ขั้นตอนและความเสี่ยงของการเสริมหน้าอกที่คุณควรรู้

เสริมหน้าอกเป็นการศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากรูปแบบหนึ่ง เพราะมีกระบวนการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน สามารถเปลี่ยนหรือเลือกขนาดรูปทรงได้ตามต้องการ ปัจจุบันการเสริมหน้าอกอาจใช้ไขมันจากในร่างกายร่วมกับถุงเต้านมเทียมอย่างซิลิโคนได้

การเสริมหน้าอกเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของผู้หญิง ด้วยการเพิ่มขนาด ลดความหย่อนคล้อย ปรับเปลี่ยนรูปทรง หรือช่วยให้หน้าอกทั้งสองข้างมีขนาดเท่ากัน ซึ่งขั้นตอนและเทคนิคในการผ่าตัดจะแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบก่อนเสริมหน้าอก วิธีการเสริมหน้าอก และความเสี่ยงจากการศัลยกรรมก่อน เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยของตัวคุณ

Beautiful,Young,Woman,Measuring,Her,Breast,On,Light,Background.,Plastic

เสริมหน้าอกทำอย่างไร

การเสริมหน้าอกที่นิยมในปัจจุบันมักเป็นการเสริมด้วยถุงซิลิโคน โดยแพทย์จะวางยาสลบก่อนกรีดผิวหนังบริเวณใต้รักแร้ ใต้ราวนม หรือรอบปานนม และใส่ซิลิโคนไว้ระหว่างเนื้อเยื่อเต้านมและกล้ามเนื้อหน้าอก หรือวางไว้ด้านหลังกล้ามเนื้อหน้าอกขึ้น จากนั้นจะเย็บปิดรอยผิวหนังและทำแผล

แพทย์จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง สำหรับการผ่าตัดในแต่ละครั้ง ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล 1 คืน หรือสามารถกลับบ้านได้ในวันที่ผ่าตัด หลังผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะแนะนำขั้นตอนการดูแลตนเองและจ่ายยาแก้ปวดให้แก่ผู้เข้ารับการผ่าตัด

ในระหว่างการพักฟื้นร่างกาย ควรใช้ผ้ายืดพันแผลพันบริเวณหน้าอกหรือสวมใส่บราพิเศษเพื่อช่วยประคองให้ซิลิโคนเสริมหน้าอกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในบางรายที่มีสายระบายเลือดติดอยู่ในบริเวณที่ผ่าตัด แพทย์จะนำสายดังกล่าวออกภายในเวลาประมาณ 3 วัน

ทั้งนี้ผู้ป่วยกับแพทย์จำเป็นต้องมีการพูดคุยถึงรายละเอียดและเลือกวิธีการผ่าตัดชนิดต่าง ๆ ร่วมกันก่อนการผ่าตัดจริง วิธีการที่แพทย์ใช้เพื่อเสริมหน้าอกและการดูแลร่างกายหลังการผ่าตัดของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเทคนิคของการเสริมหน้าอกของแต่ละคน

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการเสริมหน้าอก

เสริมหน้าอกอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คุณมั่นใจในรูปร่างของตัวเองมากขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลังการผ่าตัดได้ ทั้งการติดเชื้อ เจ็บเต้านม เกิดรอยย่น รอยแผลเป็น ซิลิโคนอยู่ผิดตำแหน่ง เต้านมเทียมชิดกัน หรือภาวะนมแฝด (Symmastia) ประสาทสัมผัสบริเวณหน้าอกเปลี่ยนแปลง บริเวณที่ผ่าตัดรั่วหรือฉีกขาดจนต้องผ่าตัดเพื่อนำซิลิโคนเสริมออก นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • พังผืดหดรัด (Capsular Contracture)
    เป็นการเกิดเนื้อเยื่อพังผืดขึ้นรอบ ๆ ซิลิโคนเสริมหน้าอกซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเจ็บปวด และอาจส่งผลให้มีอาการติดเชื้อ เกิดห้อเลือดหรือมีของเหลวคั่งใต้แผลตามมาได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดหากเต้านมของผู้ป่วยมีรูปลักษณ์ที่ผิดปกติ กระชับ แข็งและเจ็บ
  • การฉีกขาดหรือแฟบลง
    ซิลิโคนเสริมหน้าอกอาจเป็นรูหรือรอยขาด สาเหตุมักมาจากการเกิดผังผืดหดรัด การกดทับขณะตรวจแมมโมแกรม ความผิดพลาดในระหว่างการผ่าตัด การตรวจชิ้นเนื้อหน้าอก หรือการระบายของเหลวบริเวณเต้านมออก เป็นต้น
  • ภาวะความเจ็บป่วยจากการใส่เต้านมเทียม (Breast Implant Illness: BII)
    เป็นภาวะผิดปกติที่จะเกิดขึ้นในผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเสริมหน้าอกหรือแก้ไขหน้าอกด้วยเต้านมเทียมทุกรูปแบบ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บตามข้อหรือกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเรื้อรัง มีปัญหาด้านความจำ การจดจ่อและการนอนหลับ หายใจลำบาก ปากแห้ง ตาแห้ง ผมร่วง ปวดหัว และระบบทางเดินอาหารอาจมีความผิดปกติร่วมด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่เสริมหน้าอกอาจมีอาการเหล่านี้หลังการผ่าตัดไม่นานหรืออาจมีอาการเกิดขึ้นหลายปีหลังผ่าตัดได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การเสริมหน้าอกยังอาจเสี่ยงต่อเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สัมพันธ์กับซิลิโคนเต้านม (BIA-ALCL) ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวมบริเวณรอบ ๆ ซิลิโคนเสริมหน้าอก ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการผิดปกติบริเวณที่เสริมหน้าอก อาทิ บวม แดง เจ็บ รูปทรงและสีของเต้านมเปลี่ยนไป

ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก

สิ่งสำคัญที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอกคือ แม้ว่าจะดูแลตนเองหลังการผ่าตัดและระหว่างพักฟื้นร่างกายเป็นอย่างดีแล้ว ภาวะแทรกซ้อนก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ นอกจากนี้ หลังการผ่าตัดเสริมหน้าอกเสร็จสิ้นแล้ว ยังอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดอื่น ๆ เพิ่มเติมภายหลัง เนื่องจากซิลิโคนที่ใช้เสริมนั้นอาจไม่สามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิต

หลังเสริมหน้าอกแล้วก็จำเป็นจะต้องคอยสังเกตความผิดปกติอยู่ตลอดอีกด้วย เนื่องจากอาการผิดปกตินี้อาจเกี่ยวข้องกับเต้านมเทียมหรือซิลิโคนเสริมหน้าอก เนื้อเยื่อรอบ ๆ ถุงเต้านมหรือซิลิโคนเสริมหน้าอกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยเร็ว

อีกทั้งหลังเสริมหน้าอกแล้ว ควรตรวจหาความผิดปกติของถุงซิลิโคนด้วยแมมโมแกรม MRI หรืออัลตราซาวด์เป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อตรวจหาการฉีกขาดของซิลิโคนจากภายใน รวมถึงควรตรวจความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเต้านมอื่น ๆ ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม เต้านมของผู้ที่เสริมหน้าอกยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตามวัย อีกทั้งการที่น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อรูปลักษณ์ของเต้านมได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หากไม่พึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็สามารถปรึกษาแพทย์อีกครั้งเพื่อเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขได้