เสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหารด้วยโพรไบโอติก

ระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหารที่เรารับประทานให้กลายเป็นสารอาหารที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งนอกจากน้ำย่อยชนิดต่าง ๆ แล้ว ในระบบทางเดินอาหารยังประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และอาจเป็นโทษ หากมีจุลินทรีย์ชนิดดีในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน

โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในระบบทางเดินอาหาร หากร่างกายเรามีชนิดที่เป็นประโยชน์และปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยช่วยยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี ช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร รวมทั้งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคหรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ หลายคนอาจสงสัยว่าโพรไบโอติกช่วยลดความเสี่ยงของโรคใด และจะได้รับโพรไบโอติกจากแหล่งใด บทความนี้มีคำตอบ

เสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหารด้วยโพรไบโอติก

โพรไบโอติกกับโรคในระบบทางเดินอาหาร

โรคและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย ดังนี้

ท้องเสีย

สาเหตุส่วนหนึ่งของอาการท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ทำให้มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ บางคนอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และอาเจียน โดยโพรไบโอติกบางสายพันธุ์อาจช่วยลดอาการท้องเสีย ลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และช่วยลดอาการท้องเสียในผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) 

จากผลการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกสายพันธุ์ L. rhamnosus GG อาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการท้องเสียจากการรับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องร่วงจากการติดเชื้อได้

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)

โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากการย่อยอาหารผิดปกติ ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งทำให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจเกิดสลับกัน อาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง อีกทั้งไม่มีวิธีรักษาได้โดยตรง แพทย์มักให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและให้รับประทานยาตามอาการ

ปัจจุบันมีการนำโพรไบโอติกมาใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งมีการศึกษาส่วนหนึ่ง พบว่าโพรไบโอติกกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และทำให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติ

โรคกระเพาะอาหาร

สาเหตุที่พบได้ค่อนข้างบ่อยของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ คือการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori) หรืออาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้มีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน การรับประทานโพรไบโอติกเป็นอีกวิธีที่อาจช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดี และยับยั้งการเติบโตของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะและการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร และพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหารปริมาณมาก การเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร การดื่มน้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ ทำให้มีอาการจุกเสียด แสบร้อนกลางอก และเรอเปรี้ยว 

การรับประทานโพรไบโอติกอาจช่วยบรรเทาอาการของกรดไหลย้อน สร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียชนิดไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น 

โรคมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ (Colorectal Cancer) อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) และการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและใยอาหารต่ำ ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย  รวมถึงการมีจุลินทรีย์ชนิดดี อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

ดูแลระบบทางเดินอาหารด้วยโพรไบโอติก

โพรไบโอติกมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร โดยช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายให้สามารถควบคุมจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในทางเดินอาหาร และผลิตเอนไซม์ที่ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณต้านการอักเสบ สร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

โพรไบโอติกพบในอาหารหลายประเภท ส่วนมากจะเป็นอาหารที่มีรสชาติเปรี้ยวหรืออาหารหมักดอง เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ คีเฟอร์ (Kefir) คอมบูชา (Kombucha) รวมทั้งโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริมหลายรูปแบบ หากเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผงจะรับประทานง่าย เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาเลือกรับประทานอาหาร โดยสามารถรับประทานเปล่า ๆ หรือผสมกับเครื่องดื่มและอาหารที่รับประทานปกติ อีกทั้งผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกบางชนิดไม่มีส่วนผสมของนมวัว จึงเหมาะกับผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่องที่ไม่สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์นมได้

นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติก (Prebiotics) ร่วมด้วย โดยพรีไบโอติกเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ใหญ่หรือโพรไบโอติกนั่นเอง อย่างเช่น ใยอาหารในผักและผลไม้ พรีไบโอติกส์จึงเปรียบเสมือนแหล่งอาหารของโพรไบโอติก และทำให้โพรไบไอติกส์เจริญเติบโตได้นั่นเอง

เสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหารด้วยโพรไบโอติก

โพรไบโอติกแต่ละสายพันธุ์ให้ประโยชน์ต่อร่างกายต่างกัน โดยสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคือ โพรไบโอติกกลุ่มแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม ดังนั้น การรับประทานโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริมควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ประกอบไปด้วยโพรไบโอติกสายพันธุ์คุณภาพที่ผ่านผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพ และผ่านการรับรองทางการแพทย์ 

อีกทั้งควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารปรุงแต่ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล แป้ง และให้พลังงานต่ำ ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก สำหรับคนที่คิดว่าตนเองได้รับโพรไบโอติกจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพออาจพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติกหลายชนิดและพรีไบโอติกส์ อย่างอินนูลิน (Inulin) ผสมอยู่ควบคู่กัน ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารได้ดียิ่งขึ้น

การรับประทานโพรไบโอติกอาจส่งผลให้ผู้ที่เริ่มรับประทานมีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด ปวดท้อง หรือขับถ่ายผิดปกติในช่วงแรก จึงควรเริ่มรับประทานทีละน้อยเสริมจากการรับประทานอาหารต่าง ๆ ตามปกติจนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้ และควรรับประทานผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกต่อเนื่อง เพื่อทดแทนจุลินทรีย์ชนิดดีที่ร่างกายอาจกำจัดออกไป 

โพรไบโอติกมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย รับประทานได้ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จุลินทรีย์ที่ดีในร่างกายมักลดลง การรับประทานโพรไบโอติกเป็นประจำอาจช่วยเสริมจุลินทรีย์ชนิดดี ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สำหรับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด และผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานโพรไบโอติกเสมอ

นอกจากการรับประทานโพรไบโอติกเพื่อเสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่และไขมันต่ำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ ซึ่งจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ตามปกติ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร และทำให้สุขภาพแข็งแรง