คลอโรฟิลล์ สารสีเขียวกับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสารสีเขียวที่อยู่ในพืช ในทางการแพทย์คลอโรฟิลล์มีคุณสมบัติในการระงับกลิ่น ทั้งกลิ่นปากและกลิ่นตัว บรรเทาอาการท้องผูก ช่วยสมานแผล อีกทั้งยังมีการศึกษาบางส่วนกล่าวว่าคลอโรฟิลล์สามารถล้างสารพิษในร่างกายและต้านมะเร็งได้อีกด้วย

คลอโรฟิลล์ประกอบไปด้วยสารอาหารหลายชนิด อย่างวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และมีสรรพคุณทางยาที่ได้กล่าวไป ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพ สารสีเขียวชนิดนี้สามารถพบได้ในพืชหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง ต้นอ่อนข้าวสาลี ถั่วแขก พาร์สลีย์ ผักร็อกเก็ต กระเทียมต้น และถั่วต่าง ๆ

A,Glass,Of,Barley,Grass,Juice,With,Freshly,Grown,Barley

ประโยชน์จากคลอโรฟิลล์

เนื่องจากคลอโรฟิลล์ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีการกล่าวอ้างถึงประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน แล้วตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ คลอโรฟิลล์มีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 

ลดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ของร่างกาย

ปัญหากลิ่นปากและกลิ่นตัวเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจเป็นอย่างมาก ซึ่งคลอโรฟิลล์มีฤทธิ์เป็นสารระงับกลิ่นตามธรรมชาติ จึงคาดกันว่าการได้รับคลอโรฟิลล์ก็อาจช่วยลดกลิ่นปากและกลิ่นตัว แต่คุณสมบัตินี้เป็นเพียงผลจากการศึกษาที่ค่อนข้างจำกัด 

ในทางการศึกษามีการใช้สารชนิดนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรค Trimethylaminuria หรือเรียกกันในภาษาพูดว่า โรคกลิ่นตัวเหม็น เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญ ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยสารไตรเมทิลามีน (Trimethylamine) ที่เป็นสารที่มีกลิ่นเหม็น ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยมีกลิ่นคล้ายไข่เน่า ปลาเน่า หรือมีของเสียออกมาผ่านเหงื่อ ลมหายใจ และของเสีย ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก โดยจากการศึกษาพบว่า การใช้สารคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllyn) หรือคลอโรฟิลล์สังเคราะห์ในรูปแบบอาหารเสริมอาจช่วยลดอาการตัวเหม็นจากโรคนี้และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ 

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณดังกล่าวจัดอยู่ในขั้นการทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพราะผลการศึกษาและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการทดลองดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการยืนยันประสิทธิภาพ

ดีต่อลำไส้

สารคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin) เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อการทำงานและสุขภาพของลำไส้ โดยเฉพาะอาการท้องผูกที่เป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งแพทย์อาจให้สารคลอโรฟิลลินเป็นการรักษาเสริมในผู้ที่ท้องผูกจากการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง โรคมะเร็งลำไส้ โรคจิต ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้ที่รักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้เปิดหน้าท้องเพื่อกำจัดของเสีย

นอกจากนี้ การได้รับสารคลอโรฟิลลินยังอาจช่วยต้านการอักเสบภายในลำไส้ในหนูที่มีพังผืดที่ตับ (Liver Fibrosis) ได้ด้วย แต่คุณสมบัติต้านการอักเสบเป็นการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงยังไม่สามารถยืนยันสรรพคุณของสารชนิดนี้หากมีการนำมาใช้ในคน

ต้านมะเร็ง

คลอโรฟิลล์ประกอบไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีข้อมูลสนับสนุนว่าสารเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยชะลอหรือยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยจากการศึกษาในสัตว์พบว่า คลอโรฟิลล์อาจช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งในอวัยวะหลายส่วน อย่างตับและกระเพาะอาหาร 

ขณะเดียวกันการทดลองอีกชิ้นที่ศึกษาคุณสมบัติต้านมะเร็งตับอ่อนในหนูพบว่า คลอโรฟิลล์ในพืชสีเขียวอาจช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งภาวะสมดุลระหว่างสารอนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระอาจป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ ผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ยังเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาตัว ซึ่งสารชนิดนี้อาจช่วยให้แผลบริเวณผิวหนังจากการรักษาด้วยวิธีการฉายแสงหายได้เร็วขึ้นด้วย 

ในตอนต้นได้มีการกล่าวถึงคุณสมบัติล้างสารพิษของคลอโรฟิลล์ โดยมีผลจากการศึกษาในมนุษย์คาดว่า สารสีเขียวนี้อาจช่วยลดการได้รับสารพิษจากเชื้อราอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งสารพิษจากเชื้อราชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง ดังนั้น การได้รับสารพิษน้อยลงก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ 

นอกจากคุณสมบัติในข้างต้นแล้ว คลอโรฟิลล์และสารคลอโรฟิลลินอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น ลดน้ำหนัก เร่งการสมานแผล ช่วยสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของคลอโรฟิลล์จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประโยชน์ ความปลอดภัย และข้อเท็จจริงอื่น ๆ เนื่องจากการศึกษาแต่ละชิ้นมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ทั้งรูปแบบของสารที่ใช้ ลักษณะการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง ระยะเวลา การเจ็บป่วย ไปจนถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลลัพธ์แตกต่างไปในแต่ละคน  

ผลข้างเคียงจากคลอโรฟิลล์

การได้รับคลอโรฟิลล์จากอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่ในบางคนอาจมีอาการผิวไวต่อแสงแดด ซึ่งเสี่ยงต่อผิวไหม้หรืออักเสบ หากพบว่าตนเองเสี่ยงต่อผลข้างเคียงดังกล่าว ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ทาครีมกันแดด หากมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการใช้คลอโรฟิลลินร่วมกับยาบางประเภทที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการผิวหนังไวต่อแสง ได้แก่ ยาต้านเศร้าอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) และยาปฏิชีวนะ อย่างยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) ยาออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) และยังมียาอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการดังกล่าวได้

สำหรับผู้ที่ใช้คลอโรฟิลลินอาจเกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย อย่างอุจจาระเหลว อุจจาระและปัสสาวะเป็นสีเขียว ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้แล้วมีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องเสีย หรือพบอาการแพ้ อย่างหายใจลำบาก ปากบวม คอบวม เป็นผื่น ควรไปพบแพทย์ทันที

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้อาหารเสริมคลอโรฟิลล์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก คุณแม่ที่กำลังครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพื่อความปลอดภัย