อาการเส้นเลือดในสมองแตกกับสัญญาณที่ควรรู้

อาการเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดหยุดไหลเวียนภายในสมองจนสมองขาดเลือดและทำให้เซลล์สมองในบริเวณดังกล่าวเริ่มตาย ซึ่งอาการดังกล่าวจะส่งผลต่อความรู้สึกและการควบคุมด้านการเคลื่อนไหวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ทั้งนี้ อาการเส้นเลือดในสมองแตกจะมีความคล้ายคลึงกับอาการเส้นเลือดในสมองตีบที่คนทั่วไปอาจแยกได้ยาก แต่สิ่งสำคัญคือการได้รับการตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด

อาการเส้นเลือดในสมองแตกอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินพอดี ใช้สารเสพติด ไม่ออกกำลังกาย และสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมองหรือโรคหัวใจ

ทั้งนี้ การทราบถึงสัญญาณและอาการเส้นเลือดในสมองแตกเป็นเรื่องที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะอาการนี้เป็นอาการที่มีความรุนแรง และอาจทำให้เกิดภาวะพิการในระยะยาวได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งการทราบข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

อาการเส้นเลือดในสมองแตกกับสัญญาณที่ควรรู้

อาการเส้นเลือดในสมองแตกเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกจะมีอาการที่แตกต่างกัน แต่หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

  • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก โดยเห็นได้จากการที่หนังตาตกหรือมุมปากตกเมื่อยิ้ม
  • ไม่สามารถยกแขนค้างไว้ได้เพราะรู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง
  • พูดลำบาก ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด และมีปัญหาในการเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นต้องการสื่อสาร

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการกลืนลำบาก เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับการอาเจียน หรือรู้สึกตัวลดลง มึนงง มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียความทรงจำ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ตามัว หรือมีปัญหาในการมองเห็น รวมทั้งอาจมีปัญหาด้านการเดิน การทรงตัว หรือการประสานงานของร่างกายส่วนต่าง ๆ

ทำอย่างไรหากเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก

หากสังเกตเห็นว่าตนเองหรือผู้ที่ใกล้ชิดมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก ควรปฏิบัติดังนี้

  • โทรเรียกรถพยาบาลหรือนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการเป็นครั้งแรก เนื่องจากการรักษาจะมีประสิทธิภาพหากผู้ป่วยได้รับการรักษาภายในเวลา 3–4 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ
  • ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในขณะที่มีอาการ ยกเว้นผู้ป่วยป่วยด้วยโรคเบาหวานให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากระดับน้ำตาลต่ำเกินเกณฑ์ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวาน กินของหวาน หรือฉีดกลูโคสในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่สามารถกลืนได้
  • จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม โดยหากผู้ป่วยหมดสติ อาจจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง หนุนให้หัวของผู้ป่วยยกสูงขึ้นเล็กน้อย และห่มผ้าห่มเพื่อให้ผู้ป่วยอบอุ่นมากที่สุด
  • หากสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากควรปลดเสื้อผ้าที่รัดแน่นให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกที่สุด หรือหากผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือไม่มีชีพจร ให้ปฐมพยาบาลด้วยการทำ CPR โดยทันที

เมื่อผู้ป่วยถึงห้องฉุกเฉิน แพทย์จะตรวจอย่างละเอียดด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)  และอาจตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอโดยใช้คลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasonography) หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ในเวลาต่อมา กรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาการเส้นเลือดในสมองแตกอาจเกิดมาจากการอุดตันของเส้นเลือดในหัวใจ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม รวดเร็ว ก็อาจทำให้อาการดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการได้

แต่เราทุกคนก็ควรลดความเสี่ยงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด หรือน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข