ตาตุ่มด้าน รักษาดูแลง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง

ตาตุ่มด้าน เป็นปัญหาผิวหนังบริเวณตาตุ่มหยาบกร้านและหนา ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงแต่หากปล่อยให้ผิวหนังบริเวณตาตุ่มหนามากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงเกิดแผลได้ แนวทางการรักษาเพื่อให้ผิวหนังบริเวณตาตุ่มที่หยาบกร้านและแข็งกระด้างกลับมาเรียบเนียนชุ่มชื้นอีกครั้งนั้นมีเคล็ดลับง่าย ๆ ทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน   

ตาตุ่มด้าน

ตาตุ่มด้าน เกิดจากอะไร ?

ส่วนใหญ่ตาตุ่มด้านเกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่คับเกินไป หรือแม้แต่การใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีแล้ววิ่ง เดิน หรือยืนเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้ตาตุ่มด้านได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเกิดการเสียดสีของรองเท้าและผิวหนังบริเวณตาตุ่ม นอกจากนี้ การนั่งบนพื้นบ่อย ๆ โดยไม่มีเบาะรองนั่ง เช่น นั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิ ทำให้เกิดแรงกดทับจนตาตุ่มด้านได้เช่นกัน

ตาตุ่มด้าน รักษาดูแลอย่างไร ?

ตาตุ่มด้านรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น ทาครีมลงบนผิวหนังบริเวณตาตุ่มที่หยาบด้านทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและบำรุงผิวให้เนียนนุ่มขึ้น หรืออาจใช้ครีมที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก แอมโมเนียมแลคเตท หรือยูเรีย เพื่อช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออกง่ายขึ้น และกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวหนังใหม่ ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังบริเวณตาตุ่มเนียนนุ่มขึ้นกว่าเดิม
  • แช่เท้าในน้ำอุ่น แช่เท้าให้น้ำอุ่นท่วมถึงบริเวณตาตุ่มเป็นเวลา 20 นาที จากนั้นใช้ผ้าขนหนูซับเท้าให้แห้ง แล้วทาบำรุงผิวบริเวณตาตุ่มด้วยครีมทาผิว น้ำมันมะกอก หรือเนยโกโก้ ซึ่งเป็นไขมันจากเมล็ดโกโก้ ช่วยให้ผิวที่แห้งกร้านบริเวณตาตุ่มเนียนนุ่มขึ้นได้
  • ขัดผิวด้วยหินพัมมิส แช่เท้าในน้ำอุ่นนาน 5-10 นาที จากนั้นนำหินพัมมิสซึ่งเป็นหินภูเขาไฟที่มีรูพรุนและผิวขรุขระจุ่มลงในน้ำอุ่น แล้วใช้หินขัดถูบริเวณตาตุ่มวนเบา ๆ เพื่อให้เซลล์ผิวหนังเก่าหลุดลอกออก ทั้งนี้ ไม่ควรใช้หินขัดตาตุ่มแรงหรือนานเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดออกและเกิดการติดเชื้อได้
  • ขัดผิวด้วยข้าวโอ๊ตหรือดีเกลือขณะอาบน้ำ เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวที่หยาบกร้านเนียนนุ่มขึ้น และช่วยลดความหมองคล้ำบริเวณตาตุ่มได้ นอกจากนี้ อาจผสมข้าวโอ๊ตกับน้ำอุ่นแล้วทาลงบนตาตุ่ม เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว

ข้อควรระวังเมื่อมีตาตุ่มด้าน

  • ห้ามปล่อยให้ผิวหนังบริเวณตาตุ่มด้านและหนาจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้
  • ห้ามตัดเล็มผิวหนังที่ด้านและแข็งบริเวณตาตุ่มด้วยตนเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงเกิดแผลติดเชื้อ
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีลอกผิวหนังบริเวณตาตุ่ม เพราะอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้
  • หากผิวหนังที่ตาตุ่มหนามาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษา โดยแพทย์อาจตัดผิวหนังที่แห้งเสียออกด้วยมีดผ่าตัด เพื่อกำจัดตาตุ่มด้านและลดแรงกดทับของเนื้อเยื่อด้านล่าง

ตาตุ่มด้าน ป้องกันอย่างไร ?

  • ไม่ใส่รองเท้าที่คับเกินไป เลือกรองเท้าที่สวมใส่สะดวกสบายและพอดีกับขนาดเท้าของตนเอง เลือกรองเท้าที่มีช่องว่างระหว่างนิ้วเท้ากับรองเท้าด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อลดการเสียดสีขณะเดิน วิ่ง หรือยืนเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ควรลองสวมใส่และเลือกซื้อรองเท้าในตอนกลางวัน เนื่องจากเป็นเวลาที่เท้าจะขยายออกมากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเพราะจะเพิ่มแรงกดทับแก่เท้า และทำให้ผิวหนังแข็งหรือด้านได้
  • ดูแลสุขภาพเท้า ซับเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังล้างเท้าหรือเมื่อเท้าเปียก และควรบำรุงผิวเท้าให้ชุ่มชื้นอยู่เป็นประจำด้วยครีมบำรุงผิว ซึ่งครีมเหล่านี้จะช่วยทำให้ผิวเรียบเนียนและนุ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งบนพื้นโดยไม่มีเบาะรองนั่ง เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับ และการเสียดสีระหว่างพื้นกับตาตุ่มจนทำให้ตาตุ่มด้าน  
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ หากรู้สึกเจ็บปวดไม่สบายเท้าขณะเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางรักษา เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่เท้าหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้