เอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin)

เอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin)

Empagliflozin (เอ็มพากลิโฟลซิน) เป็นยาที่แพทย์ใช้สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยแพทย์อาจใช้ยานี้เพียงชนิดเดียว ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย หรืออาจใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ใช้ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย หรือใช้ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือการเกิดอาการรุนแรงในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย 

เอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin)

เกี่ยวกับยา Empagliflozin

กลุ่มยา กลุ่มยายับยั้งตัวขนส่งโซเดียม-กลูโคส 2 (SGLT-2 inhibitors)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Empagliflozin

คำเตือนในการใช้ยา Empagliflozin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยา Empagliflozin รวมถึงหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาขับปัสสาวะ และยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังป่วยหรือมีประวัติป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น ติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเกี่ยวกับตับอ่อน โรคไต โรคตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังเป็นไข้ อยู่ระหว่างการบาดเจ็บ มีการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติต่าง ๆ เพราะอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยานี้
  • ยา Empagliflozin เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 หรือผู้ป่วยเบาหวานที่พบภาวะแทรกซ้อนเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) ได้ ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรงหรืออยู่ในช่วงฟอกไตไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีระดับน้ำตาลและสารคีโตนในปัสสาวะสูงไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ชายที่ไม่เคยขลิบหนังหุ้มปลายควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มักรับประทานอาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และผู้ที่อายุเกิน 85 ปี
  • ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยานี้ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี  ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุอาจตอบสนองต่อยาได้ไว และเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • การใช้ยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะหรืออาจเป็นลมได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยานี้เป็นครั้งแรก ดังนั้น ขณะใช้ยานี้ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว หรือการเปลี่ยนท่าทางจากการนั่งหรือนอนเร็วเกินไป 
  • ผู้ที่กำลังใช้ยานี้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อนการผ่าตัดหรือทำฟัน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ และแจ้งให้แพทย์ทราบหากดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ห้ามให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ไม่ควรใช้ยานี้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบหากเข้ารับการตรวจรักษาใด ๆ เนื่องจากยา Empagliflozin อาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจทางการแพทย์บางชนิด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลและสารคีโตนในปัสสาวะ

ปริมาณการใช้ยา Empagliflozin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ตัวอย่างการใช้ยา Empagliflozin เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ผู้ใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นของการรักษา แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง จากนั้นแพทย์อาจพิจารณาเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็นวันละ 25 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ระหว่างใช้ยานี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน

การใช้ยา Empagliflozin

ผู้ที่ใช้ยา Empagliflozin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากการรับประทานยานี้ให้เห็นผลต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างที่ใช้ยานี้แพทย์อาจนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจการตอบสนองต่อยาและสัญญาณผิดปกติต่าง ๆ เป็นระยะ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

ยา Empagliflozin เป็นยาที่สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบหากลืมรับประทานยาบ่อยครั้ง

สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยเก็บให้พ้นมือเด็ก หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น และไม่ควรใช้ยาหากยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Empagliflozin

การใช้ยา Empagliflozin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น อาการกระหายน้ำ ผื่นขึ้นเล็กน้อย ปัสสาวะบ่อย โดยผู้สูงอายุจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น รวมถึงอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือในกรณีผู้หญิงอาจพบอาการคันช่องคลอด และมีตกขาวมากผิดปกติ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการในข้างต้นไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ป่วยยังอาจพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น เวียนศีรษะ มือสั่น อยากอาหารผิดปกติ หรือเหงื่อออกมาก โดยอาจใช้เครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อยืนยัน  ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้โดยการรับประทานน้ำหวานหรือน้ำตาลปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรืออาจเลือกของหวานชนิดอื่น เช่น น้ำผลไม้ประมาณครึ่งแก้ว หรือน้ำผึ้งประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ

หลังจากนั้นประมาณ 15 นาทีให้วัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง หากระดับน้ำตาลในเลือดยังต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้ปฏิบัติตามวิธีข้างต้นซ้ำ ทั้งนี้ หากค่าน้ำตาลในเลือดยังไม่ดีขึ้นหลังจากปฏิบัติตามวิธีข้างต้นครบ 2 ครั้ง ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการผิดปกติบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น

  • สัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ กลืนอาหารลำบาก หรือหายใจลำบาก
  • สัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลงผิดปกติ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกสับสน
  • สัญญาณของภาวะเลือดเป็นกรด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบาก ง่วงซึม หรือรู้สึกสับสน 
  • สัญญาณของการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ เช่น มีไข้ มีตกขาวมากผิดปกติ อวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักเกิดอาการปวด บวม แดง แสบร้อน คัน และมีกลิ่นเหม็น 
  • สัญญาณของการติดเชื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เช่น รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะปนเลือด หรือรู้สึกปวดหลังและบริเวณเชิงกราน
  • อาการอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม เบื่ออาหาร