ช็อกโกแลต เครื่องดื่มและขนมยอดนิยม กับผลต่อสุขภาพ

ช็อกโกแลต คือ อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ทำมาจากโกโก้ ซึ่งเป็นผลของพืชชนิดหนึ่งที่มีรสขม การผลิตช็อกโกแลตทำได้โดยนำผลโกโก้มาบดด้วยเครื่องปั่นจนกลายเป็นผง จากนั้นจึงนำผงโกโก้ที่ได้มาผสมกับวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อแต่งเติมกลิ่นและรส โดยเฉพาะรสหวาน เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน โดยการผลิตช็อกโกแลตออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรือแม้แต่การแต่งกลิ่นน้ำหอมและเครื่องสำอางต่าง ๆ

ช็อกโกแลต

โดยทั่วไป ช็อกโกแลตถูกปรุงแต่งรสชาติและส่วนผสมแตกต่างกันตามชนิดของมัน เช่น

  • ดาร์ค ช็อกโกแลต (dark chocolate) ประกอบด้วยน้ำตาล เนยโกโก้หรือไขมันที่ได้จากเมล็ดโกโก้ น้ำที่คั้นจากเมล็ดโกโก้บดละเอียด และอาจเพิ่มวานิลลาเข้าไปด้วย
  • ไวท์ ช็อกโกแลต (white chocolate) ประกอบด้วยน้ำตาล เนยโกโก้หรือไขมันที่ได้จากเมล็ดโกโก้ นมหรือผงนม และวานิลลา โดยไม่มีการใส่น้ำที่คั้นจากเมล็ดโกโก้บดละเอียด
  • มิลค์ ช็อกโกแลต (milk chocolate) เป็นการเพิ่มนมหรือผงนมเข้าไปในดาร์คช็อกโกแลต

เนื่องจากโกโก้ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของช็อกโกแลตนั้น มีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารฟีนิลเอทิลลามีน (phenylethylamine) และสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จึงเชื่อว่าการบริโภคช็อกโกแลตอาจทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้ในหลายด้าน

แต่ถึงอย่างนั้น ในช็อกโกแลตก็ยังคงมีสารคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่อาจออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทหรือร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีการค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์และผลลัพธ์จากการบริโภคช็อกโกแลตในแนวทางที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์ความเชื่อและสมมติฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภค ดังต่อไปนี้

คุณประโยชน์ที่อาจเป็นไปได้

ลดภาวะความดันโลหิตสูง เป็นอาการที่ความดันภายในหลอดเลือดแดงสูงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

เนื่องจากช็อกโกแลตมีส่วนประกอบเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากมายจากโกโก้ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ จึงมีการนำตัวอย่างช็อกโกแลตบางชนิดมาทำการศึกษาทดลอง จากหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า หลังกลุ่มทดลองบริโภคดาร์คช็อกโกแลตแล้ว ระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) ลดลงไปได้ถึง 2.8-4.7 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่ระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) ลดลงไปถึง 1.9-2.8 มิลลิเมตรปรอท ทั้งจากการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ส่วนงานวิจัยหนึ่งที่เปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดระดับความดันโลหิตของช็อกโกแลต พบว่า ผู้ทดลองที่บริโภคดาร์คช็อกโกแลตมีระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉลี่ยถึง 5 จุด และมีระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) ลดลงโดยเฉลี่ย 2 จุด ในขณะที่ไม่พบประสิทธิผลในด้านนี้ในกลุ่มผู้ทดลองที่บริโภคไวท์ช็อกโกแลตแต่อย่างใด

ดังนั้น จากหลากหลายกระบวนการทดลอง จึงอาจสรุปได้ว่า ช็อกโกแลตช่วยในเรื่องการลดระดับความดันโลหิตลงได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาฟื้นฟูอาการในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรศึกษาปริมาณและวิธีการบริโภคช็อกโกแลตในแต่ละรูปแบบอย่างเหมาะสมกับสุขภาพของตน เพราะช็อกโกแลตแต่ละชนิดก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพในทางอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ประสิทธิผลที่ไม่ชัดเจนและมีหลักฐานไม่เพียงพอ

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมโทรม จนเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ขึ้นได้

มีความเชื่อเกี่ยวกับช็อกโกแลตว่าอาจมีผลต่อการรักษาบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากในช็อกโกแลตมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายแก่เซลล์และเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ดังนั้น สารชนิดนี้ที่พบในช็อกโกแลตอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาล กระบวนการอักเสบของเซลล์ รวมถึงบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าทดลองด้วยการให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานบริโภคช็อกโกแลต แล้วตรวจวัดประเมินผลลัพธ์ที่ได้

จากการทดลองต่าง ๆ ที่ศึกษาประสิทธิผลของสารโพลีฟีนอลในช็อกโกแลตต่อการช่วยรักษาบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีงานทดลองหนึ่งพบว่า ช็อกโกแลตที่มีสารโพลีฟีนอลสูงอาจช่วยป้องกันการภาวะเซลล์บุผิวหลอดเลือดทำงานผิดปกติจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

อีกงานวิจัยที่ทำการทดลองประสิทธิผลของโพลีฟีนอลจากช็อกโกแลตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน ผลปรากฏว่า สารดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ด้วยการเพิ่มไขมันดี (HDL) แต่ไม่มีประสิทธิผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัว กระบวนการอักเสบ การดื้อสารอินซูลิน หรือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แต่อย่างใด

แม้มีผลลัพธ์ทางการทดลองที่พิสูจน์ว่าสารโพลีฟีนอลในช็อกโกแลตอาจช่วยบรรเทาบางอาการในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ แต่ก็มีหลักฐานอื่น ๆ ที่บ่งชี้ว่าช็อกโกแลตไม่ได้มีผลทางการรักษาอาการด้านอื่น ๆ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การค้นคว้าวิจัยในด้านนี้จึงควรดำเนินต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในอนาคต

ลดระดับไขมันในเลือด

เมื่อร่างกายมีการสะสมไขมันมากผิดปกติ หรือมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญออกไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดภาวะอ้วน หรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการป่วยและผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ทำกิจกรรมต่าง ๆ ยากลำบากขึ้น สูญเสียความมั่นใจ นอนกรน ปวดข้อ ปวดหลัง ไขมันในเลือดสูง หอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไปจนถึงมะเร็งลำไส้ และโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้

มีความเชื่อที่ว่าโกโก้ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของช็อกโกแลตอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้ อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกับเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น รำข้าว จึงมีการทดลองให้ผู้ทดลองซึ่งเป็นชายหญิงสุขภาพดีจำนวน 25 ราย รับประทานซีเรียลช็อกโกแลตที่มีส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้เป็นอาหารเช้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า อาหารดังกล่าวมีประสิทธิผลช่วยในการขับถ่ายคล้ายเส้นใยธัญพืชอื่น ๆ และยังมีผลต่อการลดระดับไขมันในเลือดทั้งไขมันเลว (LDL) และไขมันดี (HDL)

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก และทำการทดลองในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิผลของช็อกโกแลตในด้านการลดระดับไขมันในร่างกาย เพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

กลุ่มอาการเมื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome: CFS) เป็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความเมื่อยล้า หรือเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก โดยอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือหายไปแม้ได้รับการพักผ่อนมากพอแล้ว ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ โดยสาเหตุของกลุ่มอาการเมื่อยล้าเรื้อรังไม่อาจปรากฏอย่างชัดเจนเสมอไป อาจเกิดจากการป่วยติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ความเครียดหรืออาการทางจิต หรืออาจมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

ดังนั้น จึงมีนักวิจัยทำการทดลองด้วยสมมติฐานที่ว่า สารเคมีในช็อกโกแลตอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองอย่างสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งจะช่วยปรับเกี่ยวกับสภาพอารมณ์และส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอที่อาจช่วยบรรเทากลุ่มอาการเมื่อยล้าเรื้อรังได้ โดยการทดลองดังกล่าวดำเนินขึ้นโดยให้กลุ่มผู้ทดลองจำนวนหนึ่งที่มีภาวะอาการเมื่อยล้าเรื้อรังบริโภคดาร์คช็อกโกแลตทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดกระบวนการทดลอง พบว่าผู้ร่วมทดลองรู้สึกมีอาการเมื่อยล้าลดน้อยลงหลังรับประทานช็อกโกแลต และพบว่าในกลุ่มผู้ทดลองไม่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดเล็กในประเทศอังกฤษ และทำการทดลองในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิผลของช็อกโกแลต เพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในด้านผลลัพธ์ของการบริโภคช็อกโกแลต ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในระบบต่าง ๆ เพิ่มเติมต่อไป

ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคทางดวงตาที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา หรือเส้นประสาทตาที่เชื่อมระหว่างตากับสมองถูกทำลาย ปัจจัยหลักเกิดจากความดันในลูกตาสูง อันเนื่องมาจากการระบายน้ำออกของลูกตามีการอุดตันและเสื่อมสภาพ ทำให้ระบายน้ำออกจากลูกตาได้ไม่ดีพอ ความดันภายในลูกตาจึงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนทำลายประสาทตาในที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ในช็อกโกแลต ว่าอาจมีผลทางการรักษาอาการเจ็บป่วยทางดวงตาและเส้นประสาทภายในจอตาได้ เนื่องจากสารฟลาโวนอยด์เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ร่างกาย อาจมีคุณสมบัติในการต้านฮิสตามีนที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ ต้านจุลชีพต่าง ๆ ที่อาจก่ออันตรายต่อร่างกาย ตลอดจนอาจช่วยกระตุ้นสภาวะอารมณ์ได้อีกด้วย ดังนั้น จึงมีการทดลองในผู้ป่วยโรคต้อหินจำนวน 30 ราย ด้วยการให้ผู้ป่วยบริโภคดาร์คช็อกโกแลตและไวท์ช็อกโกแลต หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ได้ทำการตรวจวัดผลทั้งด้านระดับความดันโลหิต ความดันลูกตา และระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย ปรากฏว่าไม่มีค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างก่อนและหลังการบริโภคช็อกโกแลตแต่อย่างใด

จึงอาจกล่าวได้ว่า ด้วยหลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลทางการรักษาของช็อกโกแลตต่อผู้ป่วยโรคต้อหินได้ แต่การทดลองนี้เป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก ที่ทำการทดลองและวัดผลในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ รวมทั้งอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบต่อการฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยโรคต้อหิน ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าวิจัยถึงประสิทธิภาพของสารต่าง ๆ ในช็อกโกแลต ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพด้านดวงตาและเส้นประสาทดวงตาต่อไปในอนาคต

ตับแข็ง

ตับเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการทำงานในร่างกาย เช่น กรองสารอาหารที่สำคัญกลับเข้าสู่กระแสเลือดและกรองของเสียออกนอกร่างกาย ผลิตโปรตีนที่มีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือด ขนส่งออกซิเจน หรือเป็นส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อการทำงานของตับลดลงจะทำให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมา โดยตับแข็งเป็นหนึ่งในโรคตับที่เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจากหลายสาเหตุ จนเกิดแผลเป็นและพังผืดขึ้น ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ และอาจหยุดการทำงานลงจนนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน ซึ่งเสี่ยงเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

การทำงานผิดปกติของหลอดเลือดภายในตับที่ทำให้เกิดตับแข็ง มีส่วนมาจากการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชันที่เพิ่มความดันหลอดเลือดในตับ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ในช็อกโกแลตอาจช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวได้ จึงมีการทดลองให้ผู้ป่วยโรคตับแข็ง 22 ราย รับอาหารเหลวที่มีส่วนประกอบของดาร์คช็อกโกแลตและไวท์ช็อกโกแลต จากการทดลองปรากฏว่า การบริโภคดาร์คช็อกโกแลตช่วยขยายหลอดเลือดดำในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ซึ่งช่วยในการไหลเวียนของเลือด และช่วยลดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ โดยมีค่าที่วัดได้ก่อนและหลังการทดลองแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดังนั้น การทดลองดังกล่าวจึงเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่มีผลลัพธ์และหลักฐานข้อพิสูจน์ที่ยังไม่ชัดเจน จึงควรมีการค้นคว้าทดลองประสิทธิผลของช็อกโกแลตต่อการรักษาฟื้นฟูอาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคตับแข็งเพิ่มเติมต่อไป

กระบวนการทางจิต

จากความเชื่อที่ว่าสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ในช็อกโกแลตอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานทางระบบประสาทและหลอดเลือดหัวใจ จึงมีสมมติฐานว่าช็อกโกแลตอาจมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดและสภาพจิตใจได้ด้วย จึงมีงานทดลองหนึ่งที่ให้ผู้เข้ารับการทดลองจำนวน 101 รายบริโภคดาร์คช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์จากโกโก้เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดที่ชี้ว่าการบริโภคช็อกโกแลตจะมีประสิทธิผลต่อสุขภาพทางประสาทจิตวิทยา หรือสุขภาพของหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีงานวิจัยบางส่วนที่สนับสนุนว่าช็อกโกแลตไม่ส่งผลอย่างแน่ชัดต่อกระบวนการและสภาวะทางจิต ในขณะที่งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งกลับชี้ว่า ส่วนผสมในช็อกโกแลตอาจช่วยในกระบวนการทางจิตในบางด้าน ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ถึงประสิทธิผลและคุณประโยชน์ของช็อกโกแลตทั้งในทางสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

การปรับปรุงคุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิต คือ ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและอย่างมีความสุข ทั้งในคนปกติที่มีสุขภาพดี และในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวก็สามารถดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนในขณะที่เจ็บป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ประสิทธิผลของช็อกโกแลตต่อการรักษาป้องกันบางอาการเจ็บป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง ดังนั้น จึงมีการศึกษาเชิงติดตามผลในระยะยาวเกี่ยวกับการบริโภคช็อกโกแลตในผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 4,599 ราย แต่จากการติดตามผลในระยะเวลา 3.5 ปี ในผู้ที่บริโภคช็อกโกแลตเป็นประจำทั้งปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่า 10 กรัม/วัน กลับพบว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดบ่งชี้ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคช็อกโกแลตกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

แม้จะมีผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนมาก แต่การทดลองดังกล่าวเป็นการติดตามผลในระยาว และอาจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์การทดลองได้ ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปประสิทธิผลของช็อกโกแลตในระยะยาวต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้ จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป

ปริมาณที่ปลอดภัยในการบริโภคช็อกโกแลต

แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่สนับสนุนประสิทธิผลของช็อกโกแลตในบางด้าน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้น ช็อกโกแลตแต่ละชนิดถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่แตกต่างและหลากหลาย ปริมาณส่วนประกอบที่สำคัญในช็อกโกแลตจึงแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของช็อกโกแลตในแต่ละผลิตภัณฑ์ เช่น การคัดเลือกเมล็ดโกโก้ กระบวนการผลิตผงโกโก้และช็อกโกแลต ขั้นตอนและวิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต เป็นต้น

ดังนั้น ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโภชนาการเกี่ยวกับช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก่อนการบริโภค และควรรับประทานช็อกโกแลตในปริมาณที่พอดีในแต่ละวัน ไม่บริโภคมากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อสุขภาพจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมาได้

สำหรับคนทั่วไป การบริโภคช็อกโกแลตในปริมาณที่พอดีจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่เนื่องจากช็อกโกแลตมีสารประกอบมากมายรวมทั้งสารคาเฟอีน ในบางครั้ง การบริโภคช็อกโกแลตจึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
  • ปัสสาวะเพิ่มขึ้น
  • นอนไม่หลับ
  • ใจสั่น ใจเต้นแรง
  • มีผื่น หรืออาการแพ้ที่ผิวหนัง
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องไส้ปั่นป่วน หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูก
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงอาการปวดหัวไมเกรน

ผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร หากบริโภคในปริมาณที่พอดี จะไม่ส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตรควรระมัดระวังด้านปริมาณการบริโภคมากเป็นพิเศษ เพราะคาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยในเด็กแรกเกิด หรือภาวะแท้ง โดยผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแต่ละชนิดจะมีคาเฟอีนประมาณ 2-35 มิลลิกรัม ตัวอย่างเช่น ช็อกโกแลตร้อนหนึ่งแก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำปริมาณการบริโภคคาเฟอีนสูงสุดในขณะตั้งครรภ์ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน

ส่วนผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรระมัดระวังในการบริโภคช็อกโกแลตเช่นกัน โดยไม่ควรบริโภคช็อกโกแลตเกิน 16 ออนซ์หรือประมาณ 450 มิลลิกรัม/วัน เพราะเชื่อว่าคาเฟอีนทั้งหมดที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดของผู้เป็นแม่ครึ่งหนึ่ง และอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมไปยังทารกจนทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อเด็กได้ เช่น ส่งผลกระทบต่อระบบลำไส้ทำให้เด็กขับถ่ายบ่อย

ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังในการบริโภคช็อกโกแลตเป็นพิเศษ เช่น

  • ภาวะความดันโลหิตสูง แม้จะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าสารบางชนิดในช็อกโกแลตช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้ แต่สารคาเฟอีนในช็อกโกแลตก็อาจเพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการบริโภค ส่วนปริมาณช็อกโกแลตที่แนะนำให้บริโภค/วัน เพื่อช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง คือ ควรบริโภคดาร์คช็อกโกแลต หรือมิลค์ช็อกโกแลตปริมาณ 46-105 กรัม/วัน ซึ่งจะมีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล (Polyphenols) อยู่ประมาณ 213-500 มิลลิกรัมในนั้น
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด สารประกอบในช็อกโกแลตอาจรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในระหว่างและหลังการผ่าตัด ดังนั้น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจึงควรหยุดรับประทานช็อกโกแลตอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
  • โรคหัวใจ คาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นแรงขึ้น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ จึงควรระมัดระวังการบริโภคอาหารใด ๆ ที่มีคาเฟอีน รวมถึงช็อกโกแลตด้วย
  • โรคเบาหวาน ช็อกโกแลตอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ และรบกวนการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • โรคกระดูกพรุน คาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมและการขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจึงควรระมัดระวังในการบริโภคช็อกโกแลต
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ สารประกอบในช็อกโกแลตอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด และอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะมีเลือดไหลและการเกิดจ้ำเลือดได้
  • ภาวะวิตกกังวล สำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวล สารคาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้
  • กรดไหลย้อน สารในช็อกโกแลตอาจรบกวนการทำงานของหลอดอาหารและระบบทางเดินอาหาร จนทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลงได้
  • กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน และท้องร่วง หากบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป อาจทำให้ผู้ที่มีกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวนรวมถึงอาการท้องร่วงทรุดหนักลงได้
  • ต้อหิน สารคาเฟอีนในช็อกโกแลตอาจเพิ่มแรงดันลูกตาได้ ผู้ที่มีอาการต้อหินจึงควรระมัดระวังในการบริโภคช็อกโกแลต
  • ปวดหัวไมเกรน ช็อกโกแลตอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะปวดหัวไมเกรนในผู้ป่วยที่ไวต่ออาการป่วย