แพ้ไข่

ความหมาย แพ้ไข่

แพ้ไข่ (Egg Allergy) เป็นอาการแพ้อาหารชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ โดยอาจทำให้เกิดลมพิษ มีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง คัดจมูก อาเจียน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ในบางกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ ผู้ที่แพ้ไข่อาจแสดงอาการตั้งแต่อยู่ในวัยทารก และส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติก่อนเข้าสู่วัยรุ่น

แพ้ไข่

อาการแพ้ไข่

อาการแพ้ไข่มีลักษณะคล้ายกับอาการแพ้อื่น ๆ โดยผู้ที่มีอาการแพ้ไข่อาจแสดงอาการหลังจากที่รับประทานไข่เพียงไม่กี่นาทีจนถึงเป็นชั่วโมง ซึ่งอาการและความรุนแรงของอาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้ที่แพ้ไข่อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการทางผิวหนัง เช่น อาการบวม ลมพิษ ผื่นแดง หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
  • อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงหลอดลมตีบแคบคล้ายกับผู้ป่วยโรคหืด เช่น ไอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น
  • อาการคล้ายโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล จาม หรือมีอาการคัดจมูก เป็นต้น
  • อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น
  • น้ำตาไหล คันตา หรือตาบวม
  • เวียนศีรษะ หรือเป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว

โดยผู้ที่มีอาการแพ้ไข่อย่างรุนแรงอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอก เช่น หายใจลำบากเนื่องจากการหดตัวของทางเดินหายใจหรืออาการบวมบริเวณลำคอ ชีพจรเต้นเร็ว เป็นต้น นอกจากนี้ ปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะช็อกได้ เนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างมาก ซึ่งอาจมีผลทำให้มีอาการเวียนศีรษะ หรือหมดสติ และอาจมีอันตรายถึงชีวิต

สำหรับเด็กที่มีอาการแพ้ไข่มักแสดงอาการตั้งแต่อายุยังน้อย โดยอาจมีอาการแพ้รุนแรงที่สุดในช่วงอายุประมาณ 6 ถึง 15 เดือน ซึ่งเด็กอาจเกิดปฏิกิริยาของผิวหนังหลังการสัมผัส มีอาการหน้าแดง หรือเกิดลมพิษบริเวณรอบปาก

สาเหตุของอาการแพ้ไข่

อาการแพ้ไข่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าใจผิดว่าโปรตีนบางชนิดในไข่เป็นสิ่งที่ก่ออันตรายต่อร่างกายจนทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮิสตามีนและสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ โดยทั้งไข่แดงและไข่ขาวมีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่อาการแพ้ไข่ขาวอาจพบได้บ่อยกว่า นอกจากนี้ โปรตีนจากไข่อาจส่งผ่านทางน้ำนมจนทำให้ทารกที่ดื่มนมแม่เกิดอาการแพ้ได้

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่ออาการแพ้ไข่มากกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหารหรือเป็นโรคหืด ไข้ละอองฟาง ลมพิษ หรือผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ อาการแพ้ไข่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อมีอายุมากขึ้น ระบบทางเดินอาหารจะเจริญเต็มที่ จึงทำให้มีโอกาสเกิดอาการแพ้อาหารน้อยกว่าเด็ก

