น้ำมูกไหล

ความหมาย น้ำมูกไหล

น้ำมูกไหล เป็นอาการที่มีของเหลวไหลออกมาจากโพรงจมูก ซึ่งของเหลวดังกล่าวอาจมีลักษณะต่างกัน เช่น เหลว ใส ข้นเหนียว รวมถึงมีสีที่ต่างกัน โดยลักษณะเหล่านี้อาจขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย แต่ส่วนมากจะเกี่ยวกับของกับระบบทางเดินหายใจ

แม้ว่าน้ำมูกไหลเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อยในหลายโรค เช่น โรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้เช่นกัน ซึ่งการรักษาอาการน้ำมูกไหลทำได้โดยการดูแลตนเองและการใช้ยา

น้ำมูกไหล

อาการน้ำมูกไหล

น้ำมูกที่ไหลออกมาจากโพรงจมูกอาจแตกต่างไปตามโรคที่เป็นสาเหตุ ในเบื้องต้นจะพบว่าลักษณะของน้ำมูกเปลี่ยนแปลงไป อาจมีลักษณะเหลวหรือข้นขึ้น รวมถึงสีของน้ำมูลอาจแตกต่างกัน เช่น สีใส สีขาว สีเหลือง สีเขียว สีชมพู สีแดง สีน้ำตาล สีดำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเกิดขึ้นร่วมด้วย อย่างอาการคัดจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หรือเจ็บคอ

แม้ว่าน้ำมูกไหลจะเป็นอาการไม่ร้ายแรง แต่หากเป็นติดต่อกันนานเกิน 10 วัน หรือพบอาการอื่น ๆ อย่างมีไข้สูง น้ำมูกมีสีเหลืองหรือสีเขียวร่วมกับมีไข้ มีเลือดออกหรือน้ำมูกใสไหลติดต่อกันหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดบริเวณศีรษะ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บภายในศีรษะ สำหรับทารกควรพาไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบว่าเด็กมีน้ำมูกไหล คัดจมูก และมีไข้

สาเหตุของน้ำมูกไหล

โดยทั่วไปร่างกายมนุษย์มีกลไกการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมนอกร่างกาย อย่างฝุ่น เกสรดอกไม้ สารเคมี หรือเชื้อโรค เนื่องจากสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการระคายหรืออักเสบ เมื่อสมองรับรู้ว่าโพรงจมูกกำลังรับสิ่งแปลกปลอมเข้ามาก็จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตของเหลวขึ้นภายในโพรงจมูก เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย เมื่อร่างกายหลั่งของเหลวมากขึ้นก็จะทำให้น้ำมูกไหลในที่สุด 

โรคที่อาจเป็นสาเหตุให้น้ำมูกไหลแบ่งได้ดังนี้

โรคระบบทางเดินหายใจ

การหลั่งน้ำมูกเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจ โดยอาจเป็นผลจากความผิดปกติหรือโรคต่อไปนี้ เช่น 

  • โรคภูมิแพ้
  • โรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
  • โรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่
  • ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated Septum)
  • ริดสีดวงจมูก
  • โรคหืด
  • โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis)
  • ต่อมอะดีนอยด์โต

โรคและภาวะอื่น

โรคและภาวะบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายบางส่วนและกระตุ้นให้น้ำมูลไหลได้ เช่น 

  • ภาวะน้ำไขสันหลังรั่ว
  • ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
  • การตั้งครรภ์
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ อย่างโรคหลอดเลือดอักเสบ GPA (Granulomatosis With Polyangiitis) 

สาเหตุอื่น

นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว อาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการนี้ เช่น

  • อากาศแห้งหรือโพรงจมูกแห้ง
  • มีสิ่งแปลกปลอมภายในจมูก
  • การสูบบุหรี่
  • การบาดเจ็บหรือระคายเคืองภายในโพรงจมูก
  • การรับประทานอาหารที่รสชาติเผ็ดร้อน
  • การใช้ยาพ่นจมูกมากเกินไป
  • ผลข้างเคียงจากยา โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ยาต้านเศร้า และยากันชัก

อย่างไรก็ตาม อาจมีโรคหรือสาเหตุนอกเหนือจากที่กล่าวมาทำให้เกิดน้ำมูกไหลได้เช่นกัน หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น น้ำมูลไหลต่อเนื่องกันนาน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี

การวินิจฉัยอาการน้ำมูกไหล

น้ำมูกไหลเป็นอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยแพทย์อาจตรวจร่างกายและสอบถามประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ยาที่ใช้ อาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย ตลอดจนถึงสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าว หากข้อมูลข้างต้นนั้นไม่เพียงพอสำหรับวินิจฉัย แพทย์อาจส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ

การรักษาน้ำมูกไหล

ในเบื้องต้นอาการนี้อาจรักษาได้ด้วยการดูแลตนเอง เช่น นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ใช้น้ำเกลือสวนล้างจมูก ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในโพรงจมูก งดใช้ยาพ่นจมูก สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นควัน ละอองฝุ่น และเกสร เป็นต้น

กรณีที่ต้องการใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีใช้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ซึ่งเภสัชกรอาจจ่ายยาตามอาการที่พบ อย่างยาลดน้ำมูกและยาแก้แพ้ หากอาการไม่รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมารับประทานเอง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบในระยะยาว และถ้าพบว่าตนเองป่วยด้วยโรค ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้อง 

ภาวะแทรกซ้อนของน้ำมูกไหล

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจสร้างความรำคาญใจและส่งผลต่อบุคลิกภาพ โดยเฉพาะน้ำมูกที่ไหลออกมาอยู่บ่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากโรค ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงสอบถามวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน

การป้องกันน้ำมูกไหล

น้ำมูลไหลสามารถป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นสาเหตุและรักษาสุขอนามัยที่ดี ดังนี้ 

  • หากมีอาการแพ้ฝุ่นละอองและเกสรดอกไม้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ 
  • หากทราบว่าตนเองแพ้สัตว์เลี้ยง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเข้าใกล้สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว 
  • น้ำมูกไหลที่มีสาเหตุมาจากการระคายเคือง ควรหาว่าการระคายเคืองในโพรงจมูกนั้นเกิดจากอะไร หากโพรงจมูกแห้งก็ควรใช้เครื่องทำความชื้นหรือใช้ไอน้ำร้อนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น 
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรค 
  • รักษาความสะอาดพื้นที่ภายในบ้านและสิ่งของอยู่เสมอ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนที่มีผ้าเป็นส่วนประกอบ อย่างที่นอน โซฟา และผ้าม่าน เนื่องจากฝุ่นมักเกาะติดและสะสมได้ง่าย
  • สำหรับโรคอื่น ๆ ควรเริ่มต้นจากการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค