ไข้กระต่าย (Tularemia)

ความหมาย ไข้กระต่าย (Tularemia)

(Tularemia) โรคทูลารีเมีย หรือไข้กระต่าย เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella Tularensis) มักส่งผลต่อผิวหนัง ตา ปอด และต่อมน้ำเหลือง โดยโรคนี้มักติดต่อกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะกระต่าย สัตว์ที่ใช้ฟันแทะ นกหรือแกะ รวมถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว อีกทั้งสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้หลากหลายทาง เช่น สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ถูกแมลงเห็บและเหลือบกวางกัด หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันไปตามบริเวณที่มีการติดเชื้อ และแม้ว่าโรคนี้อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยก็สามารถหายเป็นปกติได้

ไข้กระต่าย

อาการของไข้กระต่าย

Tularemia มีระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงอาการออกมาภายใน 3-5 วัน หลังการติดเชื้อ ทั้งนี้ ลักษณะอาการที่ปรากฏอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของ Tularemia โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยนั้นติดเชื้อได้อย่างไรและเกิดการติดเชื้อที่บริเวณใด ดังนี้

Ulceroglandular Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดมีแผลที่ผิวหนังและต่อมน้ำเหลืองบวม

เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด มักติดเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือโดนสัตว์อย่างเห็บและเหลือบกวางกัด โดยอาจมีสัญญาณและอาการ เช่น แผลที่ผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ อาการบวมและเจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองโดยเฉพาะบริเวณรักแร้และขาหนีบ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย เป็นต้น

Glandular Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดต่อมน้ำเหลืองบวม

มีอาการคล้ายไข้กระต่ายชนิดแผลที่ผิวหนังและต่อมน้ำเหลือง แต่ไม่มีแผลที่ผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งอาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว รวมถึงถูกเห็บหรือเหลือบกวางที่ติดเชื้อกัดอีกด้วย

Oculoglandular Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดตาอักเสบและต่อมน้ำเหลืองบวม

เป็นประเภทที่ส่งผลต่อดวงตา โดยอาจเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อที่ตายแล้วนำมือมาเช็ดตาโดยที่ไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ส่งผลให้เกิดอาการปวดตา ระคายเคืองตา ตาอักเสบ ตาแดง ตาบวมและมีขี้ตา มีแผลที่ด้านในของเปลือกตา ตาไวต่อแสง และต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าใบหูบวม  

Oropharyngeal Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดคอหอยส่วนบนอักเสบ

เป็นประเภทที่ส่งผลต่อปาก คอ และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บคอ แผลในปาก อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ ต่อมทอนซิลอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม

Pneumonic Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดปอดบวม

เป็นประเภทที่รุนแรงที่สุด ซึ่งเกิดจากการสูดดมฝุ่นหรือละอองที่มีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่เข้าไป หรือ Tularemia ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาแพร่กระจายไปสู่ปอด รวมถึงเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปสู่ปอด โดยอาจทำให้เกิดสัญญาณและอาการของโรคปอดบวมอย่างไอแห้ง เจ็บหน้าอก และหายใจลำบากได้

Typhoidal Tularemia หรือไข้กระต่ายชนิดไข้ไทฟอยด์

เป็นประเภทที่รุนแรงและพบได้ยาก โดยประเภทนี้จะรวมอาการทั่ว ๆ ไปของ Tularemia ซึ่งไม่มีตำแหน่งเฉพาะเจาะจงว่าจะเกิดขึ้นบริเวณใดไว้ด้วยกันอย่างมีไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลียอย่างรุนแรง อาเจียนและท้องเสีย ม้ามโต ตับโต และปอดบวม

สาเหตุของไข้กระต่าย

Tularemia เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วไม่ใช่โรคที่เกิดในคนและไม่พบการติดต่อจากคนไปสู่คนด้วยกันเอง แต่มักส่งผลต่อสัตว์อย่างกระต่าย สัตว์ที่ใช้ฟันแทะ แกะ นก รวมถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวอีกด้วย โดยโรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอาจมีแนวโน้มในการติดเชื้อมากขึ้นได้ ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิสสามารถอาศัยอยู่ในดิน ในน้ำ หรือในสัตว์ที่ตายแล้วได้นานเป็นสัปดาห์ คนจึงอาจเสี่ยงต่อการรับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้จากหลาย ๆ ทางดังต่อไปนี้

  • ถูกแมลงกัดโดยเฉพาะเห็บหรือเหลือบกวาง
  • สัมผัสกับผิวหนังหรือขนของสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว
  • สูดดมแบคทีเรียในอากาศที่มาจากดินในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างทำสวนหรือก่อสร้าง
  • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างอาหารที่ยังไม่สุกหรือน้ำที่ยังไม่ผ่านการบำบัด

อย่างไรก็ตาม คนทุกวัยอาจป่วยเป็น Tularemia ได้ โดยคนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคชนิดนี้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา แม็กซิโก ญี่ปุ่น และทวีปยุโรป ผู้ที่ชื่นชอบการล่าสัตว์หรือวางกับดัก ผู้ที่ทำสวนหรือจัดสวน ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือประกอบอาชีพสัตวแพทย์ เป็นต้น

การวินิจฉัยไข้กระต่าย

Tularemia เป็นโรคที่พบได้น้อยและมีลักษณะอาการคล้ายกันกับโรคอื่น ๆ จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัยและอาจทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดได้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากถูกเห็บหรือเหลือบกวางกัด หรือเคยสัมผัสกับสัตว์ที่ตายแล้ว อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์และเก็บตัวอย่างเลือดหรือเสมหะ เพื่อนำไปกระตุ้นให้เชื้อเจริญเติบโตแล้วตรวจว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิสจริงหรือไม่ ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อตรวจดูสัญญาณของอาการปอดบวมอีกด้วย  

การรักษาไข้กระต่าย

แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา Tularemia ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 10-21 วัน ขึ้นอยู่กับระยะของอาการป่วยของผู้ป่วยแต่ละคนและยาที่นำมาใช้ โดยมีรูปแบบยาทั้งยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดดำและยารับประทาน เช่น ยาสเตรปโตมัยซิน ยาเจนตามัยซิน ยาด็อกซีไซคลิน ยาไซโปรฟลอกซาซิน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างปอดบวมหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจต้องเข้ารับรักษาไปด้วย โดยทั่วไปหากผู้ป่วยเคยเป็น Tularemia มาแล้ว ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรค แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้  

ภาวะแทรกซ้อนของไข้กระต่าย

หากผู้ป่วย Tularemia ไม่เข้ารับการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะในผู้ป่วย Tularemia ชนิดปอดบวมและชนิดไข้ไทฟอยด์ อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นอาการบวมและระคายเคืองบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ โดยอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในระดับไม่รุนแรงอาจดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มที่หุ้มรอบสมองและไขสันหลังที่รุนแรงและบางครั้งก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้เกิดการอักเสบและบวมในบริเวณดังกล่าว และมีอาการอื่น ๆ ตามมาอย่างปวดศีรษะ คอแข็ง และมีไข้

ปอดบวม เป็นอาการปอดติดเชื้อและเกิดภาวะอักเสบที่อาจนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว เนื่องจากออกซิเจนในปอดมีไม่เพียงพอ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ในปอดมีมากเกินไปหรือเกิดจากทั้ง 2 สาเหตุรวมกัน

นอกจากนี้ Tularemia ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างกระดูกอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาวะที่มักเกิดหลังการติดเชื้อในกระแสเลือด ตับและม้ามโต ไตวาย หรืออวัยวะที่สำคัญส่วนอื่นล้มเหลวอีกด้วย

การป้องกันไข้กระต่าย

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่นำมาใช้ป้องกัน Tularemia อย่างเป็นทางการ ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงอาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • รักษาสุขอนามัยที่ดีด้วยการปรุงอาหารให้สุกก่อนการรับประทานทุกครั้ง หรือดื่มน้ำที่สะอาดและปลอดภัยจากแหล่งน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว
  • สวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมผิวหนังอย่างเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว โดยอาจสอดขากางเกงเข้าไปในถุงเท้า รวมถึงสวมหมวกปีกกว้าง เพื่อป้องกันเห็บหรือยุงกัดที่ใบหน้าและคอ
  • สวมถุงมือก่อนการสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะกระต่าย หนู กระรอก และสัตว์ประเภทใช้ฟันแทะอื่น ๆ หากใช้มือเปล่าสัมผัสกับสัตว์โดยตรงก็ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่น
  • สวมหน้ากากป้องกันหากต้องตัดหญ้า ขุดดินหรือถอนวัชพืช เพื่อลดความเสี่ยงในการสูดดมละอองที่อาจมีแบคทีเรียปะปนอยู่
  • กำจัดเห็บที่อาจติดอยู่ตามผิวหนังหรือเสื้อผ้าด้วยแหนบปลายแหลม
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่แมลง ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสม โดยผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากและใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ หลังการใช้ควรล้างออกตามข้อแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงออกไปในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการตรวจตราหรือเข้าใกล้ซากสัตว์ที่ตายแล้ว อีกทั้งยังควรหมั่นตรวจดูและป้องกันเห็บหรือหมัดตามตัวสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ    

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าตนเองป่วยเป็น Tularemia รวมถึงมีไข้ แผลที่บริเวณผิวหนัง หรือต่อมน้ำเหลืองบวม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่ถูกเห็บกัดหรือสัมผัสกับสัตว์ป่าที่อยู่ในบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มาก่อน