ไข้ออกผื่น

ความหมาย ไข้ออกผื่น

ไข้ออกผื่น (Viral Exanthem) คืออาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสบางกลุ่ม โดยจะปรากฏเป็นผดผื่นประทุขึ้นบนบริเวณผิวหนังตามร่างกาย มักเกิดขึ้นร่วมกับกลุ่มอาการป่วย เช่น ไข้ ปวดหัว หรือความอ่อนเพลีย เป็นต้น ทั้งนี้ไข้ออกผื่นแสดงอาการในหลายรูปแบบและเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะปรากฏในลักษณะจุดสีชมพูไปจนถึงสีแดงทั่วร่างกายโดยเฉพาะตามผิวหนัง ส่วนมากจะไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันเว้นแต่บางโรคทำให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำ อย่างไรก็ตาม อาการของไข้ออกผื่นที่แสดงออกมาอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ

ไข้ออกผื่น

อาการไข้ออกผื่น

ไข้ออกผื่นสังเกตเห็นได้ตามบริเวณผิวหนัง มักจะปรากฏรอยจุด ตุ่มนูนแดงลามเป็นวงกว้างมากกว่าผื่นทั่ว ๆ ไป และบางครั้งอาจสร้างความรู้สึกคันให้กับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยอาจสังเกตว่าเป็นไข้ออกผื่นหรือไม่ ดูจากอาการจับไข้ ความรู้สึกเมื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย ไม่รู้สึกอยากอาหาร ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ไม่สบายตามเนื้อตัว หรือปวดท้อง ทั้งนี้ประเภทของไข้ออกผื่นที่แตกต่างกันจะแสดงอาการให้เห็นได้ต่างกันในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน เช่น ช่วงอายุที่แตกต่างกัน  โดยแสดงอาการตามชนิดของไข้ออกผื่น ดังนี้

  • อาการไข้ออกผื่นจากโรคหัด (Measles) ผู้ป่วยอาจมีอาการนำเป็นไข้ ตาแดง น้ำมูกไหล ไอแห้ง และเจ็บคอ พบจุดค็อปลิก (Koplik Spots) มีลักษณะคล้ายสิว เป็นตุ่มสีขาวหรือเทาขึ้นตรงกระพุ้งแก้ม หลังจากนั้น 3-4 วัน จะปรากฏลักษณะเด่นคือผื่นนูนแดง เริ่มต้นจากบริเวณหลังหูและในบริเวณแนวผม ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วผิวหนังส่วนอื่น ๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
  • อาการไข้ออกผื่นจากโรคหัดเยอรมัน (Rubella) ผู้ป่วยอาจมีอาการนำเป็นไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ  หลังจากนั้น 2-5 วันจะพบผื่นสีแดงขึ้นลุกลามจากศีรษะลงมาถึงเท้า นอกจากนี้ ยังพบอาการปวดข้อและข้อสักเสบ หรืออาการต่อมน้ำเหลืองโตโดยเฉพาะที่บริเวณหลังใบหู และท้ายทอย
  • อาการไข้ออกผื่นจากโรคฟิฟธ์ (Erythema Infectiosum) ในระยะแรกแก้มจะมีสีแดงและรู้สึกร้อน ต่อมาจะมีผื่นแดงลักษณะคล้ายตาข่ายที่แขน ขา และลำตัว อาจมีอาการอื่น ร่วมด้วย เช่น ปวดข้อ เลือดจาง
  • อาการไข้ออกผื่นจากโรคหัดกุหลาบ (Roseola Infantum) ผู้ป่วยเด็กอาจมีไข้สูงนาน 3-5 วัน หลังจากไข้ลง ตามมาด้วยผื่นสีชมพูคล้ายกับสีดอกกุหลาบขึ้นมากที่บริเวณใบหน้า ลำคอ แขนและขา แต่จะไม่รู้สึกคัน
  • อาการไข้ออกผื่นจากไวรัสเอ็บสไตบาร์และการใช้ยาอะมิโนเพนิซิลลิน (Epstein–Barr Virus & Aminopenicillins) หากผู้ป่วยใช้ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) อาจเกิดผื่นสีแดงพบบริเวณลำตัวราว 5-9 วันหลังจากการใช้ยาก่อนจะกลายเป็นผื่นแบนราบและตุ่มนูน

สาเหตุของไข้ออกผื่น

การติดเชื้อไวรัสก่อให้เกิดอาการไข้ออกผื่น ซึ่งเชื้อไวรัสมีหลากหลายชนิด และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ป่วยวัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สาเหตุของการเกิดไข้ออกผื่นจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงอายุ ทั้งนี้หากผู้ป่วยพบว่าลักษณะผื่นและอาการไข้ไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผื่นไม่จางสีลงแต่กลับดูเหมือนรอยช้ำเล็ก ๆ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเนื่องจากอาจเป็นอาการผื่นของโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningicoccal)

ไข้ออกผื่นที่พบได้ในผู้ป่วยเด็ก

สำหรับไข้ออกผื่นที่พบได้มากในผู้ป่วยวัยเด็กอาจมีสาเหตุดังนี้

  • เกิดจากเชื้อหวัดธรรมดาทั่วไป
  • เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่
  • เกิดจากโรคอีสุกอีใส (Chicken Pox) เกิดจากไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งนอกเหนือจากอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียนและท้องเสียแล้ว ผู้ป่วยเด็กจะมีตุ่มนูนคันสีแดงและจะกลายเป็นตุ่มน้ำพุพองเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณใบหน้า ท้อง และหลัง ก่อนจะลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ซ้ำยังอาจพบตุ่มพองใหญ่ขึ้นภายในช่องปาก
  • เกิดจากโรคหัด (Measles) โดยการติดเชื้อมอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) โดยอาการคือมีจุดค็อปลิก (Koplik Spots) เป็นตุ่มสีขาวเทาขึ้นตรงกระพุ้งแก้ม ต่อจากนั้น 3-4 วัน จะพบผื่นแดงแบนราบรวมทั้งตุ่มสิวเกิดการปะทุ ที่บริเวณหลังหูและบริเวณแนวผม ซึ่งในระยะเวลาไม่กี่วันจะแพร่กระจายออกไปทั่วผิวหนังส่วนอื่น ๆ
  • เกิดจากโรคหัดเยอรมัน (Rubella) เชื้อรูเบลลาไวรัส (Rubella Virus) ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นสีชมพูหรือแดงอ่อนขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นที่บริเวณคอ ลำตัว หรือแขนขา อยู่ราว 5 วัน ไม่ลุกลามเท่าผื่นโรคหัด ในบางกรณีอาจไม่ทำให้รู้สึกคัน แต่มักมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตโดยเฉพาะที่บริเวณหลังใบหู และท้ายทอย นอกจากนี้ อาจพบอาการไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ
  • เกิดจากโรคหัดกุหลาบ (Roseola) โดยเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส 6B (Herpes Virus 6B) มีอาการที่เด่นชัดคือมีผื่นสีแดงหรือชมพูกุหลาบ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ซึ่งจะกลายเป็นสีขาวหากใช้นิ้วกด ในบางบริเวณอาจพบวงผิวสีขาวซีดขึ้นที่รอบผื่น มักขึ้นที่บริเวณลำตัว แต่ในบางกรณีที่พบได้ยากผื่นอาจลามขึ้นยังใบหน้า ลำคอ แขนหรือขาได้ ผื่นอาจหายไปในไม่กี่ชั่วโมงหรืออยู่ได้นานกว่า 2 วัน ทั้งนี้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกคันหรือมีอาการพุพองแต่อย่างใด
  • เกิดจากโรคฟิฟธ์ (Erythema Infectiosum) สาเหตุคือเชื้อพาร์โวไวรัส บี 19 (parvovirus B19) ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงหนาขึ้นที่บริเวณแก้มและรู้สึกแสบร้อนราว 2-4 วัน ก่อนที่ผื่นสีชมพูลักษณะคล้ายกับลายลูกไม้ขึ้นที่แขน ขา หรือลำตัว สังเกตเห็นผื่นชัดในวันที่อากาศร้อน
  • ผื่นชนิด Unilateral Laterothoracic เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ ไวรัสอะดิโน และพาร์โวไวรัส ส่วนมากจะพบในเด็กอ่อนเพศหญิง คิดเป็น 2 เท่าของเพศชาย (อายุระหว่าง 1-5 ขวบ แต่ส่วนมากจะเกิดในเด็กอายุ 2 ขวบ) ลักษณะผื่นคล้ายผื่นผิวหนังอักเสบ หรือติดเชื้อรา เนื่องจากผื่นมีลักษณะแดง พบตามรักแร้และขาหนีบ ผื่นอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ผื่นชนิด Infantile Papular Acrodermatitis มักพบในผู้ป่วยเด็กอ่อนอายุระหว่าง 6 เดือนจนถึง 12 ขวบ และพบได้ยากในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสเอ็บสไตบาร์ ไวรัสซีเอ็มวี เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เอคโคไวรัส (Echo Viruses) ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus) หรือผื่นที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enteroviruses)

