โรคมือเท้าปากในเด็ก รับมืออย่างไร ?

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในเด็กเล็ก อาการคือมีไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ แต่การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ อาจช่วยให้พ่อแม่รู้จักวิธีดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้นจนหายเป็นปกติในเร็ววัน

โรคมือเท้าปาก

วิธีบรรเทาอาการเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก

รักษาแผลในปาก

คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ลิโดเคน เจล ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ หรือซาลิไซเลตโคลีน เจล ยาช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลในปาก โดยแต้มลงบนบริเวณที่เป็นแผลหรือหยอดในปาก นอกจากนี้ อาจใช้ยารูปแบบสเปรย์ เช่น ยาเบนไซดามีน พ่นในปากสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หากลูกน้อยโตพอที่จะบ้วนปากเองได้ อาจให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก

ดูแลไม่ให้ลูกมีไข้สูง

ไข้สูงอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว ควรให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดแผลในปากได้ โดยให้ยาตามปริมาณที่เหมาะสมกับอายุของเด็กซึ่งระบุไว้บนฉลาก และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าบาง ๆ โดยเฉพาะผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศและความร้อนได้ดี ทำให้เด็กรู้สึกสบายตัวขณะสวมใส่ นอกจากนี้ ควรเปิดหน้าต่างหรือพัดลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากลูกน้อยยังมีไข้ พ่อแม่ควรเช็ดตัวให้ด้วยน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่น เพื่อไข้จะได้ลดลงและรู้สึกสบายตัวขึ้น

เตรียมอาหารสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก

เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก มักมีแผลอักเสบในปาก บนลิ้น และในลำคอ ทำให้เจ็บปวดเมื่อกลืนอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารอ่อน ๆ ง่ายต่อการกลืน และไม่ต้องเคี้ยวมาก เช่น ซุป ข้าวต้ม มันบด หรือโยเกิร์ต เป็นต้น นอกจากนี้ ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายและป้องกันภาวะขาดน้ำ รวมถึงอาจให้กินไอศกรีมแท่ง ดื่มน้ำเย็น ๆ เช่น นมแช่เย็น หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก และช่วยให้ลูกน้อยกินอาหารและดืื่มน้ำได้สะดวกมากขึ้น

หากเด็กรู้สึกเจ็บปวดมากขณะกินหรือกลืนอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารร้อน รสเค็มหรือเผ็ด และอาหารที่เป็นกรด เช่น ส้ม มะนาว โซดา หรือน้ำอัดลม เป็นต้น นอกจากนี้ ควรล้างและเช็ดทำความสะอาดปากของลูกน้อยด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังมื้ออาหาร

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

แม้โรคมือเท้าปากพบได้มากในเด็ก และอาการจะดีขึ้นเองจนผู้ป่วยฟื้นตัวภายใน 10 วัน แต่หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลใจถึงแผลอักเสบภายในปาก และตุ่มพองที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ รวมถึงฝ่าเท้าของลูกน้อย อาจไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ และหากอาการป่วยของลูกไม่ดีขึ้นภายใน 7-10 วัน โดยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น ชักเกร็ง เกิดภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือพบว่าลูกมีอาการซึมลง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคมือเท้าปากจะกลับมาป่วยซ้ำได้หรือไม่ ?

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่กลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยอาจเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์อื่น ๆ แม้ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันไวรัสบางชนิดจากโรคหวัดได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ุอื่นที่ทำให้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากได้  

เมื่อป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก เด็กสามารถไปโรงเรียนได้หรือไม่ ?

หากลูกป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรงดไปโรงเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก อย่างไรก็ตาม การแยกเด็กจากให้พักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเชื้อไวรัสยังคงอยู่ในอุจจาระนานหลายสัปดาห์ และแพร่กระจายได้แม้เด็กจะไม่มีอาการของโรคแล้วก็ตาม

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปากแพร่กระจายในเด็ก

ผู้ปกครองควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนอาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ แล้วจึงค่อยให้เด็กไปโรงเรียน โดยพ่อแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์หากไม่แน่ใจว่าลูกกลับไปเรียนได้ตามปกติหรือยัง และในระหว่างนี้ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเพื่อน ๆ อย่างใกล้ชิด ให้เด็กหมั่นล้างมือ ไม่ขยี้ตาหรือปาก รวมทั้งให้ลูกดื่มน้ำสะอาด กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อนส้อม จาน ชาม แก้วน้ำ และขวดนม นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กกิน หากผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าของเด็กเปื้อนอุจจาระ ควรรีบซักทำความสะอาดทันที หากสัมผัสหรือเช็ดทำความสะอาดน้ำมูกน้ำลายเด็ก ต้องรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เนื่องจากเชื้อไวรัสแพร่กระจายผ่านทางของเหลวในร่างกายและอุจจาระได้