ไข้ไทฟอยด์

ความหมาย ไข้ไทฟอยด์

ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้จากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน หรือการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ ทำให้มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก และท้องเสีย ทั้งนี้ การรักษาสุขอนามัยที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์สำหรับกลุ่มเสี่ยง จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้ไทฟอยด์ได้

ไข้ไทฟอยด์ผู้ป่วยไข้ไทฟอยด์ส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นภายหลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม แม้จะรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยอาจสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ตลอดเวลาโดยที่ตนเองไม่มีอาการใด ๆ  และกลับมาเกิดอาการซ้ำได้ จึงควรได้รับการรักษาและเฝ้าสังเกตอาการอย่างเหมาะสม

ไข้ไทฟอยด์

อาการของไข้ไทฟอยด์

อาการในระยะฟักตัวจะอยู่ในช่วง 1–2 สัปดาห์แรก และอาการจะแสดงในช่วงสัปดาห์ที่ 3–4 จากการได้รับเชื้อ โดยมีอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • มีไข้ต่ำและจะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน อาจมีไข้สูงได้ถึง 40.5 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ
  • ไอแห้ง
  • เบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลด
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย เซื่องซึม
  • มีเหงื่อออก
  • มีผื่นขึ้นบริเวณหน้าท้องหรือหน้าอก
  • ปวดท้อง ท้องบวม
  • ท้องเสียหรือท้องผูก

หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการเพ้อเพราะพิษไข้ อ่อนเพลีย ซึม ปิดตาได้ไม่สนิทหรือปิดตาลงได้ครึ่งเดียว รวมถึงอาจมีความรุนแรงจนทำให้เกิดอาการโคม่าได้

สาเหตุของไข้ไทฟอยด์

ไข้ไทฟอยด์มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิดรุนแรง คือ Salmonella Typhi โดยสามารถรับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้จาก

  • การบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ สำหรับประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภคไม่ดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากน้ำที่ปนเปื้อน และผู้ป่วยบางส่วนอาจได้รับเชื้อจากการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร
  • ได้รับเชื้อการแพร่เชื้อของผู้ที่เป็นพาหะนำโรค แม้ผู้ป่วยบางรายจะหายจากอาการไข้ไทฟอยด์หลังได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้ว แต่อาจยังมีเชื้ออยู่ในลำไส้หรือถุงน้ำดี ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้นับว่าเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ทางอุจจาระ

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้ไทฟอยด์อาจได้แก่ การทำงานไปยังประเทศที่มีไข้ไทฟอยด์เป็นโรคประจำถิ่น เช่น อินเดีย ผู้ที่เป็นนักจุลชีววิทยาที่ต้องทำงานหรือดูแลเรื่องของแบคทีเรีย Salmonella Typhi และผู้ดูแลที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ 

การวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์

แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติทางการแพทย์และประวัติการเดินทางของผู้ป่วย และอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธีการดังนี้

การเพาะเชื้อจากของเหลวหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย

แพทย์จะสามารถหาสายพันธุ์ของแบคทีเรียได้จากการดูการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยจะใช้ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของเลือดwww.pobpad.com/เตรียมพร้อมก่อนรับการต อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำไขสันหลัง หรือไขกระดูก ร่วมกับการใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งการเพาะเชื้อจากไขกระดูกจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจหาเชื้อ

การทดสอบไวดาล (Widal Test) 

Widal Test เป็นวิธีตรวจแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีใช้กันอยู่ ซึ่งจะตรวจหาแอนติบอดี้ต่อแอนติเจนของเชื้อในส่วนที่เป็น O และ H โดยมักจะตรวจพบหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการมาแล้วประมาณ 7–10 วัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยโรคได้ไม่ดีเท่ากับการเพาะเชื้อ

การทดสอบทูเบ็กซ์ (TUBEX Test)

TUBEX Test เป็นวิธีการทดสอบรูปแบบใหม่ที่ใช้ตรวจหาแอนติบอดี้ที่ร่างกายผู้ป่วยสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านต่อแอนติเจนของเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปทดสอบและอ่านผลโดยเทียบค่าจากแถบสี ผลการทดสอบของผู้ติดเชื้อจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งการทดสอบนี้มีข้อดีคือได้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำและทราบผลการทดสอบได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที

นอกจากนั้น หากพบว่าผู้ป่วยได้เป็นไข้ไทฟอยด์อย่างแน่นอนแล้ว สมาชิกคนอื่น ๆ ที่พักอาศัยอยู่กับผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคด้วย

การรักษาไข้ไทฟอยด์

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ แต่รายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับไข้ไทฟอยด์ โดยยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้ในการรักษา มีดังนี้

  • กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาไซโปรฟลอกซาซิน ยาคลอแรมเฟนิคอล ยาไตรเมโทพริม และยาแอมพิซิลลิน
  • กรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้ใช้ยาเซฟไตรอะโซน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือด หรือใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยารับประทานแล้วไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล ยาไตรเมโทพริม และยาแอมพิซิลลิน อาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย หรือหากใช้ยาเป็นระยะเวลานานสามารถทำให้เกิดการดื้อยาได้

การรักษาตัวที่โรงพยาบาล

โดยปกติจะแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง และท้องบวม หรือเด็กพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด และอาจต้องให้ของเหลวหรือสารอาหารต่าง ๆ เข้าทางหลอดเลือด

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น มีเลือดออกภายในร่างกาย หรือบางส่วนของระบบย่อยอาหารทะลุ แต่กรณีนี้จะพบว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก

การรักษาหลังอาการดีขึ้นแล้ว

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาและมีอาการดีขึ้นแล้ว ควรได้รับการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจสอบว่ายังมีเชื้ออยู่หรือไม่ เพื่อตรวจสอบการเป็นพาหะของโรค และอาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาปาฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อเพิ่มอีก 28 วัน

ในบางกรณี อาการของผู้ป่วยอาจกลับมาเกิดซ้ำได้ โดยมักจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ แต่อาการมักจะไม่รุนแรงและเป็นไม่นานเท่าครั้งแรก โดยกรณีนี้แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอีกครั้ง หากผู้ป่วยพบว่ามีอาการของโรคซ้ำ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ไทฟอยด์

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ไทฟอยด์มักจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดย 1 ใน 10 ของผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 3 ของการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหารหรือลำไส้เป็นรูทะลุ ซึ่งทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงได้ หากแพทย์สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจ CT Scan

นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

การป้องกันไข้ไทฟอยด์

การรักษาสุขอนามัยจะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้ไทฟอยด์ได้ โดยด้วยการดูแลน้ำดื่มให้มีความสะอาดและปลอดภัย และพัฒนาสุขอนามัยและการดูแลทางการแพทย์ให้เพียงพอ 

นอกจากนี้ การให้วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์เป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีอีกทางหนึ่ง ซึ่งวัคซีนต้านไข้ไทฟอยด์มี 2 ชนิดคือแบบฉีดและแบบแคปซูล วัคซีนที่ใช้มักจะมีประสิทธิภาพเป็นระยะเวลาประมาณ 2–5 ปี โดยกลุ่มที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ ได้แก่ 

  • นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อได้สูง
  • บุคลากรที่ทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi โดยตรง
  • บุคคลที่อาศัยอยู่กับผู้ที่เป็นพาหะนำโรค
  • เด็กวัยเรียนในประเทศที่ไข้ไทฟอยด์เป็นปัญหาสำคัญและมีปัญหาเชื้อดื้อยามาก

อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนไม่สามารถป้องกันไข้ไทฟอยด์ได้อย่างสมบูรณ์ จึงควรระวังและดูแลตนเองควบคู่ไปด้วย ได้แก่

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหารหรือการเตรียมอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ดื่มน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่อาจมีการปนเปื้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ดิบที่ไม่สามารถปอกเปลือกออกได้ เพราะอาจถูกล้างด้วยน้ำที่มีการปนเปื้อน
  • เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งจนครบ แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนการรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ ส่วนผู้ป่วยที่มีเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสอาหารหรือเตรียมอาหารให้ผู้อื่น จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าผู้ป่วยไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว