เอ็นข้อมืออักเสบ

ความหมาย เอ็นข้อมืออักเสบ

เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Disease, De Quervain’s Tenosynovitis) เป็นโรคที่เกิดจากการบวมและอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณเอ็นข้อมือใกล้กับบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะเวลาที่ขยับข้อมือ กำมือ หรือหยิบจับสิ่งของ บางครั้งอาจปวดร้าวไปที่แขนได้

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของอาการเอ็นข้อมืออักเสบอย่างแน่ชัด แต่การใช้ข้อมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้แรงขยับข้อมือมากอาจทำให้อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้นได้ เช่น การทำสวน การเล่นกีฬาบางประเภท อย่างกอล์ฟหรือเทนนิส การอุ้มทารก การยกของหนัก เป็นต้น

2531-เอ็นข้อมืออักเสบ

อาการเอ็นข้อมืออักเสบ

การอักเสบบริเวณเอ็นข้อมืออาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณใกล้กับโคนนิ้วหัวแม่มือ โดยอาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นเฉียบพลันหรือเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ 
  • มีการอักเสบของเอ็น ทำให้บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือบวม  
  • รู้สึกตึง ติดขัด ขยับนิ้วหัวแม่มือและข้อมือได้ลำบาก

หากปล่อยอาการทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาการเจ็บปวดอาจลามไปภายในนิ้วหัวแม่มือหรือบริเวณปลายแขน ซึ่งจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อต้องหยิบจับสิ่งของหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยังคงรู้สึกเจ็บปวด อาการดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

สาเหตุของเอ็นข้อมืออักเสบ

เอ็น (Tendons) มีโครงสร้างคล้ายเชือก มีหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกเข้าด้วยกัน โดยเอ็นสองเส้นหลักบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือถูกห่อหุ้มด้วยปลอกเยื่อหุ้มเอ็นที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์เล็ก ๆ การใช้แรงข้อมืออย่างหนักซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาและบวมขึ้น ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดเมื่อเกิดการเสียดสีของปลอกเยื่อหุ้มเอ็นและเอ็น ขยับข้อมือทำได้จำกัด และเกิดอาการปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อมือ

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เอ็นข้อมือเกิดการอักเสบ ได้แก่

  • ผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าคนในช่วงอายุอื่น และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • การได้รับบาดเจ็บโดยตรงที่บริเวณข้อมือหรือเอ็นทำให้เกิดแผลเป็นบริเวณเนื้อเยื่อ ซึ่งทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้ยากกว่าปกติ
  • อาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงข้อมือเป็นประจำ เช่น นักจัดสวน นักกีฬากอล์ฟ เทนนิสหรือแบดมินตัน ผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เป็นต้น
  • ภาวะตั้งครรภ์หรือผู้ที่ต้องเลี้ยงดูเด็ก การอุ้มเด็กเป็นระยะเวลานานหรือซ้ำ ๆ ทำให้ต้องใช้แรงบริเวณนิ้วหัวแม่มือและข้อมือมาก จึงอาจทำให้การอักเสบบริเวณเอ็นข้อมือได้
  • ภาวะข้ออักเสบต่าง ๆ อย่างโรครูมาตอยด์

การวินิจฉัยเอ็นข้อมืออักเสบ

แพทย์จะสอบถามอาการและสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการขึ้น และตรวจการอักเสบของเอ็นข้อมือ อย่างอาการเจ็บปวดเมื่อกดบริเวณด้านข้างของนิ้วหัวแม่มือ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธี Finkelstein Test ในการวินิจฉัยร่วมด้วยตามขั้นตอนดังนี้

  • ให้ผู้ป่วยงอนิ้วหัวแม่มือให้ชิดฝ่ามือ 
  • งอนิ้วที่เหลือลงมาทับในลักษณะกำมือ 
  • บิดข้อมือไปทางด้านนิ้วก้อย 

หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดจากการทดสอบดังกล่าวก็อาจบ่งบอกได้ว่ามีการอักเสบของเอ็นข้อมือ ทั้งนี้ เอ็นข้อมืออักเสบอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจอื่น อย่างการเอกซเรย์ เนื่องจากการตรวจอาการเบื้องต้นนั้นถือว่าเพียงพอต่อการวินิจฉัยของแพทย์

การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ

จุดมุ่งหมายของการรักษาเอ็นข้อมืออักเสบคือการลดอาการปวดและอักเสบ ทำให้เคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือได้ตามปกติ และป้องกันการเกิดอาการอักเสบของเอ็นข้อมือซ้ำในภายหลัง หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็ว อาการมักดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ ในกรณีที่คาดว่าอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ อาการอาจหายดีในช่วงใกล้คลอดหรือช่วงหลังให้นมบุตร โดยการรักษาเอ็นข้อมืออักเสบอาจใช้วิธีดังนี้

การดูแลตนเองเบื้องต้น

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้านเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบซ้ำอีกในภายหลัง เช่น 

  • ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวด
  • หลีกเลี่ยงการขยับข้อมือในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ
  • สังเกตและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ชา หรือบวมที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือและข้อมือ 
  • ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
  • สวมเฝือกหรืออุปกรณ์พยุงข้อมือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้นิ้วหัวแม่มือและข้อมือได้พักการใช้งานและลดแรงกดทับในบริเวณที่มีอาการ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยสวมอุปกรณ์พยุงข้อมือตลอดทั้งวันเป็นระยะเวลา 4-6 สัปดาห์

การรักษาด้วยการใช้ยา

เพื่อระงับอาการเจ็บปวด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่บริเวณปลอกหุ้มเอ็นข้อมือเพื่อลดอาการปวดบวม โดยการฉีดยาสเตียรอยด์ภายใน 6 เดือนหลังเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยมักมีโอกาสหายดีโดยไม่จำเป็นต้องฉีดยาซ้ำหรือเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอื่น

การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดช่วยตรวจดูการใช้งานข้อมือของผู้ป่วย พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงวิธีการใช้งานข้อมืออย่างเหมาะสมโดยไม่ให้ข้อมือทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดอาจสอนวิธีการออกกำลังกายบริหารข้อมือ มือ และแขนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวด และลดการบาดเจ็บของเอ็น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดแบบวันเดียว ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และสามารถกลับบ้านได้หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น โดยแพทย์จะทำการผ่าเปิดปลอกหุ้มเอ็นข้อมือออก เพื่อลดการกดเบียดของเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ

หลังการผ่าตัด แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะแนะนำวิธีพักการใช้งานข้อมือ การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของนิ้วหัวแม่มือและข้อมือ พร้อมทั้งปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันอาการเอ็นข้อมืออักเสบซ้ำอีกในภายหลัง 

การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจช่วยให้อาการปวดบวมดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาการกดเจ็บอาจยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน หลังจากผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อ

ภาวะแทรกซ้อนของเอ็นข้อมืออักเสบ

หากผู้ป่วยมีอาการอักเสบบริเวณเอ็นข้อมือและปล่อยให้มีอาการต่อไปโดยที่ไม่ทำการรักษา ผู้ป่วยอาจใช้งานมือและข้อมือได้ลำบากมากขึ้น หมุนหรือบิดข้อมือได้น้อยกว่าปกติ รวมทั้งส่งผลต่อการหยิบจับหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน 

การป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบ

เนื่องจากการอักเสบบริเวณเอ็นข้อมือมักเกิดจากการใช้งานข้อมืออย่างหนักซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน จึงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็นข้อมือ เช่น ยกของหนัก อุ้มเด็ก ทำสวน หรือการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก 

นอกจากนี้ การเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงแขน อย่างกอล์ฟ เทนนิส หรือแบดมินตัน อย่างหักโหมหรือเล่นติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเป็นอันตรายต่อเอ็นข้อมือได้ จึงควรปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้งานข้อมือให้เหมาะสม และอาจใช้อุปกรณ์พยุงข้อมือก็อาจช่วยป้องกันการเกิดอาการเอ็นข้อมืออักเสบได้