เลือดออกจมูก รู้จักวิธีปฐมพยาบาลเมื่อเลือดกำเดาไหล และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

เลือดออกจมูก หรือเลือดกำเดาไหล เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่หลอดเลือดในโพรงจมูกแตก โดยอาการนี้เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและพบได้ค่อนข้างบ่อย เนื่องจากหลอดเลือดในโพรงจมูกเป็นหลอดเลือดที่เปราะบาง แต่อาการนี้มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการเลือดออกจมูกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีปฐมพยาบาล หรือวิธีสังเกตสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์ ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ อีกทั้งในบางครั้งอาการเลือดออกจมูกก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางร่างกายได้เช่นกัน แม้จะเป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย 

เลือดออกจมูก

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีเลือดออกจมูก

การปฐมพยาบาลเมื่อมีเลือดออกจมูกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. นั่งตัวตรง โน้มตัวไปข้างหน้าพร้อมกับก้มศีรษะเล็กน้อย
  2. ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบบริเวณรูจมูกเอาไว้ประมาณ 10–15 นาที โดยในระหว่างนี้ให้อ้าปากและหายใจทางปากเอาไว้ และพยายามไม่กลืนเลือดลงคอ เพื่อป้องกันการสำลักและอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำแข็งประคบบริเวณจมูกร่วมด้วยเพื่อช่วยให้หลอดเลือดหดตัวลง
  3. เมื่อครบ 10–15 นาที ให้ตรวจสอบดูอีกครั้งว่าเลือดหยุดไหลหรือไม่ หากเลือดหยุดไหล ให้หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกสักประมาณ 15 นาที รวมถึงหลีกเลี่ยงการโน้มตัวไปข้างหน้า การแคะจมูก และการยกของหนักไปก่อนประมาณ 1 วัน นอกจากนี้ อาจจะลองใช้สำลีชุบปิโตรเลียมเจลลี่ทาภายในรูจมูกเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันเลือดที่อาจไหลอีกครั้ง
  4. สำหรับผู้ที่เลือดไม่หยุดไหล ให้ลองทำตามขั้นตอนทั้งหมดอีกครั้ง โดยหากทำแล้วเลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

อาการเลือดออกจมูกที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีเลือดออกจมูกที่ได้ลองปฐมพยาบาลด้วยตัวเองตามวิธีในข้างต้นแล้ว 2 รอบแต่เลือดยังไม่หยุดไหล หรือมีอาการเข้าข่ายดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • เลือดออกจมูกนานเกิน 30 นาที
  • เลือดออกจมูกเกิดขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุหรือร่างกายถูกกระแทกอย่างรุนแรง
  • กำลังป่วยด้วยภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด
  • กำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) หรือยาแอสไพริน (Aspirin)
  • อาการเลือดออกจมูกเพิ่งเกิดหลังจากเริ่มใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง
  • มีอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย คล้ายจะเป็นลม รู้สึกหนาวง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีผิวซีด
  • อาการเลือดออกจมูกเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • พบรอยช้ำตามร่างกายร่วมด้วย
  • หายใจไม่ออก
  • อาเจียน รู้สึกอยากจะอาเจียน หรือกลืนเลือดกำเดาไปในปริมาณมาก

นอกจากการปฐมพยาบาลเมื่อมีเลือดออกจมูกแล้ว การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเลือดออกจมูกในอนาคตก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยวิธีที่สามารถทำได้ก็เช่น ใช้เครื่องทำความชื้น หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง ไม่ปิดปากขณะจาม หลีกเลี่ยงการแคะจมูก และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่