ช่องคลอดมีกลิ่น ควรทำอย่างไร

ช่องคลอดมีกลิ่นอาจเป็นเรื่องที่สาว ๆ หลายคนกังวลใจ แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ช่องคลอดมีกลิ่นเล็กน้อยนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง แต่หากมีกลิ่นฉุนเหม็นคาวมาก มีตกขาวผิดไปจากปกติ และมีอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยที่ไม่ควรละเลย

กลิ่นไม่พึงประสงค์จากช่องคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สุขอนามัย การอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ในบางกรณีอาจดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจสอบหาสาเหตุและรับคำแนะนำในการรักษาอย่างเหมาะสม

ช่องคลอดมีกลิ่น

สาเหตุที่ทำให้ช่องคลอดมีกลิ่น

ช่องคลอดมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

สุขอนามัยที่ไม่ดี

มีสิ่งสกปรกตกค้างบริเวณช่องคลอด แล้วไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เช่น ไม่รักษาความสะอาด ไม่อาบน้ำทำความสะอาดอวัยวะเพศ ทำให้หมักหมมสิ่งสกปรกจนเกิดการอักเสบ หรือลืมเปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นเวลานาน ๆ เพิ่มการสะสมของเชื้อโรคเกิดการอักเสบได้เช่นกัน

โดยการมีสุขอนามัยที่ไม่ดีอาจเกิดจากการละเลยไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ เป็นลักษณะนิสัยส่วนบุคคล เป็นผลจากภาวะทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้า ความจำเสื่อม มีอาการทางจิต หรืออาจเป็นเพราะไม่มีความสามารถในการดูแลสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศได้ เช่น ผู้พิการไร้ความสามารถ เป็นต้น

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis: BV)

โดยทั่วไปภายในช่องคลอดของผู้หญิงจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยสร้างสารบางอย่างที่ลดการเติบโตของแบคทีเรียไม่ดีที่อาศัยอยู่ แต่การอักเสบจากแบคทีเรียวาจิโนสิสเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของปริมาณแบคทีเรียในช่องคลอด หรือมีการเติบโตของแบคทีเรียภายในช่องคลอดมากเกินไป

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ช่องคลอดมีกลิ่นอาจเกิดจากการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่น

  • หูดที่อวัยวะเพศจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV)
  • การป่วยโรคทริโคโนสิส (Trichinosis) จากปรสิตทริคิเนลล่า สไปราลิส (Trichinella Spiralis)
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
  • การอักเสบที่เกิดจากเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Thrush)
  • สาเหตุอื่น ๆ: มักพบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ความผิดปกติของลำไส้ที่ทวารหนักทะลุเข้าสู่ช่องคลอด (Rectovaginal Fistula) มะเร็งปากมดลู มะเร็งในช่องคลอด

อย่างไรก็ตาม หากกำลังเผชิญกับอาการช่องคลอดที่ส่งกลิ่นรุนแรงหรือเหม็นคาวมากผิดปกติ หรือมีอาการร่วมอื่น เช่น ปวดแสบ คัน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด มีตกขาวมากผิดปกติ หรือมีตกขาวที่ผิดปกติ ทั้งสีและกลิ่น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

ช่องคลอดมีกลิ่นควรทำอย่างไร 

หากประสบปัญหาช่องคลอดมีกลิ่น การดูแลรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยหากมีอาการไม่รุนแรงอาจรักษาด้วยการดูแลตนเองได้ แต่หากอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ 

การดูแลตนเอง

โดยทั่วไป ภายในช่องคลอดจะผลิตสารหล่อลื่นเพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกภายในตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งจะออกมาในรูปของการตกขาว อย่างไรก็ตาม ควรรักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาช่องคลอดมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น

  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน ๆ เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิดอาจส่งผลต่อค่า pH (ความเป็นกรดด่าง) ภายในช่องคลอด ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ ควรระมัดระวังในการใช้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ทำความสะอาดบริเวณภายนอกช่องคลอดเท่านั้น ไม่ควรใช้น้ำหรือสเปรย์น้ำหอมใด ๆ ฉีดพ่นเข้าไปภายในช่องคลอด และไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ภายในช่องคลอด
  • หากเป็นช่วงรอบเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
  • ใช้กางเกงชั้นในที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ อย่างกางเกงชั้นในผ้าฝ้าย 100 % เพื่อช่วยการระบายความอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงรัดรูปอย่างกางเกงยีนส์ เพราะอาจทำให้ช่องคลอดอับชื้นและมีกลิ่นได้
  • การรักษาด้วยยาจากร้านขายยา

หากช่องคลอดมีกลิ่น หรือพบร่วมกับอาการตกขาวที่ผิดปกติ ในเบื้องต้นสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ด้วยตนเอง คือ

  • ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ในรูปแบบยารับประทาน เป็นยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทาน 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน
  • ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ยาในรูปแบบครีมให้ใส่ภายในช่องคลอดก่อนนอนติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน หรือยาแบบรับประทาน เป็นยาเม็ดขนาด 300 มิลลิกรัม รับประทาน 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 7 วัน

การใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือในขณะที่กำลังตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ไม่ควรใช้วิธีการสวนล้างช่องคลอดในการรักษา เพราะอาจทำให้แบคทีเรียภายในช่องคลอดเสียสมดุลแล้วอาจเกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้ และหากใช้ยารักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ทุเลาลง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

การรักษาเมื่อไปพบแพทย์

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบความผิดปกหรืออาการเจ็บป่วย แพทย์จะให้รักษาตามสาเหตุของความผิดปกติ เช่น

  • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน โดยใช้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) หรืออัลเบนนาโซล (Albendazole) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของทั้งปรสิตและแบคทีเรีย
  • การป่วยโรคทริโคโนสิสที่เกิดจากปรสิต แพทย์จะจ่ายยาต้านปรสิต (Anti-parasitic) หรือยาฆ่าหนอนพยาธิ (Anti-helminthic) หากตรวจพบพยาธิได้เร็ว จะใช้ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือมีเบนดาโซล (Mebendazole) เพื่อฆ่าหนอนและตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ภายในลำไส้
  • การอักเสบที่เกิดจากเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Thrush) เป็นยาในรูปแบบครีมใส่ภายในช่องคลอดหรือยาเม็ดรับประทาน โดยแพทย์จะใช้ยาอีโคนาโซล (Econazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) เฟนติโคนาโซล (Fenticonazole) หรือไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
  • มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งในช่องคลอด ต้องตรวจคัดกรองหาเซลล์มะเร็ง แล้วรักษาตามอาการป่วยและระยะของมะเร็ง ซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก รังสีบำบัด และการทำเคมีบำบัด
  • ความผิดปกติของลำไส้ที่ทะลุเข้าสู่ช่องคลอด (Rectovaginal Fistula) แพทย์อาจให้ยารักษาเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด อย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะหากรอบ ๆ ลำไส้มีการติดเชื้อ หรือยาอินฟลิกซิแม็บ (Infliximab) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ เพราะผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณรอบลำไส้บริเวณทวารหนักต้องปราศจากการติดเชื้อหรือการอักเสบก่อนทำการผ่าตัดเคลื่อนย้ายลำไส้ออกจากช่องคลอด

การป้องกันไม่ให้ช่องคลอดมีกลิ่น

แนวทางการป้องกันไม่ให้ช่องคลอดมีกลิ่น เช่น 

  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรคที่เป็นที่มาของกลิ่นไม่พึงประสงค์ ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยป้องกันและลดปัญหาที่จะตามมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านั้นได้ อย่างการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุ 21-64 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายบั่นทอนสุขภาพ และเพื่อที่จะสามารถรักษาแก้ไขได้ทันการณ์หากมีเนื้อร้ายก่อตัวขึ้น
  • รักษาสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ รวมถึงออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีโดยรวมแล้ว ยังช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้ตามปกติ รวมทั้งบริเวณช่องคลอดด้วย