โรคซึมเศร้ากับความดันโลหิตสูง เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?

หลังจากมีงานวิจัยขนาดเล็กชี้ว่า โรคซึมเศร้าอาจมีความสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้หลายคนสงสัยว่าโรคเหล่านี้เกี่ยวข้องกันจริงหรือไม่ และมีวิธีป้องกันอย่างไร มาหาคำตอบได้ในบทความนี้

1455 โรคซึมเศร้า ความดัน Resized

โรคซึมเศร้ากับภาวะความดันโลหิตสูงเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?

มีความเป็นไปได้ว่าปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว ทว่าในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า โรคซึมเศร้ามีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระยะยาวได้

ส่วนงานวิจัยที่กล่าวว่า โรคซึมเศร้าอาจสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงนั้น ผู้วิจัยเองก็ได้ให้เหตุผลว่าอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา โดยคาดว่ายาที่ใช้รักษาควบคุมความดันโลหิตอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์และเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ แต่ผลกระทบดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย และการศึกษานี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการใช้ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงมีความเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

โรคซึมเศร้าและความดันโลหิตสูง ป้องกันได้อย่างไร ?

เพื่อป้องกันผลกระทบจากการใช้ยาซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและภาวะความดันโลหิตสูงควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจว่ายาที่ใช้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และหากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยา ควรรีบแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ หากยารักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ป่วย แพทย์อาจปรับลดปริมาณยาหรือให้หยุดใช้ยา แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงดังกล่าวได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าร่วมด้วย เพื่อให้สภาวะอารมณ์กลับมาเป็นปกติ ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับภาวะซึมเศร้า ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่

เมื่อไรควรไปพบแพทย์ ?

หากพบว่ายาที่ใช้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์จนเกิดภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยควรรีบแจ้งแพทย์ทันที และไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากกว่าเดิม