ฮิสทีเรีย

ความหมาย ฮิสทีเรีย

ฮิสทีเรีย (Hysteria) เป็นโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่อาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือโรคประสาทฮิสทีเรียและบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder) โดยลักษณะแรกจะครอบคลุมอาการผิดปกติทางระบบประสาทหลายอาการ เช่น ภาวะชาตามลำตัว ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่รู้สึกตัว พูดไม่ได้ มองไม่เห็น หรือสูญเสียความทรงจำอย่างกะทันหัน ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่อาจหาสาเหตุทางกายได้ ส่วนผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียนั้นมักมีอารมณ์อ่อนไหวสูง ปรวนแปรบ่อย ชอบแสดงออกเกินจริง แสดงพฤติกรรมแตกต่างจากผู้อื่นเพื่อดึงดูดความสนใจ พฤติกรรมดังกล่าวทำให้คนมักเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความต้องการทางเพศสูง อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะเน้นให้ข้อมูลของโรคฮิสทีเรียแบบบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งเป็นลักษณะที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมากกว่า

ฮีสทีเรีย

อาการของฮิสทีเรีย

โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียจัดเป็นความผิดปกติทางจิตในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพกลุ่มบี (Cluster B: Dramatic Personality Disorders) คือมีอารมณ์รุนแรง แปรปรวนบ่อย และมองเห็นภาพลักษณ์ของตนเองบิดเบือนไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อีกทั้งยังเป็นคนเข้าสังคมเก่ง แต่มักใช้ความสามารถนี้บงการผู้อื่น และเรียกร้องความสนใจเพื่อให้ตนเองเป็นจุดเด่น ซึ่งผู้ที่เข้าข่ายมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ต้องการเป็นจุดสนใจ รู้สึกอึดอัดและทนไม่ได้ หากไม่ได้รับความสนใจ และไม่ค่อยแสดงความห่วงใยหรือนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น
  • อารมณ์แปรปรวน และไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอารมณ์ไม่คงที่และแสดงความรู้สึกออกมาทันทีที่มีเรื่องกระทบจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ร้องไห้ทันทีเมื่อไม่สบายใจ รู้สึกโกรธมากกับเรื่องผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น
  • การแสดงออกดูเหมือนยั่วยวน พยายามเข้าหาผู้อื่น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และใช้ลักษณะภายนอกของตนเองดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น เช่น ชอบแต่งตัวยั่วยวนเพื่อให้ตนเองเป็นจุดสนใจ
  • แสดงอารมณ์ ลักษณะท่าทางและการพูดเกินจริง โดยอาจมีลักษณะท่าทางและการพูดเหมือนกำลังเล่นละคร
  • คล้อยตามสถานการณ์หรือถูกผู้อื่นโน้มน้าวได้ง่าย
  • แสดงออกถึงความสนิทสนมกับผู้อื่นมากเกินจริง คิดไปเองว่าสนิทสนมกับอีกฝ่าย ทั้งที่อีกฝ่ายอาจไม่ได้รู้สึกสนิทใจด้วย
  • รู้สึกเบื่อหรือหงุดหงิดง่าย เช่น เบื่อหน่ายกิจวัตรประจำวัน อดทนทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เป็นต้น
  • ด่วนตัดสินใจ ละเลยการไตร่ตรองเหตุผลอย่างรอบคอบ
  • ไม่อาจรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว มักแสดงพฤติกรรมที่ดูไม่จริงใจ หรือมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพียงผิวเผิน
  • ขู่ว่าจะฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

สาเหตุของฮิสทีเรีย

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่อาจอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียได้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องบางประการ ได้แก่

  • พันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียอาจเสี่ยงมีบุคลิกภาพเช่นเดียวกันนี้มากกว่าคนอื่น ๆ
  • การเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กที่สมาชิกในครอบครัวมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย อาจเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว
  • ลักษณะการเลี้ยงดู เด็กที่เติบโตโดยไม่ได้รับการอบรมอย่างเหมาะสมหรือไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร อาจเสี่ยงมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียได้ เช่น เด็กที่ไม่เคยถูกตักเตือนหรือลงโทษเมื่อทำผิด เด็กที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างสม่่ำเสมอ เป็นต้น
  • ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ลักษณะทางจิตวิทยา วิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดของแต่ละคน เป็นต้น

การวินิจฉัยฮิสทีเรีย

ผู้ป่วยโรคนี้มักทราบว่าตนเองมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียจากการไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งหากพบว่ามีสัญญาณของบุคลิกภาพที่ผิดปกติ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ เช่น อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกและบุคลิกภาพโดยรวม
  • ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การวินิจฉัยจากภาพถ่ายระบบประสาท (Neuroimaging) หรือการตรวจเลือดเพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการลักษณะเดียวกันออกไป
  • พบจิตแพทย์ หากผลตรวจร่างกายและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบความผิดปกติทางร่างกายใด ๆ แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปให้จิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิต โดยใช้คำถามสำหรับวินิจฉัยอาการป่วยทางจิตโดยเฉพาะ จากนั้นจึงเสนอแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาฮิสทีเรีย

บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียรักษาได้ด้วยการใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุของการแสดงพฤติกรรมผิดปกติ และช่วยปรับกระบวนการคิดและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยพฤติกรรมอันเหมาะสม ส่วนผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น แพทย์อาจใช้จิตบำบัดควบคู่กับการใช้ยารักษาตามอาการนั้น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของฮิสทีเรีย

ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติ เนื่องจากบุคลิกภาพที่ผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ป่วยอาจรับมือกับความสูญเสียหรือความผิดหวังไม่ได้ รวมถึงนิสัยเบื่อหน่ายง่ายและมีความอดทนต่ำที่อาจส่งผลให้เปลี่ยนงานบ่อย นอกจากนี้ บางรายอาจต้องการความตื่นเต้น จนทำให้ต้องเผชิญเรื่องเสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น

การป้องกันฮิสทีเรีย

บุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียนั้นยากที่จะป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่พบสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูเอาใจใส่ให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และรู้จักจัดการกับความเครียดหรือความผิดหวังด้วยวิธีการที่ถูกต้อง อาจเป็นแนวทางลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดบุคลิกภาพผิดปกติชนิดฮิสทีเรียที่พอจะทำได้