ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

โรคไส้เลื่อนไม่ได้เกิดกับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน เพียงแค่โอกาสในการเกิดมีน้อยกว่า โดยทั่วไปไส้เลื่อนแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ชนิดของไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในผู้หญิงมักเป็นไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) 

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบจะเกิดขึ้นบริเวณต้นขาด้านใน (Femoral Canal) และเหตุที่พบได้มากในผู้หญิงนั้นมาจากกระดูกเชิงกรานของผู้หญิงมีความกว้างกว่าผู้ชาย โดยสาเหตุอาจมาจากการคลอดลูก มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาการไอเรื้อรัง การยกของหนัก หรือการเบ่งอุจจาระจากการท้องผูกเรื้อรัง

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ อาการเป็นอย่างไร

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบอาจไม่แสดงอาการให้เห็นได้อย่างชัดเจน แต่หากอาการรุนแรงมากขึ้นก็อาจส่งผลให้เกิดอาการต่อไปนี้

  • เกิดก้อนนูนบริเวณต้นขาด้านในหรือเชิงกราน แต่ก้อนนูนมักจะหายไปเมื่อนอนราบ
  • รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายบริเวณเชิงกรานเมื่อยืน ยกของหนัก ออกกำลังกาย หรือออกแรงเบ่งอุจจาระ
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องอืด

นอกจากนี้ ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบอาจนำไปสู่การเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด (Strangulation) จากการที่ลำไส้เคลื่อนลงมาในบริเวณรูเปิดแล้วเกิดการบิดตัว ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อลำไส้ได้ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่อันตรายและผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน 

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบรักษาได้ไหม

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หลัก ๆ แล้วแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกชาตั้งแต่เอวลงไปถึงเท้า หรืออาจใช้ยาระงับความรู้สึกเพื่อให้ผู้ป่วยง่วงและไม่รู้สึกเจ็บในระหว่างการผ่าตัด จากนั้นจะผ่าตัดเปิดแผลขนาดประมาณ 3–4 เซนติเมตร เพื่อเคลื่อนย้ายให้ลำไส้กลับไปอยู่ในบริเวณช่องท้อง 

เมื่อลำไส้กลับไปอยู่ที่เดิม แพทย์จะเย็บแผ่นสังเคราะห์เสริม (Mesh Plug) ไว้ในกล้ามเนื้อส่วนที่เคยเกิดไส้เลื่อน เพื่อเสริมความแข็งแรงและป้องกันการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ ก่อนจะเย็บปิดแผล

ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ขาดเลือดร่วมด้วย อาจต้องนอนดูอาการในโรงพยาบาล 2–3 วัน เนื่องจากแพทย์จำเป็นจะต้องนำเนื้อเยื่อลำไส้ส่วนที่ตายออกแล้วเชื่อมเนื้อเยื่อลำไส้ที่ยังมีเลือดหล่อเลี้ยงเข้าด้วยกัน

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องอยู่ส่วนปลายเข้าทางแผลเปิด เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในช่องท้อง และอัดแก๊สเข้าไปเพื่อให้มีพื้นที่ในช่องท้องมากขึ้น จากนั้นจะสอดเครื่องมือเข้าทางแผลเปิดอีกแผลหนึ่งเพื่อเคลื่อนย้ายลำไส้ให้กลับมาอยู่ในช่องท้องตามเดิม ก่อนจะเย็บแผ่นสังเคราะห์เสริมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อในส่วนดังกล่าวและเย็บปิดแผลให้กับผู้ป่วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหลังจากการผ่าตัดประมาณ 2–4 สัปดาห์ แต่อาจมีอาการปวดหรือไม่สบายบริเวณเชิงกรานเล็กน้อย โดยในระหว่างการพักฟื้นร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และช่วยเสริมสร้างการทำงานที่ดีให้กับระบบขับถ่าย ดื่มน้ำมาก ๆ ดูแลความสะอาดของบาดแผล และอาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากหลายสัปดาห์ ระมัดระวังการเปลี่ยนท่าอย่างการเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน และสังเกตบาดแผลทุกครั้งหลังไอ จาม อาเจียนหรือเมื่อต้องเบ่งอุจจาระ

ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบหรือแม้แต่ไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้ามไป เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้เมื่ออาการทวีรุนแรงขึ้นหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หากใครมีอาการน่าสงสัยหรือพบอาการผิดปกติที่คล้ายจะเป็นไส้เลื่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด