อีริทิมา มัลติฟอร์เม (Erythema Multiforme)

ความหมาย อีริทิมา มัลติฟอร์เม (Erythema Multiforme)

Erythema Multiforme (อีริทิมา มัลติฟอร์เม) คือ โรคทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นรอยผื่นที่มีตุ่มตรงกลางและผื่นนูนเป็นวงกลมล้อมรอบคล้ายเป้ายิงธนู โดยอาจมีสาเหตุมาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการถูกกระตุ้นจากปัจจัยบางอย่างมากเกินไป เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือการใช้ยาบางชนิด 

ผู้ที่มีอาการทางผิวหนังจาก Erythema Multiforme ส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20–40 ปี โดยแต่ละคนจะมีอาการความรุนแรงแตกต่างกันไป ซึ่งโดยส่วนมากมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ในบางกรณี รอยผื่นดังกล่าวและการติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้

อีริทิมา มัลติฟอร์เม (Erythema Multiforme)

อาการของ Erythema Multiforme

โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการทางผิวหนังจาก Erythema Multiforme มักไม่มีอาการใด ๆ นอกจากรอยผื่นสีแดงขนาดเล็ก ซึ่งมักเริ่มเกิดบริเวณมือและเท้า ก่อนจะแพร่กระจายไปตามแขน ขา และจะพบได้มากที่สุดบริเวณใบหน้า คอ และลำตัว โดยในบางกรณีอาจพบอาการคันเล็กน้อยและแสบร้อนร่วมด้วย นอกจากนี้อาจพบว่ารอยผื่นบางบริเวณมีลักษณะกระจุกตัวกันหรือเกาะรวมกันเป็นกลุ่ม เช่น บริเวณข้อศอก หรือหัวเข่า เป็นต้น

หลังจากเกิดผื่นดังกล่าวประมาณ 3 วัน ผื่นจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและแบ่งเป็นชั้นคล้ายเป้ายิงธนู โดยจะมีลักษณะเป็นรอยสีแดงคล้ำ ซึ่งอาจพุพองหรือตกสะเก็ด ล้อมรอบด้วยรอยสีชมพูและสีแดงที่แบ่งเป็นชั้นชัดเจน แต่ในบางกรณีอาจพบรอยผื่นมีลักษณะต่างไป เช่น มีขอบไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ผื่นดังกล่าวอาจเกิดในบริเวณใกล้เคียงกันจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และส่งผลให้รู้สึกเจ็บแสบ หรือปวดผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ได้

ในกรณีรุนแรงอาจพบอาการต่าง ๆ อย่างไข้ขึ้น หนาวสั่น อ่อนเพลีย หรือปวดตามข้อ และพบรอยผื่นขึ้นที่เยื่อบุบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างริมฝีปาก ภายในช่องปาก ลิ้น เหงือก รอบดวงตา อวัยวะเพศ รูทวาร หลอดลม และทางเดินอาหาร โดยริมฝีปากและภายในช่องปากจะเป็นบริเวณที่พบได้บ่อย ซึ่งหากแผลพุพองบริเวณดังกล่าวแตก อาจส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณรอบ ๆ และกลืนอาหารลำบาก

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการทางผิวหนังจาก Erythema Multiforme อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือเกิดรอยแผลจากการถูกกระตุ้นได้มากกว่าคนทั่วไป

หากพบอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาทันที เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงได้ 

สาเหตุของ Erythema Multiforme

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดรอยผื่นลักษณะคล้ายเป้ายิงธนู หรือ Erythema Multiforme แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ผิวหนังถูกทำลายจากการตอบสนองที่มากเกินไปของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น

  • เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยเชื้อที่พบได้บ่อย ได้แก่ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) หรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเริม เชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา (Mycoplasma Bacteria)
  • ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) กลุ่มยาซัลฟา (Sulfonamides) ยากันชัก ยาชาหรือยาสลบ และยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มอื่น

นอกจากนี้ในบางกรณีที่พบได้น้อย Erythema Multiforme อาจถูกกระตุ้นจากการฉีดวัคซีนบางชนิด อย่างวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และวัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap)

การวินิจฉัย Erythema Multiforme

ในการวินิจฉัย Erythema Multiforme แพทย์จะตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่นและสอบถามอาการความผิดปกติของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กระตุ้นให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดผื่นเกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยเพื่อดูการตอบสนองของร่างกาย (Koebner’s phenomenon) ตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) หรือตรวจการติดเชื้อบางชนิดที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดโรค

การรักษา Erythema Multiforme

โดยทั่วไปอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย Erythema Multiforme มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2–3 สัปดาห์ แต่หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้น เช่น

  • การติดเชื้อ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยา โดยชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับการติดเชื้อของผู้ป่วย เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ชนิดรับประทาน สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียไมโคพลาสมา เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด หากมีความเป็นไปได้ว่าอาการของผู้ป่วยถูกกระตุ้นจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจแนะนำให้หยุดรับประทานยาดังกล่าว

ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการอื่น ๆ อย่างอาการคัน ปวด หรือผิวหนังอักเสบ แพทย์จึงอาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • รับประทานยากลุ่มต้านฮิสตามีน หรือทาครีมที่มีสารช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือทำแผลเพื่อบรรเทาอาการปวดจากการติดเชื้อ
  • ทายาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่บรรเทาอาการปวดในช่องปาก
  • รับประทานอาหารเหลว หรืออาจให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยรับประทานอาหารลำบากจากแผลในช่องปากหรือริมฝีปาก
  • รับประทานยาสเตียรอยด์ชนิดเม็ด เพื่อควบคุมการอักเสบ
  • ใช้ยาหยอดตา หรือครีมขี้ผึ้ง หากผู้ป่วยมีผื่นขึ้นบริเวณรอบดวงตา

ในกรณีรุนแรงแพทย์จะรักษาอาการหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ภาวะบวมน้ำ (Edema) หรือภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จากผื่นที่ขึ้นบริเวณหลอดลม หรือทางเดินอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยบางคนอาจเกิด Erythema Multiforme ซ้ำอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่าอาการของผู้ป่วยอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส และให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัส อย่างยาอะไซโคลเวียร์ ติดต่อกันประมาณ 6 เดือน หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจเลือกยาต้านไวรัสชนิดอื่นแทน อย่างยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) หรือยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)

ภาวะแทรกซ้อนของ Erythema Multiforme

โดยทั่วไปอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย Erythema Multiforme มักหายได้เองโดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นหรือส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

  • ผิวหนังเกิดรอยแผลเป็น
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
  • อวัยวะภายในเกิดการอักเสบ เช่น ปอด ตับ
  • ดวงตามีความผิดปกติอย่างถาวร
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis)
  • ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)

การป้องกัน Erythema Multiforme

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิด Erythema Multiforme การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้น อย่างการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เช่น

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และมีประโยชน์ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรง
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน หรือมีดโกนหนวด
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • เมื่อเกิดแผล ควรรักษาความสะอาด ปกคลุมแผลให้มิดชิด และไม่ควรแกะเกาแผลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติการเกิด Erythema Multiforme ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยาใด ๆ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกกระตุ้นให้เกิดโรคมากกว่าปกติ