ไข้ออกผื่นที่พบได้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่

ไข้ออกผื่นของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • ไวรัสตับอักเสบ (Viral Hepatitis) เป็นการติดเชื้อกลุ่มไวรัสตับอักเสบ ประกอบด้วยไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี ซี ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำ เจ็บบริเวณท้องฝั่งซ้ายด้านล่างซี่โครงซึ่เป็นบริเวณตับ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หรือปัสสาวะเป็นสีเข้ม นอกจากนี้ ตับอักเสบจากไวรัสยังเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น อาทิ เชื้อไวรัสอะดิโน (Adenovirus) เชื้อไวรัสซีเอ็มวี (Cytomegalovirus) เชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr Virus) หรือเชื้อไวรัสโรคเริม (Herpes Simplex Virus)
  • ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr virus) หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้ต่อมน้ำเหลืองโต มักจะพบในผู้ป่วยช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายผ่านน้ำลาย การฟักตัวของเชื้อจะอยู่ราว 1-2 สัปดาห์ จะมีผื่นจางที่ลุกลามได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่สร้างความรู้สึกคันขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังเกิดรอยบางที่มีตุ่มเล็ก ๆ สีแดงเกิดขึ้นร่วมด้วย โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณลำตัว และแขนส่วนบนก่อนจะลามไปยังใบหน้าและแขนบริเวณข้อศอกหรือข้อมือในไม่กี่วัน
  • พาร์โวไวรัส บี19 (Parvovirus B19) มักปรากฏในช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยจะพบผื่นคันสีแดงพุพองขึ้นที่บริเวณมือและเท้าทั้งสองข้าง รู้สึกเจ็บปวด และมีอาการบวม ทั้งนี้ที่บริเวณอื่นของร่างกายก็อาจเกิดอาการได้ด้วย เช่น ที่แก้ม ข้อศอก หัวเข่า ต้นขาด้านใน อวัยวะเพศ หรือก้น เชื้อไวรัสชนิดนี้ติดต่อกันได้ผ่านการพูด ไอ หรือจาม และมีระยะการฟักตัวของเชื้อราว 7-10 วัน
  • ไวรัสหัดกุหลาบ (Pityriasis rosea) เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์  (Herpes Virus 6 and 7) การฟักเชื้อใช้ระยะเวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์ มีลักษณะเป็นรอยแต้มสีแดงรูปวงรีซึ่งมีขุยตามขอบในของผื่น โดยมากจะขึ้นที่บริเวณหน้าอกรวมถึงแผ่นหลัง ถึงแม้ว่าการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะพบในผู้ป่วยวัยรุ่น แต่ในบางกรณีก็อาจพบได้ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน
  • ผื่นชนิด AGEP (Acute Generalised Exanthematous Pustulosis) ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยสีแดงและเต็มไปด้วยตุ่มพุพองเล็ก ๆ ที่ภายในมีของเหลวสีขาวหรือเหลือง มักพบบริเวณใบหน้า รักแร้ และขาหนีบก่อนจะเริ่มลามไปทั่ว อาจมีอาการบวมที่ใบหน้าร่วมด้วย ทั้งนี้การเกิดผื่นชนิดนี้กว่า 90% เป็นผลจากปฏิกิริยาการแพ้ยาโดยเฉพาะกลุ่มยาต้านจุลชีพ (Beta Lactam Antibiotics) เช่น เพนิซิลลิน (Penicillins) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) และควิโนโลน (Quinolones)
  • ผื่นชนิด Erythema multiforme เป็นปฏิกิริยาของภาวะภูมิแพ้ (Hypersensitivity Reaction) ที่กระตุ้นโดยการติดเชื้อเอชเอสวี (HSV) ผู้ป่วยจะมีลักษณะของรอยโรคคล้ายเป้ายิงธนูปรากฏบนผิวหนังซึ่งการอักเสบอาจพบในชั้นเยื่อบุผิวด้วย การติดเชื้อไวรัสนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะระหว่าง 20-40 ปี และทุกเชื้อชาติ
  • การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแบบฉับพลัน ซึ่งเป็นการติดเชื้อขั้นต้นของไวรัสเอชไอวี มีลักษณะเป็นตุ่มคันตามตัวที่แขนและขา (Pruritic Papular Eruption: PPE)

การวินิจฉัยไข้ออกผื่น

อาการผื่นธรรมดาบางชนิดแพทย์จะวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจดูประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย หรือตรวจสอบอาการเบื้องต้น อันดับแรกคือการตรวจลักษณะผื่นแล้วจึงสอบถามถึงอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น ระยะนี้ผู้ป่วยได้ใกล้ชิดกับคนป่วยคนอื่น ๆ หรือไม่ หรือคำถามเกี่ยวกับอาการที่ผู้ป่วยกำลังประสบ จากนั้นแพทย์จะตรวจดูต่อมน้ำเหลืองว่าพองโตผิดปกติหรือไม่ และในผู้ป่วยเด็ก บางกรณีต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อค้นหาการติดเชื้อไวรัส

