ไขมันในช่องท้อง ตัวร้ายเบื้องหลังปัญหาสุขภาพ

ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) คือมวลไขมันที่สะสมอยู่ภายในช่องท้อง โดยภายในช่องท้องประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ตับ และตับอ่อน หากปริมาณไขมันในช่องท้องที่เพิ่มสูงขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลายโรค เช่น โรคเบาหวานและโรคมะเร็งบางชนิด

เมื่อพูดถึงไขมันสะสมหลายคนอาจคิดถึงไขมันใต้ชั้นผิวหนังที่ทำให้ดูอ้วน แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือไขมันสะสมภายในช่องท้อง เพราะไขมันสะสมชนิดนี้จะไม่ส่งผลต่อร่างกายภายนอก แต่ส่งผลต่อสุขภาพได้มากกว่า ทั้งยังทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับปัญหาไขมันในช่องท้องและมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น มาดูกันว่าไขมันในช่องท้องมาจากไหน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร และจะจัดการกับไขมันชนิดนี้อย่างไรดี

ไขมันในช่องท้อง ตัวร้ายเบื้องหลังปัญหาสุขภาพ

ไขมันในช่องท้อง อันตรายกว่าที่คิด

ปริมาณไขมันในช่องท้องที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ และในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและร้ายแรงต่อไปนี้

  • ภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคความดันสูง
  • ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ไขมันสะสมในช่องท้องนั้นอาจไม่ส่งผลต่อขนาดร่างกาย จึงทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตถึงอันตรายต่อสุขภาพซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นแบบเงียบ ๆ

ไขมันในช่องท้องมาจากไหน

ไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การได้รับไขมันมากเกินไป หรือการได้รับไขมันผิดประเภทก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อได้รับไขมันปริมาณมากเป็นประจำ โดยอาจมาจากการกินของทอด ของมัน ของหวาน หรือการกินอาหารปริมาณมาก ๆ ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกิน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันส่วนเกินสะสมได้มากขึ้น

ไขมันส่วนเกินมาจะเข้าไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งใต้ชั้นผิวหนังหรือตามเนื้อเยื่ออวัยวะ ซึ่งอวัยวะในช่องท้องก็เป็นอีกตำแหน่งที่ไขมันส่วนเกินถูกนำมาเก็บไว้ตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพื่อสำรองพลังงานไว้สำหรับยามฉุกเฉิน เช่น เมื่ออดอาหาร หรือเมื่อได้รับพลังงานไม่เพียงพอ

แต่ส่วนใหญ่สถานการณ์ที่ร่างกายจะต้องดึงไขมันส่วนเกินอย่างไขมันในช่องท้องมาใช้จะพบได้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย และผู้ที่ทำงานที่ไม่ได้ใช้แรงกายมาก

วิธีลดไขมันในช่องท้องเพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ

การลดปริมาณไขมันสะสมในร่างกายอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ โดยวิธีต่อไปนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง

1. หาค่า BMI

แม้ว่าไขมันในช่องท้องอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนแบบไขมันใต้ชั้นผิวหนัง แต่ก็สามารถวัดได้ด้วยการหาค่า BMI (Body Mass Index) หรือค่าดัชนีมวลกาย ด้วยสูตรนี้

BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วย [ความสูง (เมตร) ยกกำลัง 2]

หากค่า BMI อยู่ระหว่าง 25–29.9 แสดงว่ากำลังอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight) และหากค่า BMI อยู่ที่ 30 ขึ้นไปแสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วน (Obese) ซึ่งทั้งสองระดับนี้อาจเป็นสัญญาณการมีปริมาณไขมันสะสมจำนวนมาก

สำหรับผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอว 35 นิ้วขึ้นไป และผู้ชายที่มีเส้นรอบเอว 40 นิ้วขึ้นไปก็อาจจัดอยู่ในภาวะอ้วนหรือมีไขมันสะสมจำนวนมากด้วยเช่นกัน

หากพบว่าตัวเองตรงกับเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ค่า BMI และการวัดขนาดเส้นรอบเอวอาจไม่เหมาะกับการคำนวณในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

2. ปรับเปลี่ยนอาหาร

ในการที่จะลดไขมันในช่องท้อง ลดน้ำหนักตัว และลดไขมันให้ประสบความสำเร็จได้นั้น การปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมการกินมีผลอย่างมาก

ขั้นแรกอาจเริ่มจากการลดของหวาน น้ำหวาน ของมัน ของทอด และอาหารแปรรูป ขั้นที่สองคือเปลี่ยนไปกินอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายประเภท เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เนื้อปลา และผักผลไม้ ขั้นที่สามคือการควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

นอกจากนี้ ควรหาความรู้เกี่ยวกับการเลือกอาหารและการอ่านฉลากอาหารเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

3. หันมาออกกำลังกาย

การออกกำลังกายทุกรูปแบบจะช่วยดึงพลังงานมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ การเล่นเวทเทรนนิ่ง หรือการเล่นกีฬา ยิ่งหากทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจะยิ่งช่วยให้เห็นผลลัพธ์ได้เร็วขึ้น สำหรับการลดปริมาณไขมันสะสมอย่างไขมันในช่องท้อง ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30–60 นาทีทุกวัน

ในช่วงแรกไม่ควรหักโหมมากเกินไป ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ ง่าย ๆ แล้วค่อยเพิ่มความเข้มข้นและระยะเวลาในการออกกำลังกาย ส่วนคนที่มีโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก และโรคความดันสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

หากใครไม่สะดวกออกกำลังกาย ควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การใช้บันไดแทนลิฟต์ การทำงานบ้าน การทำสวน การพาสุนัขไปเดินเล่น หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น

4. ดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม

นอกเหนือจากวิธีข้างต้นแล้ว การดูแลตนเองด้วยวิธีอื่น ๆ อาจช่วยให้ร่างกายดึงไขมันในช่องท้องและไขมันสะสมประเภทอื่น ๆ มาใช้ได้มากขึ้น และยังอาจลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วย เช่น

  • การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • การลดและเลิกบุหรี่
  • การลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การใส่ใจสุขภาพจิตเพื่อผ่อนคลายความเครียด
  • การปรับมุมมองการในดูแลสุขภาพ โดยเน้นการดูแลในระยะยาวแทนการหวังผลในระยะสั้น

หากปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้ได้ก็อาจช่วยลดปริมาณไขมันในช่องท้อง ลดน้ำหนักตัว และช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก อาจพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและขอคำแนะนำเพิ่มเติม