คอตีบ

ความหมาย คอตีบ

คอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรง มักจะมีผลต่อเยื่อบุจมูกและลำคอ หรืออาจเกิดกับผิวหนังได้ในบางราย สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางการไอและจาม การสัมผัสกับผู้ป่วยโรคคอตีบโดยตรง หรือการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ

คอตีบ

อาการของคอตีบ

สัญญาณและอาการของคอตีบมักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อ 2–5 วัน ซึ่งอาจเกิดอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • เป็นแผลและมีเยื่อบุสีเทาเกิดขึ้นที่ในลำคอและบริเวณต่อมทอนซิล
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • หนาวสั่น
  • รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีอาการปวดศีรษะ
  • มีน้ำมูก
  • มีอาการเจ็บคอ ไอ เสียงแหบ
  • ต่อมน้ำเหลืองในคอบวม
  • กลืนอาหารลำบาก หรือรู้สึกเจ็บเวลากลืน
  • หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก

นอกจากนี้ โรคคอตีบยังสามารถเกิดขึ้นได้ที่ผิวหนัง (Cutaneous Diphtheria) ทำให้เกิดตุ่มหนองและกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ขึ้น ล้อมรอบไปด้วยปื้นแดง และมีเยื่อบุสีเทา ลักษณะของผิวดูคล้ายแผลกดทับ แผลเหล่านี้มักจะหายไปได้เองภายใน 2–3 เดือน แต่อาจทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ หากพบว่าตนเองหรือบุตรหลานมีสัญญาณและอาการของโรคคอตีบ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว 

สาเหตุของคอตีบ

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคคอตีบ คือ Corynebacterium Diphtheriae โดยเชื้อตัวนี้มักพบว่ามีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเชื้อขึ้นบริเวณเยื่อบุที่คอ และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้หลายทาง ได้แก่

  • ทางอากาศ โรคคอตีบจะแพร่กระจายและติดต่อได้ดีในทางอากาศ โดยเฉพาะในที่ที่มีคนจำนวนมาก เมื่อผู้ป่วยคอตีบไอหรือจามจะปล่อยแพร่ละอองที่ปนเปื้อนเชื้ออยู่ ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงก็อาจสูดเอาเชื้อเข้าไป 
  • ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนเชื้อ ผู้ป่วยคอตีบบางรายพบว่าได้รับเชื้อจากการจับหรือสัมผัสกับกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วของผู้ที่ติดเชื้อ หรือดื่มน้ำจากแก้วของผู้ที่มีเชื้อ
  • ของใช้ภายในบ้านที่ปนเปื้อนเชื้อเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยอาจได้รับการแพร่เชื้อจากของใช้ที่ใช้ร่วมกันภายในบ้าน เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือของเล่นเด็ก

นอกจากนั้น การสัมผัสกับแผลของผู้ที่ติดเชื้อคอตีบก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคคอตีบ ได้แก่ เด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคคอตีบ และผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องพบผู้คนจำนวนมาก ๆ หรือขาดสุขอนามัยที่ดี รวมไปถึงผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคคอตีบ

การวินิจฉัยคอตีบ

แพทย์มักพิจารณาโรคคอตีบจากสัญญาณและอาการของผู้ป้วย เช่น มีอาการเจ็บคอและมีเยื่อบุสีเทาเกิดขึ้นในคอและทอนซิล แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการเพาะเชื้อในห้องทดลองจากเยื่อบุในคอ นอกจากนั้นยังใช้ตัวอย่างจากแผลที่ผิวหนังนำไปเพาะเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบ

การรักษาคอตีบ

โรคคอตีบเป็นโรคที่มีความรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันทีหากแพทย์สงสัยว่าเป็นโรค โดยที่ไม่ต้องรอการยืนยันจากการทดลองเพาะเชื้อ โดยการรักษาโรคคอตีบในปัจจุบัน ได้แก่

  • การใช้ยาต้านพิษ (Diphtheria Antitoxin) เพื่อหยุดพิษที่ผลิตจากแบคทีเรียที่กำลังโจมตีร่างกาย แพทย์จะฉีดยาต้านพิษนี้เข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อเมื่อคาดว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบ
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลิน (Penicillin) เพื่อฆ่าและกำจัดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย

โดยปกติของผู้ป่วยโรคคอตีบจะต้องถูกแยกพักรักษาจากผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และแยกรักษาไว้จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยปกติจะนานประมาณ 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มให้ยาปฏิชีวนะ และหลังจากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะจนครบแล้ว แพทย์จะทดสอบให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ได้อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนของคอตีบ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคคอตีบ เช่น 

  • การอุดกั้นของทางเดินหายใจ หายใจลำบาก ปอดติดเชื้อ และมีภาวะระบบหายใจล้มเหลวตามมา
  • สร้างความเสียหายให้กับระบบประสาท (Polyneuropathy) และเป็นอัมพาต
  • ทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และมีโอกาสหัวใจวาย

การป้องกันคอตีบ

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ในประเทศไทยจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตั้งแต่ช่วงทารกและวัยเด็ก และมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ วัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันมี 4 ชนิด ได้แก่  DTaP, Tdap, DT และ Td 

วัคซีนเหล่านี้ใช้ในการป้องกันทั้งโรคคอตีบและบาดทะยัก โดยวัคซีน DTaP และ DT จะใช้กับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี ส่วน Tdap และ Td จะใช้ในเด็กโต วัยรุ่น และผู้ใหญ่ นอกจากนี้ วัคซีน DTaP และ Tdap ยังใช้ในการป้องกันโรคไอกรนได้อีกด้วย