เมื่อคนที่รักจากไป รับมือกับการสูญเสียอย่างไรดี ?

การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเผชิญและย่อมทำให้รู้สึกเจ็บปวดโศกเศร้าเป็นอย่างมาก โดยบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้่น และความโศกศัลย์ที่เกิดจากวิกฤตนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงจะช่วยให้ปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวและสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ต่อไป

1769การสูญเสียrs

ความโศกเศร้าจากการสูญเสียเป็นอย่างไร ?

ความโศกเศร้าเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่ตอบสนองต่อการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก สูญเสียความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการสูญเสียสุขภาพที่ดี โดยลำดับขั้นของความโศกเศร้าจากการสูญเสียนั้นมักเริ่มจากการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง การเกิดความกลัว ความโกรธ ความซึมเศร้า และอาจไปถึงขั้นสุดท้าย คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหรือค่อย ๆ เกิดขึ้นตามลำดับก็ได้ และในขณะที่เผชิญลำดับขั้นต่าง ๆ อยู่ ผู้ที่สูญเสียอาจมีความรู้สึกสับสน เสียใจ กลัว รู้สึกผิด หรือหมดหวังร่วมด้วย โดยระดับความรุนแรงของสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้มักขึ้นอยู่กับระดับของการสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วย

แนวทางรับมือความสูญเสียและความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น

แม้ว่าวิธีเผชิญความสูญเสียและการแสดงออกถึงความเจ็บปวดเสียใจของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป แต่การปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปรับตัวและก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงหนึ่งของชีวิตนี้ไปได้

  • ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น อารมณ์โกรธ เศร้า และความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียคนที่รักเป็นสิ่งปกติ การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและยอมรับความรู้สึกเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องธรรมชาติจะช่วยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
  • ระบายความรู้สึก การพูดคุยและระบายความรู้สึกกับคนรักหรือคนที่เข้าใจไม่ว่าจะเป็นสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดออกมาได้ นอกจากนี้ อาจขอกำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะกำลังใจดี ๆ จะช่วยให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ง่ายขึ้น
  • เขียนแสดงความรู้สึก การเขียนระบายความรู้สึกต่าง ๆ จากการสูญเสียจะช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวดและช่วยให้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเจ็บปวดต่อไปได้
  • ดูแลตนเองและคนรอบข้าง ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หรือการตัดสินใจที่สำคัญหากยังไม่มีความจำเป็น
  • ให้กำลังใจผู้อื่น การให้กำลังใจผู้ที่เผชิญความสูญเสียเหมือนกันจะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น และการแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันจะช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้
  • จดจำและระลึกถึงบุคคลที่จากไป โดยอาจวางรูปภาพของบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีความสุุขไว้ เพื่อย้ำเตือนถึงความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกัน หรืออาจปลูกสวนดอกไม้เพื่อระลึกถึงบุคคลที่จากไป และอาจใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อจดจำคนรักที่จากไป

อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีต่าง ๆ  แล้วยังรู้สึกเจ็บปวดและเศร้าเสียใจ ควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อขอรับคำปรึกษาและหาแนวทางที่ช่วยให้ตนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์ ?

การสูญเสียคนรักเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดทางจิต หากพบว่าตนเองมีอาการต่อไปนี้  

  • รู้สึกผิดหรือโทษตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
  • ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • ไม่อยากพบเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก
  • รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ต่อไป
  • รู้สึกอยากตายตามคนที่รักไปด้วย

จิตแพทย์หรือนักบำบัดอาจใช้วิธีพูดคุยบำบัดอาการทางจิต เพื่อให้ผู้ที่สูญเสียปรับตัวกับปัญหา พร้อมทั้งรับมือและจัดการกับความโศกเศร้าได้ ส่วนผู้ที่มีอาการเศร้าอย่างรุนแรงหรือมีอาการของโรคซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านซึมเศร้าร่วมด้วย (Antidepressants)

นอกจากนี้ หากมีความคิดวางแผนฆ่าตัวตายหรือพยายามทำร้ายตนเอง ควรรีบโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อขอรับบริการที่โรงพยาบาลในทันที

หากคนใกล้ตัวเผชิญกับการสูญเสีย ควรทำอย่างไร ?

หากบุคคลใกล้ชิดต้องเผชิญกับการสูญเสีย สิ่งที่สามารถทำได้ คือ คอยอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจ พยายามพูดคุยเพื่อให้ผู้ที่สูญเสียระบายความรู้สึกปวดร้าวออกมา และเป็นผู้ฟังที่ดีในกรณีที่บุคคลนั้นพูดถึงคนรักที่จากไปซ้ำ ๆ เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ขณะโศกเศร้า และไม่จำเป็นต้องรู้สึกกังวลหรือหลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ที่จากไป

นอกจากนี้ อาจช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • พาไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูสภาพอารมณ์ให้ดีขึ้น
  • พยายามให้ผู้ที่สูญเสียตั้งสติก่อนตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต เช่น การลาออกจากโรงเรียน การลาออกจากงาน เป็นต้น
  • พยายามเข้าใจสภาวะอารมณ์ของผู้ที่สูญเสียในขณะที่รู้สึกโกรธหรือโมโหได้ง่าย เพราะอารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความโศกเศร้า