เฮเซลนัท ของว่างบำรุงสุขภาพ

เฮเซลนัท เป็นของว่างแสนอร่อยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมายอย่างวิตามินอีหรือแมงกานีส โดยกล่าวกันว่าน้ำมันที่สกัดจากถั่วชนิดนี้อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ อีกทั้งการรับประทานเฮเซลนัทยังอาจช่วยรักษาและป้องกันการเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างโรคหัวใจหรืออาการอักเสบ รวมถึงลดระดับน้ำตาลในเลือดและอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย

เฮเซลนัท

คุณค่าทางโภชนาการของเฮเซลนัท

สารอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของเฮเซลนัทที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ คือ สารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีประเภทหนึ่ง โดยจะประกอบไปด้วยสารที่มีประโยชน์อีกหลากหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ กรดฟีโนลิค และ โปรแอนโทไซยานิดีน เป็นต้น และแม้ว่าเฮเซลนัทจะมีแคลอรี่สูง แต่ก็เป็นแหล่งรวมแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ โดยมีทั้งวิตามินบี 6 โฟเลต ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และสังกะสี นอกจากนั้น ยังอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 6 และกรดไขมันโอเมก้า 9 อย่างกรดโอเลอิก ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้เป็นไขมันชนิดดีที่อาจช่วยลดไขมันชนิดไม่ดีได้

เฮเซลนัทมีสารโภชนาการที่ทำให้เชื่อว่าเฮเซลนัทนั้นอาจดีต่อสุขภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงมีคุณสมบัติที่อาจต้านโรคได้ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของเฮเซลนั้นไว้ ดังนี้

ลดคอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอลถือเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง และยังพบได้ในอาหารบางประเภท โดยจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่หากมีระดับคอเลสเตอรอลมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมองได้

โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยภาวะไขมันสูงรับประทานเฮเซลนัทมีเปลือกและเฮเซลนัทกะเทาะเปลือก หลังใช้เวลา 8 สัปดาห์ ในการศึกษา พบว่า การบริโภคเฮเซลนัทอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)  อีกทั้งยังไปเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และกรดไขมันบางชนิดโดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะไขมันสูงในเด็กและวัยรุ่น

และยังมีงานค้นคว้าจำนวนหนึ่งในมนุษย์เกี่ยวกับคุณสมบัติของเฮเซลนัทที่มีผลต่อไขมันในเลือด พบว่า การบริโภคเฮเซลนัทอาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ เนื่องจากมีกรดไขมันที่อาจป้องกันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในการทำปฏิกิริยากับสารบางชนิดจนเกิดอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้ อาหารที่อุดมไปด้วยเฮเซลนัทยังอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอลชนิดไม่ดี และมีแนวโน้มว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมอีกด้วย  

แม้ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเฮเซลนัทอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้  แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาในระยะสั้น จึงควรมีการวิจัยในระยะยาวเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะคอเลสเตอรอลสูงก็เป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทำได้จากหลากหลายวิธี เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ควบคุมการรับประทานอาหาร เป็นต้น

ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการเกาะของคราบไขมันบริเวณหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหนาและอุดตันจนไปปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกายได้ 

มีผลการศึกษาค้นคว้าจากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี แสดงให้เห็นว่า การบริโภคเฮเซลนัทอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่เกิดขึ้นหลังมื้ออาหารได้ เช่น ไขมันชนิดไม่ดี อาการอักเสบ และความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากอนุมูลอิสระ เป็นต้น

อีกทั้งเฮเซลนัทยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ หรือก็คือโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจ ซึ่งสามารถแยกย่อยได้อีกหลายโรคอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจนั่นเอง 

จากงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองให้ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงในระดับที่ไม่รุนแรงรับประทานผงเฮเซลนัท เฮเซลนัทแบบแผ่น และเฮเซลนัทเต็มเมล็ดในปริมาณที่เท่ากัน หลังรับประทานไปแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่า เฮเซลนัททั้ง 3 รูปแบบอาจช่วยเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีและลดปริมาณไขมันชนิดไม่ดี จึงกล่าวได้ว่าการบริโภคเฮเซลนัทเป็นอาหารอาจมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ 

นอกจากนี้ การบริโภคอาหารที่มีเฮเซลนัทยังส่งผลดีต่อผู้บริโภค โดยอาจไปช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง จากการค้นคว้าทดลองที่ให้ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเฮเซลนัท ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยมีการทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดที่ดีขึ้น ค่าความอักเสบในเลือดและปริมาณไขมันชนิดไม่ดีลดลง และยังมีปริมาณไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้นอีกด้วยเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ได้บริโภคเฮเซลนัท 

ดังนั้น การรับประทานเฮเซลนัทก็อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาคุณสมบัติของเฮเซลนัทในผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างมนุษย์ที่หลากหลายเพื่อยืนยันผลลัพธ์ดังกล่าวต่อไป

ลดระดับน้ำตาลในเลือด 

น้ำตาลในเลือดสูงหรือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมากกว่าปกติมักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นหลัก และยังพบได้ในผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบ กลุ่มอาการคุชชิง เนื้องอกบางชนิดที่ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ มะเร็งตับอ่อน การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น 

แม้จะมีการศึกษาในมนุษย์หลาย ๆ ชิ้นเผยว่า การบริโภคถั่วเฮเซลนัทบ่อย ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยจะไปเสริมสร้างการทำงานในร่างกาย ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว อีกทั้งยังส่งผลให้เยื่อบุหลอดเลือดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย แต่การค้นคว้าเหล่านี้เป็นการทดลองเฮเซลนัทในปริมาณที่น้อย ผลลัพธ์จึงไม่เพียงพอต่อการยืนยันประสิทธิภาพของถั่วชนิดนี้ได้ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาวิจัยเฮเซลนัทในปริมาณมากในอนาคต

สารต้านอนุมูลอิสระ 

สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอื่น ๆ ของผู้สูงอายุ เป็นต้น 

ซึ่งการค้นคว้าต่าง ๆ ทั้งในมนุษย์และในหลอดทดลองเผยว่า ถั่วเปลือกแข็งอย่างเฮเซลนัทมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างสารพฤษเคมี (Phytochemicals) หรือก็คือสารตามธรรมชาติที่พบได้ในพืชผักผลไม้อันมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ เฮเซลนัทจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยอาจต้านทานความเสียหายจากอนุมูลอิสระได้นั่นเเอง อย่างไรก็ตาม ควรมีการวิจัยเพื่อรับรองประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระของเฮเซลนัทเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากผลข้างเคียงต่าง ๆ และมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกันได้

ลดอัตราการเป็นมะเร็ง 

มะเร็งนั้นเกิดจากเซลล์ที่มีความผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้เจริญเติบโตจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย และอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณโดยรอบได้ ซึ่งหากตรวจพบได้ช้าและมีอาการรุนแรงก็เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

มีข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า การบริโภคถั่วอย่างเฮเซลนัทอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุมดลูก และมะเร็งตับอ่อนได้ เนื่องจากเฮเซลนัทมีกรดไขมันชนิดดีอย่างกรดโอเลอิก ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสารป้องกันมะเร็งนั่นเอง ทั้งนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเฮเซลนัทและมะเร็งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันคุณสมบัติของเฮเซลนัทในการป้องกันมะเร็งแต่ละชนิดให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนั้น เฮเซลนัทยังอาจนำมาใช้เพื่อการรักษา และป้องกันโรคหรือภาวะอื่น ๆ แต่ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของเฮเซลหากต้องการใช้เป็นยารักษานั่นเอง

การบริโภคเฮเซลนัทอย่างปลอดภัย

โดยทั่วไป หลายคนสามารถรับประทานเฮเซลนัทได้โดยไม่เกิดอันตรายใด ๆ หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถสรุปได้ว่าเฮเซลนัทมีสรรพคุณในการต้านโรคหรือลดความเสี่ยงของภาวะต่าง ๆ ได้จริง ดังนั้น หากต้องการรับประทานเพื่อหวังผลทางการรักษาก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะเฮเซลนัทอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการได้

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ควรบริโภคเฮเซลนัทด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การรับประทานเฮเซลนัทจากอาหารมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วลิสง ถั่วบราซิล หรือถั่วแมคคาเดเมีย อาจมีอาการแพ้เฮเซลนัทได้เช่นกัน และอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ สัญญาณอาการของปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่รุนแรงอย่างเฉียบพลันอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ภายในไม่กี่นาที แต่บางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมงได้ หากรับประทานเฮเซลนัทแล้วมีสัญญาณอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น เช่น มีอาการคัน ผื่น ตุ่มแดงบนผิวหนัง ผิวหนังแดง ไอ หายใจลำบากหรือหายใจผิดปกติ มีเสียงหวีดขณะหายใจ คันในลำคอหรือริมฝีปาก กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เวียนศีรษะ เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ใจสั่น แน่นหน้าอก จิตใจสับสน อ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นแรง สูญเสียสติสัมปชัญญะ และหมดสติ เป็นต้น ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน