เจลาติน กับ 8 คุณประโยชน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้

หลายคนอาจคุ้นเคยหรือรู้จักเจลาตินในรูปแบบของขนมน้ำตาลสูง อย่างเยลลี่ หมากฝรั่ง หรือวุ้น แต่จริง ๆ แล้วเจลาตินยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพ โดยจะอยู่ในรูปแบบของอาหาร และยารักษาโรค ซึ่งการรับประทานเจลาตินในปริมาณที่เหมาะสมอาจส่งผลดีต่อร่างกาย ทั้งในด้านสุขภาพทั่วไปและด้านความสวยความงาม ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์นั้นจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความนี้

เจลาตินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี สามารถละลายได้ในน้ำอุ่น และจะมีลักษณะหยุ่น ๆ คล้ายวุ้นหรือเยลลี่เมื่อเย็นตัวลง เจลาตินนั้นประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิดและให้พลังงานต่ำ โดยเจลาตินถูกสกัดออกมาระหว่างขั้นตอนการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นการนำชิ้นส่วนของสัตว์ อย่างกระดูก เอ็น หรือผิวหนังสัตว์มาผ่านกรรมวิธี
เจลาติน

คุณประโยชน์จากเจลาติน

เจลาตินอุดมไปด้วยโปรตีนและกรดอะมิโนหลายชนิดจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพ ดังนี้

  1. ซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกาย

    โปรตีนเป็นสารอาหารที่ประกอบอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย ร่างกายจึงต้องการโปรตีนเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการเจ็บป่วย ซึ่งเจลาตินมีส่วนประกอบเป็นโปรตีนเกือบทั้งหมด ร่างกายจึงสามารถนำเอาโปรตีนเหล่านี้ไปช่วยเสริมสร้างในส่วนที่ขาดได้ เจลาตินนั้นมีประโยชน์ในทางการแพทย์ค่อนข้างมาก เช่น ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้รักษาผู้ป่วยภาวะพร่องภูมิคุ้มกัน และใช้ฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยหลังผ่าตัด เป็นต้น

  2. บรรเทาอาการกระดูกและข้อต่อ

    เชื่อกันว่าเจลาตินอาจช่วยเพิ่มคอลลาเจนภายในข้อต่อจึงอาจช่วยบรรเทาความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อ อย่างอาการปวดข้อต่อและข้อติดที่เป็นอาการของโรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคข้อกระดูกอักเสบได้ แต่ในความเป็นจริง เจลาตินจะถูกย่อยในทางเดินอาหารได้เป็นโปรตีนแล้วกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ได้เข้าซึมผ่านเข้าข้อต่อโดยตรง และแม้ว่าผลการศึกษาหลายชิ้นจะชี้ว่าเจลาตินอาจมีส่วนช่วยในการลดอาการปวดได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอที่จะยืนยันว่าเจลาตินนั้นสามารถรักษาโรคข้อเสื่อมได้ จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมหรือปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้เจลาตินร่วมกับการรักษา

  3. บำรุงสมอง

    เจลาตินประกอบไปด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด อย่างกรดอะมิโนไกลซีนที่เชื่อกันว่าสามารถช่วยพัฒนาในด้านความจำ รวมทั้งอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคทางจิต อย่างโรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (ฺBody dysmorphic disorder)ได้ด้วย ส่วนกรดกลูตามิกหรือกลูตามีนในเจลาตินยังมีการนำไปใช้เพื่อรักษาโรคทางจิต อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และภาวะไฮเปอร์ นอกจากนี้ กรดกลูตามิกยังอาจช่วยลดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวได้อีกด้วย
    อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับไกลซีนและการพัฒนาความจำยังมีการศึกษาเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น รวมทั้งงานวิจัยสรรพคุณของกรดอะมิโนเหล่านี้ยังอาจมีข้อบกพร่องและเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน จึงควรรอผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันประโยชน์ในด้านนี้ของไกลซีน

  4. ประทินผิวและเส้นผม

    เชื่อกันว่าคอลลาเจนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิวพรรณและความสวยความงาม มีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคอลลาเจนกับสุขภาพผิว ผม และเล็บพบว่า การรับประทานคอลลาเจนเป็นประจำอาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นให้กับผิว ช่วยให้เล็บแข็งแรง นอกจากนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคอลลาเจนอาจช่วยเพิ่มจำนวนเส้นผมทำให้ผมดูหนาขึ้นแม้ในผู้ที่เป็นโรคผมร่วง อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาเพียงชิ้นเดียวที่พบผลลัพธ์ดังกล่าว จึงควรรอผลจากการศึกษาอื่น ๆ เพื่อยืนยันสรรพคุณของคอลลาเจนในการบำรุงเส้นผม

  5. เพิ่มคุณภาพในการนอนหลับ

    มีการศึกษาความสัมพันธ์ของไกลซีนกับคุณภาพการนอนหลับ ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานไกลซีนปริมาณ 3 กรัมก่อนนอน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการนอนหลับที่ดีขึ้น เช่น ลดระยะเวลาในการผล็อยหลับ ช่วยให้นอนหลับสนิทขึ้น ลดอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ช่วยให้สมองผ่อนคลาย บรรเทาอาการจากโรคนอนไม่หลับ และลดอุณหภูมิในร่างกายลงซึ่งมีผลต่อการนอนหลับที่ดีขึ้น เป็นต้น
    แต่แม้ว่าการวิจัยที่ศึกษาสรรพคุณเรื่องการนอนหลับอาจจะมีคุณภาพสูงแต่ยังมีจำนวนที่น้อยเกินไป อีกทั้งยังมีกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไป จึงควรพัฒนาการศึกษาด้วยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสรรพคุณในข้อนี้

  6. ช่วยควบคุมน้ำหนักและน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

    เจลาตินอาจเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยที่ต้องควบคุมจำนวนแคลอรีและสารอาหาร อย่างผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากเจลาตินมีแคลอรีที่ต่ำและมีโปรตีนสูง ช่วยให้อิ่มนาน ทั้งยังช่วยลดความอยากอาหารได้อีกด้วย
    จากการศึกษาที่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจากโรคอ้วนรับประทานเจลาตินติดต่อกันเป็นว่า 3 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการอักเสบที่ลดลงและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากน้ำหนักที่ลดลงที่ส่งผลให้อาการของโรคอ้วนบรรเทาลงตามไปด้วย แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นข้อมูลจากงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว จึงจำเป็นที่ต้องรอผลงานวิจัยที่ศึกษาความเกี่ยวข้องกันของเจลาตินและโรคดังกล่าวเพิ่มเติม

  7. เสริมความแข็งแรงให้ผนังลำไส้

    กลูตามีนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อลำไส้และระบบภูมิคุ้มกัน โดยการศึกษาพบว่ากลูตามีนทำให้ผนังลำไส้แข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้รั่ว (Leaky gut) ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ลำไส้และเกิดการติดเชื้อได้ กลูตามีนจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในผู้ที่มีผนังลำไส้ที่บางหรือมีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดลำไส้ทะลุ อย่างผู้ที่เป็นโรคโครห์โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือผู้ที่ผ่านการผ่าตัดลำไส้ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านก็พบข้อมูลที่ชี้ว่าการบริโภคกลูตามีนอาจไม่ได้มีผลในการรักษาภาวะดังกล่าว จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติม

  8. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

    มีงานวิจัยหลายงานที่พบความเชื่อมโยงในการใช้เจลาตินลดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง อย่างโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเม็ดเลือดขาว จากการทดลองเจลาตินจากผิวหนังของหมูในหลอดทดลอง พบว่าเนื้องอกและเซลล์มะเร็งนั้นมีการเติบโตที่ช้าลง นอกจากนี้ กลูตามีนยังอาจช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้ยังต้องการการศึกษาในแง่มุมอื่น ๆ อีกเพื่อยืนยันคุณสมบัติในการชะลอการเติบโตของมะเร็ง

นอกจากนี้ เจลาตินยังมีประโยชน์ในแง่อื่น ๆ อีก เช่น ช่วยลดความเสียหายของตับจากสาเหตุต่าง ๆ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยให้ร่างกายทนทานและฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากการออกกำลังกายหรือการบาดเจ็บจากกีฬา อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์บางข้ออาจยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันถึงประโยชน์ได้อย่างแน่ชัด ก่อนการใช้เพื่อเป็นอาหารเสริมหรือเพื่อรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้

โดยปกติแล้ว เจลาตินนั้นสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่บางกรณีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นความผิดปกติ อย่างอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง เรอ หรือแสบร้อนกลางอก รวมถึงผลข้างเคียงในเด็ก ทารก ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตรที่ยังไม่แน่ชัด คนในกลุ่มนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพ ส่วนประกอบในเจลาตินอาจทำให้เกิดการแพ้อาหารได้ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ทำเจลาตินด้วยตนเองควรระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคระหว่างขั้นตอนการทำ