การวินิจฉัยอาการแพ้ไข่

ในการวินิจฉัยอาการแพ้ไข่ แพทย์อาจตรวจประเมินโดยดูจากประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การงดรับประทานไข่และติดตามการรับประทานอาหาร แพทย์อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกรายละเอียดของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน รวมทั้งให้ผู้ป่วยงดรับประทานไข่หรืออาหารบางชนิด เพื่อดูว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้นหรือไม่
  • การทดสอบโดยให้รับประทานไข่ในปริมาณเล็กน้อย เพื่อดูว่าเกิดปฏิกิริยาใด ๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการแพ้หรือไม่ หากไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น แพทย์อาจให้รับประทานไข่ในปริมาณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทดสอบด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการทดสอบด้วยวิธีนี้จะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • การทดสอบทางผิวหนัง แพทย์จะนำโปรตีนจากไข่เพียงปริมาณเล็กน้อยมาวางไว้ที่ผิวหนังของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะใช้ปลายเข็มสะกิดบริเวณผิวหนัง หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ไข่ ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีตุ่มนูนแดงปรากฏขึ้นมาภายในเวลาประมาณ 15 นาที
  • การตรววจเลือด เป็นวิธีที่ใช้วัดการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโดยการตรวจดูแอนติบอดีในกระแสเลือดที่อาจบ่งบอกถึงอาการแพ้ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีบุตรหลานที่แพ้ไข่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการเข้ารับการตรวจอาการแพ้ไข่อยู่เสมอว่าเด็กยังมีอาการแพ้ไข่อยู่หรือไม่ และไม่ควรทดสอบอาการแพ้ของเด็กด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงมาก่อน

การรักษาอาการแพ้ไข่

วิธีรักษาอาการแพ้ไข่ที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ แต่ในบางกรณี ผู้ที่แพ้ไข่บางรายก็สามารถรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ที่ผ่านการปรุงสุกอย่างขนมอบได้โดยไม่เกิดอาการแพ้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่โดยที่ไม่รู้ตัว ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

การใช้ยาในกลุ่มต้านฮิสตามีน ใช้บรรเทาอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้ทันทีหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ โดยยาต้านฮิสตามีนส่วนใหญ่เป็นยาหาซื้อได้เองจากร้านขายยา แต่ก็มียาบางชนิดที่ต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้ไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันอาการแพ้ไข่หรือปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงได้

การฉีดยาอิพิเนฟริน ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องฉีดยาอิพิเนฟรินในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง และอาจต้องเข้าพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนแน่ใจว่าอาการแพ้จะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องพกยาอิพิเนฟรินในรูปแบบปากกาสำหรับฉีดยาให้ตนเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยควรทราบวิธีใช้ที่ถูกต้องและอธิบายให้บุคคลใกล้ชิดเกี่ยวกับวิธีการใช้ รวมทั้งตรวจสอบวันหมดอายุของยาอย่างสม่ำเสมอและเปลี่ยนปากกาสำหรับฉีดยาอิพิเนฟรินเมื่อยาหมดอายุ

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังจากรับประทานไข่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของไข่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้ไข่

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดของอาการแพ้ไข่คือปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และฉีดยาเอพิเนฟรินเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ไข่ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพ้อื่น ๆ เช่น แพ้อาหารบางชนิดอย่างนม ถั่วลิสง หรือถั่วเหลือง แพ้ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ไรฝุ่น หรือละอองเกสร ปฏิกิริยาภูมิแพ้ทางผิวหนังอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมทั้งโรคหืดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการแพ้ไข่หรืออาหารชนิดอื่น ๆ อย่างรุนแรงได้ เป็นต้น

การป้องกันอาการแพ้ไข่

ผู้ที่แพ้ไข่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ควรอ่านฉลากอาหารอย่างละเอียดก่อนบริโภค เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของไข่
  • ระมัดระวังตนเองเมื่อต้องรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ควรแจ้งให้ทางร้านทราบถึงอาการแพ้ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารที่สั่งไม่มีส่วนผสมของไข่
  • ผู้ที่มีประวัติเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงควรมีสิ่งที่ช่วยเตือนให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองแพ้อาหารอย่างสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือที่แจ้งรายละเอียดอาการและวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะผู้ป่วยอาจไม่สามารถสื่อสารได้เมื่อเกิดอาการแพ้
  • ผู้ที่มีบุตรหลานที่แพ้ไข่ควรแจ้งให้คนรอบข้างของเด็กทราบว่าเด็กมีอาการแพ้ไข่ เพื่อไม่ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่โดยไม่รู้ตัว และควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีรับมือเมื่อเด็กมีอาการแพ้ไข่ เพื่อรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
  • สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้ไข่ เนื่องจากโปรตีนจากไข่อาจส่งผ่านทางน้ำนมจนทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ได้