ตำแหน่งสิวบนหน้า มีสาเหตุมาจากอะไร ?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมสิวบนใบหน้าจึงมักขึ้นที่เดิมซ้ำ ๆ ? เทคนิคอายุรเวทในสมัยโบราณเชื่อว่าผิวหน้าแต่ละบริเวณเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะภายในแต่ละส่วน ดังนั้น สิวที่ขึ้นบนใบหน้าตามจุดต่าง ๆ จึงอาจแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้

โดยในสมัยที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าเท่าปัจจุบัน 1 ในวิธีวินิจฉัยโรคที่แพทย์ในสมัยนั้นใช้ คือ การสังเกตตำแหน่งของสิวบนใบหน้า เพราะเชื่อว่าตำแหน่งของสิวอาจบอกได้ว่าอวัยวะภายในร่างกายส่วนใดที่ผิดปกติ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ มากมายอย่างการเอกซเรย์ที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากกว่า แต่ความเชื่อนี้ก็ยังถูกนำไปปรับใช้เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดสิวในเบื้องต้น

มาดูกันว่า ตำแหน่งสิวตามการวินิจฉัยทางการแพทย์ในอดีตบอกอะไรได้บ้าง หรืออาจมีสาเหตุใดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการเกิดสิวแต่ละจุด ?!

1933 สิวบนหน้า rs

สิวบริเวณไรผม

สิวที่ขึ้นตามไรผม อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือน้ำมันที่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือการระคายเคืองของรูขุมขน นอกจากนั้น การใช้ที่คาดผมหรือหมวกที่ไม่สะอาด อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหน้าและก่อให้เกิดสิวตามมาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสิวตามไรผมควรทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยลดและป้องกันสิวในบริเวณดังกล่าว

  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มีส่วนผสมที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน โดยเฉพาะโกโก้บัตเตอร์ สารให้สี และทาร์
  • ใช้มือหรือผ้าบังหน้าขณะฉีดสเปรย์แต่งผม หรือล้างหน้าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม
  • เลือกใช้ยาสระผมสูตรทำความสะอาดล้ำลึก เพื่อล้างสารตกค้างที่เส้นผมออกให้หมดจด

สิวที่แก้ม

หน้าจอโทรศัพท์มือถือและปลอกหมอนที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอย่างเชื้ออีโคไลอาจก่อให้เกิดสิวบริเวณแก้ม เพราะเป็นผิวส่วนที่สัมผัสกับสิ่งของนั้นโดยตรง ดังนั้น หากสังเกตเห็นสิวขึ้นบนแก้มเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับแก้มเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น อาจคาดได้ว่าเป็นเพราะหน้าจอมือถือหรือปลอกหมอนที่สกปรก หรือการใช้มือที่ไม่สะอาดไปจับผิวหน้า ซึ่งคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยลดและป้องกันสิวขึ้นบริเวณแก้มได้

  • ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณหน้าจอโทรศัพท์ทุกครั้งก่อนใช้งาน
  • เลือกใส่หูฟังแทนการคุยโทรศัพท์โดยใช้หูและแก้มสัมผัสหน้าจอโดยตรง
  • ไม่นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปใช้ในห้องน้ำ
  • ซักทำความสะอาดและเปลี่ยนปลอกหมอนทุกสัปดาห์

สิวที่คางและขากรรไกร

1 ในสาเหตุที่ก่อให้เกิดสิวบริเวณคางและขากรรไกร คือ ภาวะฮอร์โมนแปรปรวน โดยการทำงานผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจนเพิ่มสูงขึ้น และไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันที่ใบหน้าผลิตไขมันออกมามากกว่าปกติ จนไปอุดตันรูขุมขนแล้วเกิดสิวตามมา ซึ่งภาวะฮอร์โมนแปรปรวนนี้มักเกิดขึ้นในช่วง 7-10 วันก่อนประจำเดือนมา หรือเกิดเมื่อเริ่มกินยาคุมกำเนิด

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าสุขภาพของระบบย่อยอาหาร รวมถึงอาหารที่กินเข้าไปก็ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย ผู้ที่มีปัญหาสิวบริเวณคางและขากรรไกรจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างน้ำตาลหรือขนมปัง ผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมฮอร์โมน นมและผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงพวกอาหารแปรรูปด้วย

สิวบริเวณทีโซน

บางคนเชื่อว่าสิวที่ขึ้นบริเวณหน้าผาก จมูก และคาง อาจเกิดจากความเครียด อันเป็นต้นเหตุทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากเกินไปจนอุดตันรูขุมขน แม้ความเชื่อนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีงานวิจัยพบว่าความเครียดไม่ได้ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าความเครียดอาจเป็นตัวการทำให้อาการของสิวรุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ให้ความเห็นว่า การนอนหลับไม่เต็มอิ่มก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดสิวเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดและป้องกันสิวที่เกิดขึ้นบริเวณทีโซนจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
  • ฝึกนั่งสมาธิก่อนนอน
  • ฟังเพลงและออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด
  • ไม่นำมือที่ไม่สะอาดไปสัมผัสใบหน้า เพราะอาจทำให้ไขมันและสิ่งสกปรกบนใบหน้าเข้าไปอุดตันรูขุมขน
  • ผู้ที่มีผิวมันอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยควบคุมความมัน

อย่างไรก็ตาม เทคนิคการทำนายโรคจากตำแหน่งของสิวเป็นเพียงความเชื่อของคนในสมัยก่อน แม้จะถูกนำมาใช้เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดสิวในเบื้องต้น แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ให้แน่ชัดต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่เป็นสิวบ่อย ๆ หรือสิวไม่ยุบลงภายใน 2-3 สัปดาห์ รวมถึงมีสิวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ อย่างปวดท้อง ท้องไส้แปรปรวน หรืออ่อนเพลียอย่างมาก ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ตรวจและแนะนำวิธีการรักษาสิวที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะคนท้องและผู้ที่กำลังให้นมลูก ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ มาใช้เอง เพราะอาจมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อแม่และทารก