โรคคิดว่าตัวเองป่วย (Hypochondriasis)

ความหมาย โรคคิดว่าตัวเองป่วย (Hypochondriasis)

Hypochondriasis หรือโรคคิดว่าตัวเองป่วย เป็นความผิดปกติที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลและตื่นตัวต่อความผิดปกติด้านสุขภาพของตนเองมากเกินไป คิดว่าตนเองป่วยด้วยโรคร้ายแรงแม้ไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือเกิดความผิดปกติทั่ว ๆ ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ผู้ป่วยอาจเกิดความวิตกกังวลเนื่องจากรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย การหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตหรือมีสมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลคล้ายกัน ซึ่งอาการของ Hypochondriasis สามารถรักษาได้ด้วยยการทำจิตบำบัด การใช้ยา และการดูแลตนเองเบื้องต้น

hypochondriasis

อาการของ Hypochondriasis 

ผู้ป่วย Hypochondriasis จะมีอาการวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าตนเองป่วยขั้นรุนแรงแม้จะเป็นเพียงอาการทั่วไปของร่างกาย และหากรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเจ็บป่วยจะเกิดอาการวิตกกังวลได้ง่าย โดยผู้ป่วยมักแสดงลักษณะอาการต่อไป

  • กังวลมากกว่าปกติเกี่ยวกับอาการที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเล็กน้อย
  • กังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับอาการหรือความเสี่ยงของการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่พบในครอบครัว
  • ตื่นตัวเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของตนเอง
  • พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
  • หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการหรือโรคที่อาจเกิดขึ้น
  • ไม่วางใจในข้อมูลหรือผลตรวจที่ได้จากการพบแพทย์
  • ความกังวลที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความสัมผัสต่อครอบครัวและคนรอบข้าง 
  • ตรวจสุขภาพร่างกายบ่อย
  • หลีกเลี่ยงการพบแพทย์เนื่องจากกลัวผลการตรวจ
  • มีความกังวลเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนโดยอาจเป็นความกังวลในโรคหลายอย่าง
  • กลัวการเจ็บป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยโรคอื่น
  • หลีกเลี่ยงสถานที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ จึงควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรค Hypochondriasis แพทย์จะส่งต่อให้ผู้ป่วยทำการรักษากับจิตแพทย์

สาเหตุของ Hypochondriasis 

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของ Hypochondriasis อย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่พบว่าเป็นอาการเรื้อรังที่เริ่มขึ้นในวัยกลางคนและอาการมักจะแย่ลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยอาจเป็นผลมาการได้รับความรุนแรงหรืออาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงในวัยเด็กจนอาจนำไปสู่ความกังลในภายหลัง มีความเชื่อจากข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และสมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลคล้ายกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิด Hypochondriasis ได้มากขึ้น เช่น มีผู้ปกครองหรือญาติเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ผ่านการเผชิญหน้ากับความเครียดหรือปัญหาใหญ่ในชีวิต เคยเจ็บป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงแต่มีอาการที่ไม่รุนแรง มีแนวโน้มที่จะมีนิสัยชอบกังวลและค้นหาข้อมูลสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตมากเกินไป เป็นต้น

การวินิจฉัย Hypochondriasis 

แพทย์จะวินิจฉัย Hypochondriasis จากการพูดคุยกับผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความใกล้ชิดถึงช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการ ความรุนแรง และความถี่ของอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจร่างกาย หากพบความผิดปกติหรืออาการป่วยที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษา แพทย์จะวางแผนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางภาพถ่าย และส่งต่อการรักษาให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชต่อไป

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญอาจประเมินทางจิตวิทยาเพื่อพูดคุยถึงผลกระทบจากอาการที่เกิดขึ้น ความกลัวหรือความกังวล สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดและประวัติครอบครัว ให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามหรือทำแบบประเมินตนเอง สอบถามประวัติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาหรือสารเสพติดของผู้ป่วย หรือพิจารณาอาการว่าเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชด้านอื่น ๆ หรือไม่ อย่างภาวะโซมาติก (Somatic Symptom Disorder: SSD) หรือภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) เป็นต้น

การรักษา Hypochondriasis 

แพทย์จะรักษา Hypochondriasis โดยมุ่งไปในการจัดการความวิตกกังวลด้านสุขภาพและทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ดังนี้

การทำจิตบำบัด (Psychotherapy)

การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นหนึ่งในวิธีการทำจิตบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการรักษา Hypochondriasis ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ทักษะในการรับมือปัญหา จัดการปัญหา กำจัดความกังวลที่เกิดขึ้น รู้จักกับความกลัวและความเชื่อของตนเอง ตระหนักถึงผลกระทบจากพฤติกรรมและปรับความคิดที่ทำลายสุขภาพ ลดพฤติกรรมการตรวจสุขภาพร่างกายที่บ่อยเกินไปและอาจช่วยให้ระบุได้ว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติด้านจิตเวชอื่น ๆ หรือไม่ 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การจัดการความเครียดทางพฤติกรรม (Behavioral Stress Management) และการบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว (Exposure Therapy) เป็นต้น

การรักษาโดยการใช้ยา

หากผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอาการที่ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลอื่น ๆ แพทย์อาจจ่ายยาต้านเศร้าในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRIs) หรือยาต้านเศร้ากลุ่มอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา   

การดูแลตนเอง

นอกเหนือจากการทำจิตบำบัดและการใช้ยา ผู้ป่วยควรดูแลตนเองตามวิธีต่อไปนี้

  • ให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการพูดคุยถึงอาการและการรักษาอย่างตรงไปตรงมา 
  • หลีกเลี่ยงการปรึกษากับแพทย์หลายท่านและการเข้าห้องฉุกเฉิน
  • บำบัดความเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายด้วยการคลายกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นทีละส่วน (Progressive Muscle Relaxation) 
  • ทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อลดความวิตกกังวล และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย
  • หลีกเลี่ยงการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนและความวิตกกังวล
  • จดบันทึกความถี่ในการหาข้อมูลด้านสุขภาพ การตรวจเช็คร่างกายหรือการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ และลดความถี่ในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นกับความวิตกกังวลด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ทำงาน ในสังคมและครอบครัว เช่น เดินเล่น พูดคุยกับเพื่อน หรือการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Hypochondriasis 

Hypochondriasis ไม่ใช่โรครุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยใช้ยาเกินขนาด เข้ารับการตรวจบ่อยเกินไป ได้รับผลข้างเคียงจากการตรวจรักษา มีปัญหาด้านการเงิน กระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์เนื่องจากความวิตกกังวล หรืออาจเกิดความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ เช่น ภาวะโซมาติก ภาวะวิตกกังวล บุคลิกภาพผิดปกติ ภาวะซึมเศร้า หากมีอาการร่วมกับภาวะซึมเศร้าอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

การป้องกัน Hypochondriasis 

Hypochondriasis เป็นโรคที่เกิดอย่างเรื้อรัง การเรียนรู้ในการสังเกตเมื่อเกิดความเครียดและหาวิธีบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกายอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคลงได้ หากมีความกังวลถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อยับยั้งอาการไม่ให้ทรุดหนักจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด