Infective Endocarditis

ความหมาย Infective Endocarditis

Infective Endocarditis หรือโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ เป็นการอักเสบจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ โดยผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่ก่อนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจได้สูงกว่าคนทั่วไป

โรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางแผลตามร่างกาย การรักษาโรคนี้มีตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะไปจนถึงการผ่าตัดขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ โรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการของโรคอยู่เสมอ

Infective Endocarditis

อาการของ Infective Endocarditis

อาการโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของเชื้อโรค รวมถึงโรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย โดยอาจแสดงอาการแบบฉับพลันหรือค่อย ๆ แสดงอาการออกมา ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไข้หนาวสั่น ไอเจ็บคอ เหนื่อยอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ เหงื่อออกตอนกลางคืนหรือขณะนอนหลับ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ หายใจไม่อิ่ม มีอาการบวมบริเวณเท้า ขา และหน้าท้อง เป็นต้น

นอกจากนี้ โรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจก็อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ แต่มักพบได้น้อย เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะปนเลือดหรือสีของปัสสาวะผิดปกติ เจ็บใต้ชายโครงด้านซ้ายเนื่องจากม้ามผิดปกติ จุดแดงบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าเมื่อกดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ (Janeway lesions) จุดแดงบริเวณนิ้วมือนิ้วเท้าเมื่อกดแล้วจะรู้สึกเจ็บ (Osler's nodes) จุดสีม่วงหรือแดงบริเวณตาขาว ช่องปาก และผิวหนัง (Petechiae) เป็นต้น หากมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่หัวใจบกพร่องหรือมีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจ

สาเหตุของ Infective Endocarditis

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุหัวใจ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นในสุดของห้องหัวใจและลิ้นหัวใ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อราหรือเชื้อจุลชีพอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ตามร่างกายได้เช่นกัน 

เชื้อโรคเหล่านี้อาจเข้าสู่กระแสเลือดผ่านตามรอยแผลตามร่างกาย โดยอาจเกิดจากการแปรงฟัน การรับประทานอาหาร การเจาะร่างกาย การสัก การฉีดสารเสพติด การทำทันตกรรม และการสอดท่อ (Catheter) นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงของโรคนี้เพิ่มขึ้น

การวินิจฉัย Infective Endocarditis

แพทย์จะทำการซักประวัติความเจ็บป่วยและอาการของคนไข้ รวมทั้งตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติของภาวะดังกล่าว อย่างการกดใต้ชายโครงด้านซ้าย เพื่อตรวจสอบอาการม้ามโตที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรค แต่ด้วยอาการของโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจนั้นเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในหลายโรค แพทย์จึงอาจตรวจเพิ่มด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ตรวจเลือด
    แพทย์จะทำการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) เพื่อค้นหาการติดเชื้อและความผิดปกติของเม็ดเลือดที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคที่สงสัย รวมถึงอาจส่งตรวจหาชนิดของเชื้อก่อโรคในผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยและวางแผนให้การรักษา
  • ตรวจหัวใจ
    ในเบื้องต้นแพทย์อาจใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจหาเสียงฟู่ที่หัวใจหรือเสียงของหัวใจที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยแพทย์อาจตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยวิธี Electrocardiogram ที่เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติด้านโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ
  • การฉายภาพรังสี
    แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในการสร้างภาพจำลองของหัวใจและอวัยวะข้างเคียงเพื่อตรวจหาร่องรอยของโรคและผลกระทบในอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ช่องอก และสมอง เป็นต้น

การรักษา Infective Endocarditis

ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวน ผ่านทางหลอดเลือดดำเป็นเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค หลังผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต่อเนื่องและนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะ ๆ 

ในกรณีที่ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลหรือลิ้นหัวใจได้รับความเสียหายอย่างหนัก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อขจัดรอยโรคจากการติดเชื้อหรือทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ทั้งนี้ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการทรุดลงระหว่างการรักษา เช่น มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ ขาบวม หรือหายใจลำบาก ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ภาวะแทรกซ้อน Infective Endocarditis

โรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณหัวใจและอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น ลิ้นหัวใจเสียหาย ภาวะหัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันในปอด โรคหลอดเลือดสมอง เกิดอาการชัก อัมพาต ม้ามโต ไตวาย และเกิดฝีในอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกัน Infective Endocarditis

การป้องกันมุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ลดพฤติกรรมเสี่ยง
    ควรลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสักหรือการเจาะผิวหนังตามร่างกาย เป็นต้น
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
    ควรหมั่นสังเกตอาการ อย่างไข้เรื้อรัง ผิวหนังติดเชื้อ อาการเหนื่อยล้า แผลหายช้าผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อทำตรวจอย่างละเอียด