ในขณะเดียวกันหากผื่นบางชนิดมีลักษณะผิดแปลกไปจากผื่นแบบธรรมดา การวินิจฉัยอาจต้องตรวจเจาะลึกลงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บตัวอย่างด้วยการใช้สำลีหรือผ้าก็อซที่บริเวณลำคอ รู จมูก หรือที่บริเวณผื่นคันในกรณีที่ผื่นมีตุ่มของเหลวเกิดขึ้นร่วมด้วย เพื่อนำไปใช้ตรวจหาเชื้อต่อไป

แต่ในกรณีที่ไข้ออกผื่นลามขึ้นอย่างรุนแรง อาจต้องตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ทางเคมีชีววิทยาในห้องปฎิบัติการ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในระหว่างช่วงที่ภูมิต้านทานลด หรือใช้ยากดภูมิต้านทาน เช่น การเพาะเชื้อไวรัสการตรวจเลือดเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อ  

การรักษาไข้ออกผื่น

การรักษาไข้ออกผื่นทำได้ทั้งจากการดูแลรักษาที่บ้าน รวมทั้งการรักษาด้วยยาที่ซื้อเองจากร้านขายยาหรือการจ่ายยาโดยแพทย์

การรักษาไข้ออกผื่นที่บ้าน

ไข้ออกผื่นสามารถบรรเทาอาการโดยเบื้องต้นด้วยตนเองที่บ้าน การรักษาอาการไข้ออกผื่นในผู้ป่วยวัยเด็ก ทำได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยควรอยู่ในที่อากาศเย็น เพราะเหงื่อจากอากาศร้อนอาจทำให้รู้สึกคันขึ้นมาได้
  • ควรหมั่นตัดและทำความสะอาดเล็บมืออยู่เสมอ
  • ใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคในการล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ทาคาลาไมน์โลชั่นเพื่อลดอาการคัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยห้ามรับประทานยาชนิดนี้ และควรอ่านฉลากให้ดีก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

การรักษาไข้ออกผื่นด้วยการใช้ยาที่จำหน่ายตามร้านขายยาหรือการรักษาด้วยแพทย์

ในกรณีที่แพทย์รักษาไข้ออกผื่น อาจใช้วิธีที่แตกต่างกันตามลักษณะอาการที่ปรากฏซึ่งโดยมากจะเป็นการจ่ายยาบรรเทาอาการ ได้แก่

  • ยาประเภทช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ยาลดการติดเชื้อ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด หรือยาทาบรรเทาอาการคันที่ผิวหนัง
  • ยาเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้ลดอาการบวม ลดไข้ และอาการปวด  อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการใช้ยาเอ็นเสด เพราะการใช้ยาแก้ปวดอักเสบอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับไตสำหรับผู้ป่วยบางราย  การใช้ยาเอ็นเสดไม่ใช้กับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี หากไม่ได้รับการแนะนำจากแพทย์
  • ก่อนการใช้ยากับผู้ป่วยวัยเด็กทุกครั้งควรตรวจดูรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน หากฉลากยามีส่วนผสมของแอสไพริน อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เนื่องจากแอสไพรินอาจส่งผลกับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยอาจเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสมองและตับ

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ออกผื่น

ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ออกผื่นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การเกิดผื่นลุกลาม หรือผื่นจากเชื้อแบคทีเรียระดับทุติยภูมิซึ่งเกิดจากการเกา นอกจากนี้ เชื้อไข้ออกผื่นบางชนิดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แต่พบได้น้อย อย่างเช่น โรคหัด โรคอีสุกอีใส หรือโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) อาการที่พบได้ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ความผิดปกติทางสมอง

การป้องกันไข้ออกผื่น

ผู้ป่วยสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดไข้ออกผื่นได้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • การได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนตั้งแต่วัยทารก เช่น วัคซีนโรคหัด หัดเยอรมัน (Rubella) อีสุกอีใส และคางทูม (Mumps) เป็นต้น จะช่วยให้โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสลดลง
  • การระมัดระวังป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยการหมั่นล้างทำความสะอาดมือ ปิดปากทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม
  • การแยกตัวผู้ป่วยจากคนอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยเด็กอาจให้หยุดเรียนและอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้อื่น หรือแม้แต่การไม่ใช้แก้วน้ำดื่มร่วมกัน
  • ผู้ป่วยควรระมัดระวังพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สำหรับการป้องกันการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