ไหลตาย

ความหมาย ไหลตาย

ไหลตาย ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่ากลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เกิดขึ้นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้สมองตายและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ทั้งนี้ ภาวะไหลตายไม่เพียงเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่อาจเกิดขึ้นในขณะตื่นได้เช่นกัน

ไหลตาย

อาการของภาวะไหลตาย

ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา เพราะมักไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติ ทว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ชัก หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือใจสั่น ในกรณีที่อาการกำเริบระหว่างนอนหลับอาจหายใจเสียงดังครืดคราดคล้ายละเมอ ซึ่งหากหัวใจไม่กลับมาเต้นเป็นปกติภายใน 6-7 นาที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะไหลตายเสมอไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นและรับการรักษาต่อไป

สาเหตุของภาวะไหลตาย

โดยปกติหัวใจห้องบนขวาของคนเรามีเซลล์พิเศษที่ทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้หัวใจเต้นเป็นปกติ เมื่อเซลล์ดังกล่าวเกิดความบกพร่องจึงกระทบต่อการทำงานของกระแสไฟฟ้า ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ และสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้หมดสติและอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ภาวะไหลตายพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทว่าผู้ชายอายุ 25-55 ปี อาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่น สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยไหลตายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และรองลงมาคือภาคเหนือ นอกจากนี้ อุณหภูมิของร่างกายที่อยู่ในระดับสูง เช่น เมื่อมีไข้หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมถึงภาวะขาดน้ำ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะไหลตายได้

การวินิจฉัยภาวะไหลตาย

ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยล้มป่วยหรือเสียชีวิตด้วยภาวะนี้หรือมีอาการบ่งชี้ของภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีโอกาสเกิดภาวะไหลตายหรือไม่ แพทย์มักวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายเบื้องต้นร่วมกับวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) แพทย์จะติดตั้งอุปกรณ์บริเวณหน้าอกของผู้ป่วยเพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ ทั้งนี้ หัวใจของคนเรามักมีจังหวะการเต้นไม่เสถียร การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงวิธีเดียวอาจไม่สามารถตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้ แพทย์จึงอาจฉีดยาบางชนิดในระหว่างการตรวจเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงอาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดบรูกาดาออกมา
  • การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Test: EP) หากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดงว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นภาวะไหลตาย แพทย์อาจใช้การตรวจวิธีนี้ช่วยวิเคราะห์สาเหตุของโรคและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยใส่สายสวนผ่านทางเส้นเลือดดำบริเวณขาหนีบเข้าไปจนถึงหัวใจ จากนั้นจึงส่งสัญญาณไฟฟ้าไปตามตำแหน่งต่าง ๆ ของหัวใจ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
  • การตรวจรหัสพันธุกรรม แพทย์อาจแนะนำให้คนในครอบครัวของผู้ป่วยตรวจดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อวิเคราะห์ว่ามีโอกาสเกิดภาวะไหลตายหรือไม่ เนื่องจากภาวะนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

การรักษาภาวะไหลตาย

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะไหลตายเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันหัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนเกิดอันตราย ดังนี้

  • ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) โดยฝังไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้า อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นกลับมาเต้นเป็นปกติเมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไป แต่การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการช็อกแม้ในขณะที่หัวใจเต้นเป็นปกติได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
  • การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวบ่อยครั้งเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่ม เพื่อลดความถี่ของการเกิดภาวะดังกล่าว
  • การใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาควินิดีน วิธีนี้อาจใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย หรือใช้เป็นวิธีเสริมในผู้ที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะไหลตาย

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนไม่สามารถฉูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อาจหมดสติ มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม การปั๊มหัวใจหรือการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (An Automatic External Defibrillator: AED) ด้วยวิธีที่ถูกต้องอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้

การป้องกันภาวะไหลตาย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะไหลตายที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไหลตาย ทำได้ดังนี้

  • ควรรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หากมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
  • ยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ผู้ที่ทราบว่าตนเองเสี่ยงเกิดภาวะไหลตายควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับประทานยาทุกชนิด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมาก ๆ
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตจากภาวะไหลตายหรือมีอาการเข้าข่ายเป็นภาวะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการวินิจฉัยเพิ่มเติมและให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป