ฉลากโภชนาการ อ่านสักนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

ฉลากโภชนาการที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ จะระบุชนิดและปริมาณสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ดังนั้น การอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะผู้บริโภคสามารถนำข้อมูลบนฉลากมาพิจารณา เพื่อเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะกับสุขภาพของตนเอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

1767ฉลากโภชนาการ

ฉลากโภชนาการ คือ อะไร ?

ฉลากโภชนาการ คือ ฉลากแสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะระบุชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ๆ ลงในกรอบสี่เหลี่ยมหรือกรอบข้อมูลโภชนาการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

  • ฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบ เป็นฉลากแสดงชนิดและปริมาณสารอาหารสำคัญที่คนทั่วไปควรรู้ 15 รายการ ได้แก่ พลังงานทั้งหมด พลังงานจากไขมัน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นชุดข้อมูลแนวตั้ง แต่หากบรรจุภัณฑ์นั้นมีความสูงจำกัดก็สามารถแสดงฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบในแนวนอนตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้ได้เช่นกัน
  • ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้กรณีที่มีสารอาหารในอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ตั้งแต่ 8 รายการขึ้นไปจากที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ 15 รายการ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดงฉลากเต็มรูปแบบ

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นว่า ฉลากโภชนาการอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยากและไม่สะดุดตาให้น่าอ่าน ทำให้คนอาจละเลยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหาร และไม่คำนึงถึงสารอาหารหรือพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารแต่ละชนิด จึงบังคับให้อาหาร 5 กลุ่มต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guidline Daily Amounts: GDA) หรือฉลากหวานมันเค็ม เพื่อแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ โดยต้องติดอยู่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการสังเกตเห็น ซึ่งกลุ่มอาหารเหล่านั้น คือ ช็อกโกแลต ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารมื้อหลักแช่เย็นแช่แข็ง

อาหารประเภทใดบ้างที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ?

อาหารและเครื่องดื่มที่เข้าข่ายใช้คุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย หรืออาหารที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ จำเป็นต้องแสดงฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลเสมอ

  • อาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศแล้วว่าต้องแสดงฉลากโภชนาการ เพราะเป็นอาหารที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณประโยชน์ทางโภชนาการ
  • อาหารที่มุ่งจำหน่ายให้ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น วัยเรียน ผู้สูงอายุ ผู้หญิง เป็นต้น
  • อาหารที่มีการใช้คุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย แต่ห้ามแสดงสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรคได้
  • อาหารที่มีการแสดงข้อมูลปริมาณสารอาหาร ชนิดของสารอาหาร หรือหน้าที่ของสารอาหารนั้น เช่น มีไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ มีแคลเซียมสูง เป็นต้น

การอ่านฉลากโภชนาการ

คนทั่วไปอาจคิดว่าฉลากโภชนาการนั้นเข้าใจยาก แต่แท้จริงแล้วการอ่านฉลากโภชนาการสามารถทำได้ง่าย ๆ หากเข้าใจความหมายของคำต่อไปนี้

  • หนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณอาหารที่ผู้ผลิตแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานต่อ 1 ครั้ง โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคนไทยว่าหากรับประทานอาหารในปริมาณเท่านี้จะได้รับสารอาหารตามที่กำหนดไว้บนฉลาก ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือนอย่างกระป๋องหรือแก้ว และปริมาณที่เป็นมาตรฐานสากลอย่างกรัมหรือมิลลิลิตร ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักจึงไม่ควรรับประทานอาหารเกินกว่าปริมาณดังกล่าว
  • จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ คือ จำนวนครั้งในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ๆ จนหมด เมื่อรับประทานครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภค เช่น หากชาผงสำเร็จรูปบรรจุขวดมีปริมาณ 85 กรัม แล้วหนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือ 0.7 กรัม จำนวนครั้งที่รับประทานได้จะเป็น 121 ครั้ง เป็นต้น
  • คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นหนึ่งหน่วยบริโภค โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นร้อยละของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ ปริมาณสารอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภคที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน ซึ่งคำนวณจากพลังงานที่คนไทยโดยเฉลี่ยควรได้รับต่อวันหรือ 2,000 กิโลแคลอรี่นั่นเอง เช่น หากซีอิ๊วขาวให้ไอโอดีน 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เมื่อผู้บริโภครับประทานซีอิ๊วขาวในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคจะได้รับไอโอดีน 15 เปอร์เซ็นต์ และจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนจากอาหารชนิดอื่นอีก 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารอาหารจำพวกโปรตีนและน้ำตาลจะไม่แสดงปริมาณในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ เพราะร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันของน้ำตาลเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณที่แนะนำต่อวันของคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้ว ส่วนโปรตีนนั้นมีหลายชนิดและมีคุณภาพแตกต่างกัน การแสดงปริมาณเป็นเปอร์เซ็นต์อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ส่วนวิตามินและเกลือแร่ ส่วนใหญ่จะแสดงปริมาณในรูปแบบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะร่างกายของคนเราต้องการวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณน้อย การแสดงปริมาณจริงอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้

ประโยชน์ของฉลากโภชนาการ

การรับประทานอาหารโดยไม่คำนึงถึงพลังงานและสารอาหารที่ได้รับ อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคกินมากผิดปกติ โรคขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือโรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งฉลากโภชนาการตามอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ดังนี้

  • ช่วยให้เลือกซื้อและเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมต่อปัจจัยทางสุขภาพของตนเอง
  • ช่วยเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า
  • เมื่อผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารโดยพิจารณาจากคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก อาจช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารโดยเน้นคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลักด้วยเช่นกัน