โรคเรื้อน (Leprosy)

ความหมาย โรคเรื้อน (Leprosy)

โรคเรื้อน (Leprosy หรือ Hansen's Disease) เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางเยื่อของเหลวที่ติดเชื้ออย่างน้ำมูกและน้ำลาย ผ่านการไอ จาม หรือการพูดคุยในระยะประชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการทางผิวหนัง กล้ามเนื้อ และตามปลายประสาทต่าง ๆ เช่น มีแผล ผื่นแดงหรือสีจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความรู้สึกลดลง หากอาการรุนแรงอาจตาบอดและเป็นอัมพาตได้

แม้ว่าโรคเรื้อนจึงนับเป็นโรคที่ได้รับการดูแลจัดการได้ค่อนข้างดี และไม่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่ยังคงเป็นโรคติดต่อสำคัญที่เกิดขึ้นและถูกบันทึกในประวัติศาสตร์มายาวนาน จึงนับเป็นหนึ่งในโรคที่ควรเฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถเข้ารับการรักษาอย่างทันการณ์หากสังเกตพบอาการที่เป็นสัญญาณของโรค

โรคเรื้อน

อาการของโรคเรื้อน

แม้จะเป็นโรคที่มีลักษณะเด่น แต่กว่าอาการแสดงของโรคเรื้อนจะปรากฏอาจใช้เวลายาวนานหลายปีหลังการติดเชื้อ เนื่องจากแบคทีเรียที่ก่อโรคมีการแพร่กระจายและเพิ่มจำนวนอย่างช้า ๆ โดยอาการเหล่านั้น ได้แก่

  • เกิดแผลนูนแดง หรือตุ่มแดง หรือเกิดเป็นด่าง เป็นผื่น ซึ่งมีสีจางกว่าสีของผิวหนัง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฝ่อลีบ
  • ประสาทสัมผัสที่ผิวหนังไม่รับรู้ หรือรับความรู้สึกได้ลดลง เช่น รู้สึกถึงอุณหภูมิ หรือรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดที่ผิวหนังลดน้อยลง
  • อวัยวะส่วนปลายประสาทชา หรือไม่มีความรู้สึก เช่น มือ เท้า แขน หรือขา
  • ผมหรือขนหลุดร่วง เช่น ขนบริเวณคิ้ว
  • ตาแห้ง กระพริบตาน้อยลง
  • ระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ถูกทำลาย
  • รูปลักษณ์ภายนอกและใบหน้าเสียโฉม เช่น เนื้อจมูกถูกทำลายจนเสียรูปร่าง นิ้วมือนิ้วเท้างอ หรือกุดด้วน
  • ประสาทตาถูกทำลาย จนอาจทำให้ตาบอด 

สาเหตุของโรคเรื้อน

โรคเรื้อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ ไมโครแบคทีเรียม เลเปร (Mycobacterium Leprae) ที่แพร่กระจายติดต่อจากเยื่อของเหลวที่ติดเชื้ออย่างน้ำมูกและน้ำลายผ่านการไอ จาม หรือการพูดคุยในระยะประชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เนื้อเยื่อ และระบบทางเดินหายใจส่วนบน  

โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 26.7–30 องศาเซลเซียส ดังนั้น บริเวณเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายส่วนที่มีอุณภูมิต่ำจึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อและพัฒนาโรคได้ดี เมื่อได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะค่อย ๆ แพร่กระจายอย่างช้า ๆ และมีระยะฟักตัวยาวนานสูงสุดกว่า 5 ปี จึงทำให้อาการของโรคยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด จนอาจเริ่มมีอาการแสดงเมื่อมีการติดเชื้อไปแล้วเป็นปี ๆ

การวินิจฉัยโรคเรื้อน

หากพบอาการที่เป็นสัญญาณป่วยของโรคเรื้อน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา แพทย์จะซักถามอาการและทำการตรวจร่างกาย จากนั้น แพทย์อาจทดสอบประสาทสัมผัสบริเวณผิวหนังด้วยการกดเบา ๆ หรือใช้เข็มจิ้มไปบนผิวหนังจุดต่าง ๆ เพื่อตรวจประสาทรับความรู้สึกของผู้ป่วย

การวินิจฉัยโรคเรื้อนเบื้องต้นตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เป็นการตรวจดูบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย ดังนี้

  1. ตรวจพบรอยโรคที่มีลักษณะเฉพาะของโรคเรื้อน
  1. ตรวจพบอาการชาข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

2.1 ชาที่รอยโรคผิวหนัง

2.2 ชาที่ผิวหนังบริเวณที่รับความรู้สึกจากเส้นประสาทส่วนปลายที่ถูกทำลายโดยเชื้อโรคเรื้อน

  1. ตรวจพบเส้นประสาทโต
  1. ตรวจพบเชื้อรูปแท่งติดสีทนกรด (Acid Fast Bacilli) จากการกรีดผิวหนัง (Slit Skin Smear)

หากพบอาการแสดงอย่างน้อย 2 ข้อ จาก 3 ข้อแรก หรือพบข้อ 4 เพียงข้อเดียว ให้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน

การรักษาโรคเรื้อน

โรคเรื้อนเป็นการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาจึงเป็นการจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อต้านเชื้อ กำจัดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาตามสมควรแก่อาการป่วยและลักษณะของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะมากกว่าหนึ่งชนิดเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย และผู้ป่วยต้องใช้ยาภายใต้การดูแลและคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ ปริมาณยาและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดของยาแต่ละประเภท แต่โดยรวมแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างน้อยประมาณ 6-12 เดือนขึ้นไป

ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน เช่น

นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาต้านอาการอักเสบอย่างแอสไพริน เพรดนิโซน (Prednisone) หรือทาลิโดไมด์ (Thalidomide) แต่หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรืออาจตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาลิโดไมด์ เพราะอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อน

หากผู้ป่วยรู้ตัวช้า หรือมีตรวจพบการป่วยโรคเรื้อนช้า โรคเรื้อนไม่ได้รับการรักษา หรือเข้ารับการรักษาช้าเกินไป อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้นได้ เช่น

  • เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง แผลติดเชื้ออักเสบรุนแรงหรือลุกลาม
  • รูปร่างเสียโฉม เช่น ผมร่วง ขนตาหรือขนคิ้วร่วงหลุด เนื้อจมูกเสียหายผิดรูปร่าง
  • อวัยวะเสียหาย เช่น นิ้วมือนิ้วเท้างอ หรือกุด
  • ม่านตาอักเสบ ประสาทตาถูกทำลาย เป็นต้อหิน หรือตาบอด
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ประสบภาวะมีบุตรยาก
  • ประสาทแขนขาถูกทำลาย หรือเป็นอัมพาต
  • ไตวาย 

การป้องกันโรคเรื้อน

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่จะป้องกันการเกิดโรคเรื้อนได้ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เผชิญกับโรคเรื้อน จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการได้รับเชื้อโดยตรง ซึ่งได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสมูกของเหลว อย่างน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโรคเรื้อน และระมัดระวังในการพูดคุยกับผู้ป่วยโรคนี้ในระยะประชิด
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน ควรป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นต่อไปได้ เช่น ปิดปากและจมูกในขณะไอหรือจาม รับประทานยาและรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

แม้โรคเรื้อนจะเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ แต่หากผู้ป่วยโรคเรื้อนได้รับการรักษาควบคุมอาการอย่างสม่ำเสมอ ตัวยาจะกำจัดเชื้อสำคัญที่สามารถติดต่อสู่กันได้และผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาแพร่เชื้อได้อีก ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่อยู่ภายใต้การรักษาสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามแนวทางการรักษาภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจนกว่าจะหายป่วยจากโรค