เลือดกรุ๊ปโอ กับหลากเรื่องน่ารู้

มีความเชื่อเกี่ยวกับเลือดกรุ๊ปโอมากมาย เช่น คนที่มีเลือดกรุ๊ปโอสามารถให้เลือดแก่คนหมู่เลือดอื่น ๆ ได้ คนเลือดกรุ๊ปโออาจเสี่ยงเกิดภาวะมีบุตรยากและแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไป หรือคนกรุ๊ปเลือดนี้ควรรับประทานอาหารบางชนิดเพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้นได้ เป็นต้น ทว่าความเชื่อเหล่านี้จริงเท็จอย่างไรกันแน่ ?

เลือดกรุ๊ปโอ

ทำความรู้จักกับหมู่เลือด

ในทางการแพทย์แบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 กลุ่มหลัก เรียกว่าหมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO) โดยจำแนกจากแอนติเจน โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง ซึ่งเลือดกรุ๊ปเอจะมีแอนติเจนเอ เลือดกรุ๊ปบีจะมีแอนติเจนบี เลือดกรุ๊ปเอบีจะมีทั้งแอนติเจนเอและแอนติเจนบี ส่วนเลือดที่ไม่พบแอนติเจนชนิดใด ๆ คือ เลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งกรุ๊ปเลือดของแต่ละคนจะถูกกำหนดโดยสารพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่

นอกจากหมู่เลือดระบบเอบีโอ เลือดแต่ละหมู่ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการปรากฏของแอนติเจนดี (D Antigen) บนผิวเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าหมู่เลือดระบบอาร์เอช ผู้ที่พบแอนติเจนดีจะมีหมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh Positive) ส่วนผู้ที่ไม่พบแอนติเจนดีจะมีหมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh Negative) ซึ่งเป็นหมู่เลือดที่พบได้น้อยในคนไทย โดยมีตัวอย่างการจัดหมู่เลือด เช่น เลือดกรุ๊ปโอที่พบแอนติเจนดีบนผิวเม็ดเลือดแดง คือ เลือดกรุ๊ปโอบวก (O RhD positive: O+) และเลือดกรุ๊ปโอที่ไม่พบแอนติเจนดีบนผิวเม็ดเลือดแดง คือ เลือดกรุ๊ปโอลบ (O RhD Negative: O-) เป็นต้น

คนเลือดกรุ๊ปโอให้เลือดแก่ทุกคนได้จริงหรือ ?

โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ขึ้นมา เพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมและแอนติเจนชนิดอื่นที่ไม่มีในร่างกาย คนเลือดกรุ๊ปเอจะมีสารต้านแอนติเจนบี ในขณะที่คนเลือดกรุ๊ปบีก็จะมีสารต้านแอนติเจนเอเช่นกัน ส่วนคนเลือดกรุ๊ปเอบี ซึ่งมีทั้งแอนติเจนเอและแอนติเจนบีบนผิวเม็ดเลือดแดงจะไม่มีสารต้านแอนติเจนทั้ง 2 ชนิด ในทางกลับกัน คนเลือดกรุ๊ปโอซึ่งไม่มีแอนติเจนชนิดใด ๆ บนผิวเม็ดเลือดแดง จึงมีทั้งสารต้านแอนติเจนเอและสารต้านแอนติเจนบีในร่างกาย

การรับเลือดที่มีแอนติเจนชนิดที่ร่างกายต่อต้านจะทำให้เกิดการแพ้เลือดจนส่งผลให้เป็นไข้ หนาวสั่น ความดันโลหิตต่ำ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานล้มเหลว และอาจเป็นอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต คนเลือดกรุ๊ปเอและคนเลือดกรุ๊ปบีจึงรับเลือดจากกันและกันไม่ได้ ส่วนคนเลือดกรุ๊ปโอก็รับเลือดจากกรุ๊ปเอ บี และเอบีไม่ได้เช่นกัน แต่รับได้จากคนที่มีเลือดกรุ๊ปโอเหมือนกันเท่านั้น

แม้หลายคนเชื่อว่าผู้ที่มีเลือดกรุ๊ปโอสามารถให้เลือดแก่ทุกคนได้ เนื่องจากไม่มีแอนติเจนอยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง ทว่าแท้จริงแล้ว เลือดแต่ละหมู่ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อาร์เอชบวกและอาร์เอชลบ ดังนั้น คนเลือดกรุ๊ปโอบวกที่มีแอนติเจนดีบนผิวเม็ดเลือดแดงจึงไม่ควรให้เลือดแก่ผู้ที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับเลือดจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านแอนติเจนดี และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ ส่วนคนเลือดกรุ๊ปโอลบนั้นสามารถให้เลือดแก่ทุกคนได้ เพราะไม่มีทั้งแอนติเจนเอ แอนติเจนบี และแอนติเจนดีบนผิวเม็ดเลือดแดง ทางการแพทย์ในปัจจุบันจึงนิยมให้เลือดกรุ๊ปนี้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการเลือดอย่างเร่งด่วน

เลือดกรุ๊ปโอเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากจริงหรือ ?

ความสามารถในการมีบุตรนั้นประเมินได้จากประสิทธิภาพในการผลิตเซลล์ไข่ของรังไข่ โดยมีงานวิจัยอ้างว่าร่างกายของผู้ที่มีฮอร์โมนกระตุ้นไข่ตก (Follicle Stimulating Hormone: FSH) ในปริมาณมากจะผลิตเซลล์ไข่ได้น้อยลง และเมื่อเปรียบเทียบระดับฮอร์โมน FSH ระหว่างกรุ๊ปเลือดต่าง ๆ พบว่าคนเลือดกรุ๊ปโอและเลือดกรุ๊ปบีมีระดับฮอร์โมนชนิดนี้มากกว่าคนเลือดกรุ๊ปเอและกรุ๊ปเอบี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนแย้งว่าการวัดปริมาณฮอร์โมน FSH อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการประเมินประสิทธิภาพการผลิตเซลล์ไข่ของร่างกาย เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่น่าเชื่อถือกว่า ความเชื่อด้านนี้จึงยังต้องรอการพิสูจน์ที่แน่ชัดต่อไป

อาหารที่เหมาะสำหรับเลือดกรุ๊ปโอ

เลกทิน (Lectins) เป็นโปรตีนที่พบได้ในอาหารทั่วไป มีคุณสมบัติในการจับตัวกับโมเลกุลของน้ำตาลและทำให้เซลล์เกาะกลุ่มรวมกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าโปรตีนชนิดนี้ส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะทำให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ลดลง จึงจัดเป็นสารอาหารที่ควรระมัดระวังในการบริโภค

ทั้งนี้ มีแนวคิดที่ว่าระบบย่อยอาหารของคนแต่ละหมู่เลือดสามารถย่อยเลกทินได้มากน้อยแตกต่างกัน การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับหมู่เลือดของตนเองจึงอาจส่งผลดีต่อร่างกาย โดยเชื่อว่าคนเลือดกรุ๊ปโอควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเนื้อสัตว์ ปลา รวมถึงผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ทว่าควรหลีกเลี่ยงธัญพืช ถั่ว นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น ชีส เนย โยเกิิร์ต เป็นต้น และอาจรับประทานอาหารเสริมที่ช่วยปกป้องระบบย่อยอาหาร เนื่องจากมีงานวิจัยบางส่วนอ้างว่าคนเลือดกรุ๊ปโออาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีงานวิจัยไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนแนวคิดข้างต้น จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการรับประทานอาหารตามหลักการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อร่างกายของคนเลือดกรุ๊ปโอ ดังนั้น ทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