบางชนิดก็ไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยพบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที