งูกัด

ความหมาย งูกัด

งูกัด (Snake Bite) จัดเป็นภาวะสุขภาพที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลและรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการถูกงูที่มีหรือไม่มีพิษกัดนั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้หรือติดเชื้อ ผู้ที่ถูกงูมีพิษกัดจะเกิดอาการปวดและบวมที่แผล ตัวสั่น คลื่นไส้ และขยับร่างกายไม่ได้ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามลำดับ

งูกัด

แผลงูกัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะของงู ได้แก่ งูมีพิษกัด และงูไม่มีพิษกัด

  • งูมีพิษกัด งูชนิดนี้จะปล่อยพิษให้ซึมเข้าไปในผิวหนัง เยื่อเมือก หรือดวงตาของผู้ที่ถูกกัด ทั้งนี้ งูมีพิษบางตัวอาจกัดโดยไม่ปล่อยพิษออกมา (Dry Bite) ก็ได้ งูมีพิษที่พบได้ทั่วไปในไทยนั้นมีหลายชนิด เช่น งูจงอาง งูเห่า งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูสมิงคลา งูกะปะ งูทะเล หรืองูเขียวหางไหม้
  • งูไม่มีพิษกัด งูชนิดนี้จะปล่อยพิษให้ซึมเข้าไปภายในร่างกายของผู้ที่ถูกกัดไม่ได้ โดยแผลจากงูไม่มีพิษจะต่างจากแผลงูมีพิษที่ไม่ปล่อยพิษ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ถูกงูไม่มีพิษกัดควรเข้ารับการรักษาทันทีเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกงูมีพิษกัด งูไม่มีพิษที่พบได้ทั่วไปในไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น งูเขียวชนิดต่าง ๆ งูสิง งูแสงอาทิตย์ งูดิน งูเหลือม หรืองูหลาม

หากพบผู้ที่ถูกงูกัด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อชะลอพิษงูกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำความสะอาดแผล ไม่ขยับอวัยวะที่ถูกงูกัด และคนใกล้ชิดอาจช่วยผู้ประสบเหตุให้ไม่ตื่นตกใจมากนัก ที่สำคัญ ห้ามกรีด ตัด ดูด จี้ไฟ หรือพอกยาตรงแผลงูกัด ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้ และไม่ควรขันชะเนาะบริเวณที่ถูกงูกัด เนื่องจากไม่ใช่วิธีชะลอพิษงูตามที่เข้าใจกัน อีกทั้งจะทำให้เนื้อตายได้มากขึ้น จากนั้นอาจถ่ายรูปหรือนำซากงูที่ตายแล้วมาด้วยและรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ต่อไป โดยผู้ป่วยจะได้รับเซรุ่มแก้พิษทันทีในกรณีที่ทราบชนิดงู

อาการถูกงูกัด

การจำแนกลักษณะบาดแผลและอาการระหว่างถูกงูมีพิษหรือไม่มีพิษกัดนั้นสำคัญมาก เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ถูกกัดหรือผู้ที่เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลและดูแลอาการเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องและทันเวลาก่อนนำส่งโรงพยาบาลต่อไป ผู้ที่ถูกงูมีพิษกัดจะมีอาการแตกต่างกันไปตามบริเวณที่ได้รับพิษและปริมาณพิษที่อยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย อาการถูกงูมีพิษกัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่ส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่

  • เซลล์ผิวที่ถูกงูกัด (Cytotoxin) พิษงูทำลายเซลล์เนื้อเยื่อที่ถูกงูกัด ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวมแดง หรือเนื้อตาย
  • เลือดในร่างกาย (Hemototoxin) พิษงูส่งผลต่อเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวผิดปกติ ผู้ป่วยจึงเลือดไหลไม่หยุดและเสียเลือดมาก
  • เส้นประสาท (Neurotoxin) พิษงูทำลายเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายลำบากและกล้ามเนื้ออ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต โดยผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในกรณีที่เกิดอัมพาตกับกล้ามเนื้อควบคุมการหายใจ
  • กล้ามเนื้อ (Myotoxin) พิษงูออกฤทธิ์ทำลายกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่แล้ว มักเป็นกล้ามเนื้อลายหรือกล้ามเนื้อหัวใจ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อหลายส่วน โดยจะมีลักษณะบาดแผลและอาการที่สังเกตได้ เช่น แผลที่ถูกกัดมีรอยเขี้ยว 2 เขี้ยว เกิดรอยแดงบวมรอบบริเวณที่ถูกกัด รู้สึกปวดแผลรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียน หายใจลำบาก ตาเบลอ มีน้ำลายและเหงื่อออกมากขึ้น รู้สึกชาหรือเป็นเหน็บทั่วใบหน้าและตามแขนขา ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการรุนแรงเมื่อได้รับพิษงูเข้าไปในร่างกาย โดยเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกงูกัดจะบวมมากขึ้น มีตุ่มน้ำ หรือเนื้อเยื่อตาย หนังตาตก กลืน หายใจ และขยับร่างกายไม่ได้ ช็อกและหมดสติ ไตล้มเหลวโดยมีปัสสาวะออกมาน้อยหรือไม่มีเลย เสียเลือดมากจากการอาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเลือดออกจากปาก จมูก หรือบริเวณที่ถูกกัด หรืออาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

สาเหตุงูกัด

งูจะกัดคนเพื่อป้องกันตัวเอง หรือเมื่อถูกรบกวนและทำให้ตกใจ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักไปเหยียบหรือแหย่งูให้ตื่นกลัว ส่งผลให้งูกัดได้ หากถูกงูมีพิษกัด ร่างกายจะได้รับพิษงูที่ปล่อยเข้ามา ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาทันที เนื่องจากพิษงูอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

การวินิจฉัยงูกัด

แพทย์จะวินิจฉัยอาการงูกัดจากเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยถูกงูกัด เพื่อวิเคราะห์ว่างูที่กัดนั้นเป็นงูมีพิษหรือไม่มีพิษและเป็นงูชนิดใด เนื่องจากแพทย์จะให้เซรุ่มแก้พิษแตกต่างกันไปตามชนิดงูที่กัดผู้ป่วย โดยแพทย์พิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้

  • แผลงูกัด งูแต่ละชนิดจะปรากฏแผลงูกัดแตกต่างกัน โดยงูมีพิษมักปรากฏรอยเขี้ยว ส่วนงูไม่มีพิษมักปรากฏรอยฟัน
  • อาการ ผู้ที่ถูกงูบางชนิดกัดจะปรากฏอาการเฉพาะที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย กล่าวคือ พิษงูบางชนิดอาจส่งผลต่อเส้นประสาทหรือระบบเลือดในร่างกายเท่านั้น
  • ชนิดงู หากผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าช่วยเหลือถ่ายภาพงูหรือมีซากงูที่ตายแล้วมาด้วย จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยชนิดงู เพื่อหาเซรุ่มต้านพิษงูชนิดนั้น ๆ และนำมารักษาผู้ป่วยได้เร็วขึ้น
  • พื้นที่เกิดเหตุ สภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยถูกงูกัดจะช่วยให้แพทย์อนุมานได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งชุกชุมของงูชนิดใด

การรักษางูกัด

การรักษางูกัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ การช่วยเหลือเบื้องต้น และการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การช่วยเหลือเบื้องต้น หากพบผู้ที่ถูกงูกัด ควรรีบเข้าช่วยเหลือทันที โดยผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรปฏิบัติ ดังนี้
    • จดจำสีและรูปร่างของงู เพื่อให้ข้อมูลแก่แพทย์ประกอบการวินิจฉัยและรับการรักษา
    • ควรปลอบผู้ที่ถูกงูกัดให้ใจเย็นและไม่ตื่นตัว เพื่อชะลอพิษงูกระจายไปตามร่างกาย
    • รีบแจ้งโรงพยาบาลให้มารับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
    • ควรปฐมพยาบาล ผู้ป่วยในกรณีที่นำส่งโรงพยาบาลไม่ได้ทันที ดังนี้
      • เคลื่อนย้ายอวัยวะที่ถูกงูกัดให้อยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ เพื่อไม่ให้พิษแล่นเข้าสู่หัวใจมากขึ้น
      • ปลดเสื้อผ้าที่รัดแน่นให้หลวม หรือถอดแหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ ที่รัดกุมร่างกาย เนื่องจากอาจทำให้บริเวณที่ถูกงูกัดบวมขึ้น
      • ล้างแผลที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด
      • ทำความสะอาดแผลให้แห้งและปิดแผลให้เรียบร้อย
      • เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เช่น อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร อัตราการหายใจ และความดันโลหิต หากผู้ป่วยเกิดอาการช็อค ควรให้ผู้ป่วยนอนราบลงไป ยกขาให้สูงขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร และห่มผ้าห่มให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยถูกงูกัดที่ขา ห้ามยกขาผู้ป่วยขึ้นมาเหนือระดับหัวใจ เนื่องจากจะเร่งพิษให้กระจายไปที่หัวใจเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ อีกหลายประการที่ผู้เข้าช่วยเหลือไม่ควรทำเมื่อเข้าช่วยเหลือผู้ถูกงูกัด ดังนี้

  • ห้ามจับงูด้วยตนเอง
  • ห้ามขันชะเนาะบริเวณที่ถูกงูกัด เนื่องจากจะเสี่ยงทำให้เนื้อเยื่อตายได้
  • ไม่ห้ามเลือดให้ผู้ป่วย
  • ไม่ใช้ของมีคมกรีดแผลงูกัด รวมทั้งห้ามตัด จี้ไฟ หรือพอกยาตรงแผลงูกัด เนื่องจากอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
  • ห้ามดูดพิษงู
  • ไม่ประคบแผลด้วยน้ำแข็ง หรือแช่แผลงูกัดในน้ำ
  • ไม่ให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาอาการปวดแผล
  • ห้ามยกอวัยวะที่ถูกงูกัดสูงเหนือระดับหัวใจ

การรักษาทางการแพทย์ เมื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จะรักษาและดูแลอาการผู้ป่วย โดยการรักษางูกัดมีขั้นตอน ดังนี้

  • รักษาภาวะฉุกเฉิน แพทย์จะรักษาอาการที่รุนแรงต่อชีวิตก่อน โดยผู้ป่วยที่หายใจไม่ออกอาจได้รับการต่อเครื่องช่วยหายใจ ส่วนผู้ที่ช็อคจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำหรือยาสำหรับรักษาระดับความดันโลหิตและการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญในร่างกาย และผู้ที่เสียเลือดมากต้องรับการให้เลือด
  • รักษาแผลงูกัด
    • ฉีดเซรุ่มแก้พิษ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้ผู้ป่วยทันทีในกรณีที่ทราบชนิดงู และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้เซรุ่ม แพทย์จะให้อะดรีนาลีนสำหรับรักษาภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการป่วยอื่น ๆ ภายใน 5-10 วัน โดยจะมีไข้ ปวดข้อต่อ ระคายเคือง ต่อมน้ำเหลืองบวม และเมื่อยล้า ผู้ป่วยที่ไม่ทราบชนิดงูที่กัดอาจต้องเข้ารับการสังเกตอาการจากแพทย์ก่อน เพื่อวินิจฉัยอาการว่าถูกงูชนิดใดกัด เนื่องจากเซรุ่มแก้พิษงูแต่ละอย่างจะใช้รักษาอาการตามชนิดงูที่กัดเท่านั้น โดยแพทย์จะนัดตรวจสำหรับติดตามอาการ รวมทั้งตรวจร่างกาย เจาะเลือด หรือตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องนอนพักที่โรงพยาล เนื่องจากอาการอาจรุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
    • ดูแลแผลงูกัด ผู้ที่ถูกงูมีพิษหรือไม่มีพิษกัดจะได้รับการดูแลแผล โดยแพทย์จะถอนเขี้ยวงูที่ฝังอยู่ออกมา ทำความสะอาดแผล ให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล โดยพิจารณาตามความรุนแรงของแผล รวมทั้งให้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาหารปวดแผล ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติการรักษาและความรุนแรงของบาดแผล หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนครบจำนวนเป็นเวลามากกว่า 10 ปี หรือได้รับวัคซีนเป็นเวลามากกว่า 5 ปี และบาดแผลสกปรกมาก ควรรับวัคซีนบาดทะยักอีกครั้ง

นอกจากนี้ แพทย์อาจต้องผ่าตัดผู้ป่วยในกรณีที่ปรากฏอาการของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงขึ้น โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่เกิดความดันในช่องกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาแรงดันและอาการบวมที่แขนและขาของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ประสบภาวะดังกล่าวมีไม่มากนัก หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยต้องพักฟื้นร่างกาย ซึ่งใช้เวลาแตกต่างกันไปตามชนิดงูที่กัด ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่มักใช้เวลาพักฟื้น 3 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนเด็กใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการบวมและปวดแผลระหว่างพักฟื้นร่างกาย จึงต้องรับประทานยาแก้ปวดและเคลื่อนไหวแขนและขาอยู่เสมอ เพื่อระงับอาการดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนจากงูกัด

ผู้ที่ถูกงูมีพิษกัดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยจะปรากฏอาการตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงขั้นรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนจากงูมีพิษกัด มีดังนี้

  • ปวดและบวมบริเวณที่ถูกกัด
  • มองเห็นผิดปกติ เนื่องจากพิษงูทำลายเส้นประสาทบริเวณหนังตา ส่งผลให้หนังตาตกและมองเห็นผิดไปจากเดิม
  • ประสบภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง โดยบริเวณที่ถูกงูกัดจะบวมขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งทำลายเส้นประสาทและหลอดเลือดได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาย
  • แผลติดเชื้อ
  • สูญเสียแขนและขา
  • ประสบภาวะเนื้อตายเน่า
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด 
  • เลือดออกภายในร่างกาย
  • หัวใจถูกทำลาย
  • หายใจไม่สะดวก
  • ไตวาย โดยงูบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น งูแมวเซา เป็นต้น
  • เสียชีวิต

การป้องกันงูกัด

ผู้ที่ถูกงูมีพิษหรืองูไม่มีพิษกัดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ อันเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ การป้องกันงูกัดทำได้ ดังนี้

  • เลี่ยงบริเวณที่อับ มืด หรือรก ซึ่งอาจมีงูหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายซ่อนตัวอยู่
  • ควรสวมรองเท้าและเสื้อผ้าที่มิดชิดรัดกุมในกรณีที่ต้องเข้าไปในบริเวณที่รกครึ้ม
  • ห้ามจับหรือแหย่งู ไม่ว่าจะเป็นงูที่มีหรือไม่มีพิษ
  • ไม่ควรทำให้งูตกใจ เนื่องจากอาจทำให้งูกัดได้
  • ไม่ล้วงมือลงไปในรูหรือช่องที่มองไม่เห็นข้างใน หากต้องหยิบของที่ตกลงไป ควรหาไม้ยาว ๆ เขี่ยออกมาแทน
  • ควรยืนนิ่ง ๆ เมื่อเจองูในระยะใกล้ เนื่องจากงูจะฉกและกัดหากเคลื่อนไหว
  • ควรพกอุปกรณ์ทำแผลหรือยาต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดกรด หรือยาหม่อง รวมทั้งศึกษาข้อมูลติดต่อรถพยาบาลฉุกเฉินหากต้องเดินทางไปเที่ยวในที่ที่เสี่ยงเจองูชุกชุม