เรื่องควรรู้เกี่ยวกับต่อมหมวกไตล้า และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

เมื่อพูดถึงต่อมหมวกไตล้า คนมักเข้าใจว่าเป็นภาวะผิดปกติของต่อมหมวกไตที่ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดตามร่างกาย เหนื่อยล้า การนอนหลับหรือระบบย่อยอาหารมีปัญหา หรือมีความรู้สึกอยากกินอาหารรสหวานหรือเค็มผิดปกติ แต่ในความเป็นจริง ภาวะต่อมหมวกไตล้าเป็นเพียงภาษาพูดที่ไม่ได้ถูกนิยามหรือใช้อย่างเป็นทางการในทางการแพทย์ รวมถึงอาการข้างต้นยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไตด้วยเช่นกัน

ต่อมหมวกไตเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณด้านบนของไตทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนอื่น ๆ เพื่อช่วยควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย อย่างจัดการกับความเครียดและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด หากต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติจากปัจจัยบางอย่าง อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่อง (Adrenal Insufficiency) หรือกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s Syndrome) เป็นต้น

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับต่อมหมวกไตล้า และวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น

ต่อมหมวกไตล้าคืออะไร

ต่อมหมวกไตล้าเป็นภาวะที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นผลมาต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไปเนื่องจากร่างกายมีภาวะเครียดเรื้อรัง เพราะโดยปกติแล้ว ต่อมหมวกไตจะคอยผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าคอร์ติซอลออกมาเมื่อร่างกายเกิดความเครียด เมื่อร่างกายมีภาวะเครียดสะสมเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักเกินไป ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจนนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดตามร่างกาย เหนื่อยล้า การนอนหลับหรือระบบย่อยอาหารมีปัญหา หรือมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารรสหวานหรือเค็มผิดปกติ เป็นต้น

ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะที่ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องหรือโรคแอดดิสัน (Addison's Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากโรคบางชนิดหรือการรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน แพทย์จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยอย่างละเอียดด้วยวิธีการตรวจเลือดหรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมหมวกไต

นอกจากนี้ อาการต่าง ๆ ในข้างต้นยังเป็นอาการที่ไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง และอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคทางกายอย่างภาวะโลหิตจาง (Anemia) โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) หรือสภาวะด้านจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้า ปฏิกิริยาตอบสนองต่อ​ความเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันหรือสภาพแวดล้อม

ดังนั้น หากพบอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อน และไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงบางอย่างต่อร่างกายได้

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการเข้าข่ายภาวะต่อมหมวกไตล้า

แม้ภาวะต่อมหมวกไตล้าจะไม่ได้ถูกนิยามอย่างเป็นทางการว่าเป็นภาวะผิดปกติทางร่างกาย แต่หากพบอาการในลักษณะข้างต้น อาจบรรเทาความรุนแรงได้โดยการปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารอาหารแปรรูป อาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และคาเฟอีนสูง และเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ธัญพืช หรือผักและผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารสำคัญ อย่างแมกนีเซียม วิตามินซี วิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เนื้อปลา ไข่ หรือถั่ว เป็นต้น รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • จัดการกับความเครียด โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด ออกกำลังกายบ่อย ๆ ฝึกสมาธิ หรือหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ 6–8 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าอาการต่าง ๆ ในข้างต้นที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากภาวะต่อมหมวกไตล้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงบางชนิด ดังนั้น แม้อาการอาจไม่รุนแรง แต่หากอาการแย่ลงหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต