10 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอาการหนองใน

อาการหนองใน หรือหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นอาการที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้ทั้งเพศหญิงและชาย แต่จะพบมากในเพศชายที่มีอายุระหว่าง 15–24 ปี การติดเชื้อหนองในส่วนใหญ่มักพบที่บริเวณท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ลำคอ และในผู้หญิงอาจพบการติดเชื้อที่ปากมดลูกด้วย 

ผู้ชายมักเกิดอาการหนองในได้มากกว่า ส่วนผู้หญิงมักไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งอาการอาจเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ผู้ติดเชื้อจึงอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งนี้ หนองในสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

10 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอาการหนองใน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการหนองใน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการหนองใน มีดังนี้

1. หนองในเกิดจากอะไร

หนองในเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoeae) ที่พบในอสุจิและของเหลวในช่องคลอด โดยติดต่อกันได้ผ่านวิธีต่าง ๆ คือ

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางปาก (Oral Sex)
  • การใช้ไวเบรเตอร์ (Vibrator) หรือเซ็กซ์ทอย (Sex Toy) อื่น ๆ ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่ได้ล้างทำความสะอาด หรือไม่ได้สวมถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ครอบอุปกรณ์ก่อนใช้
  • การติดเชื้อของทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ติดเชื้อ ซึ่งการผ่าคลอดจะไม่ทำให้ทารกติดเชื้อหนองใน

เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มีชีวิตอยู่นอกร่างกายได้ไม่นาน จึงไม่สามารถติดเชื้อผ่านทางการไอ จาม การกอด หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวและสถานที่ร่วมกัน เช่น โถชักโครก ผ้าเช็ดตัว จานชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ อ่างอาบน้ำ และสระว่ายน้ำ 

ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อหนองใน เช่น

  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีคู่นอนหลายคน
  • เคยเป็นโรคหนองใน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ มาก่อน
  • ไม่สวมแผ่นยางอนามัย (Dental Dam) สำหรับออรัลเซ็กส์ หรือถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์

2. อาการหนองในเป็นอย่างไร

อาการหนองในของเพศชายและหญิงอาจมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

อาการหนองในของผู้หญิง

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหนองในปรากฏให้เห็น แต่กรณีที่มีอาการ อาจพบสัญญาณการติดเชื้อต่าง ๆ ภายในไม่กี่วัน หรือหลายสัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ เช่น

  • มีตกขาวสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียวเพิ่มขึ้น
  • ปวดแปลบที่ท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
  • รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยขึ้น และเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ และบางครั้งอาจมีเลือดออกด้วย
  • มีเลือดออกเป็นหยด ๆ ในช่วงรอบเดือน หรือประจำเดือนมามากผิดปกติ

อาการหนองในของผู้ชาย

ผู้ชายมักจะมีอาการหนองในแสดงให้เห็นได้ชัดเจนกว่าผู้หญิง โดยอาการมักเกิดขึ้นภายใน 2–30 วันหลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งกรณีที่เพิ่งจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อมาแล้วหลายสัปดาห์ อาจทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นได้ โดยอาการหนองในของผู้ชาย มีดังนี้

  • รู้สึกเจ็บ
  • มีของเหลวลักษณะคล้ายหนองสีขาว เหลือง หรือเขียวออกจากท่อปัสสาวะ
    ปลายองคชาตบวม หรือสีผิดปกติ
  • ปวดและบวมบริเวณอัณฑะ

นอกจากนี้ หนองในอาจทำให้เกิดอาการที่บริเวณอื่น และทำให้เกิดอาการต่างกัน เช่น

  • การติดเชื้อที่ทวารหนัก ทำให้รู้สึกเจ็บและคันบริเวณทวารหนัก รู้สึกเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ และมีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากทวารหนัก
  • การติดเชื้อในลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรัง ภายในลำคอแดงและอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
  • การติดเชื้อที่ดวงตา มักเกิดจากการสัมผัสช่องคลอดหรือบริเวณอื่นที่ติดเชื้อ แล้วใช้มือสัมผัสดวงตาโดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ทำให้รู้สึกปวดหรือระคายเคืองตา เปลือกตาบวม ตาแดงและอักเสบ มีขี้ตาสีขาวหรือเหลืองที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และตาไม่สู้แสง
  • การติดเชื้อตามข้อต่อต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าภาวะข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) อาจทำให้ข้อต่อบวมแดง รู้สึกอุ่นหรือเจ็บบริเวณข้อต่อ โดยจะเจ็บมากเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย

3. หนองในแท้ (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Chlamydia) ต่างกันอย่างไร

จุดที่เหมือนกันของหนองในแท้และหนองในเทียมคือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบในอสุจิและของเหลวในช่องคลอด สามารถติดต่อระหว่างบุคคลด้วยการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก รวมทั้งอาจติดต่อจากแม่สู่ทารกแรกเกิดได้ จึงทำให้เกิดอาการติดเชื้อที่ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ในช่องปากและลำคอได้เช่นกัน

ส่วนข้อแตกต่างระหว่างหนองในแท้และหนองในเทียมคือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่างชนิดกัน โดยแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองในแท้คือไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria Gonorrhoea) ส่วนแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองในเทียมคือคลาไมเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน อาการโดยทั่วไปของผู้ที่เป็นหนองในเทียม ได้แก่

  • รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ตกขาวอาจมีสีเหลืองและมีกลิ่นแรง
  • มีของเหลวสีขาวขุ่นไหลออกจากองคชาต
  • อัณฑะบวม
  • รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก และหากเกิดการติดเชื้อที่ทวารหนักอาจมีเลือดหรือหนองไหลออกทางทวารหนัก 

หนองในแท้และหนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่จะเป็นตัวยาที่ต่างกัน นอกจากนี้ แบคทีเรียคลาไมเดียทราโคมาติส ซึ่งทำให้เกิดหนองในเทียม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณดวงตา ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตาได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้

4. จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อหนองใน

หากสงสัยว่าอาการที่พบคล้ายกับอาการติดเชื้อหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา โดยแพทย์จะตรวจการติดเชื้อหนองในด้วยการตรวจภายใน (Pelvic Exam) และเก็บตัวอย่างเชื้อจากบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • การใช้สำลีป้ายเก็บตัวอย่างภายในลำคอ ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อที่บริเวณท่อปัสสาวะ

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เพราะคนที่เป็นหนองในมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เช่น หนองในเทียมร่วมด้วย หากผลตรวจระบุว่าติดเชื้อหนองใน แพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นเพิ่มเติม เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคซิฟิลิส

5. หนองในหายเองได้ไหม

หนองในไม่สามารถหายเองได้ด้วยการดูแลตัวเองและการซื้อยามารักษาเอง หากมีอาการหนองใน หรือทราบว่าคู่นอนตรวจพบการติดเชื้อหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนหรือคนรัก
  • ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  • การติดเชื้อที่มดลูกและท่อนำไข่ ซึ่งทำให้เกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ และอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) และภาวะมีบุตรยากตามมา
  • การติดเชื้ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง ข้อต่อ ตับ ลิ้นหัวใจ และสมอง
  • ภาวะแทรกซ้อนต่อทารก เช่น ตาบอด
  • แผลที่ท่อปัสสาวะ และการอักเสบของอัณฑะ
  • อาการปวดและการอักเสบของต่อมลูกหมาก

6. หนองในรักษาอย่างไร

หนองในรักษาได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว หรืออาจให้รับประทานยาเซฟิซิม (Cefixime) ร่วมกับให้การรักษาโรคหนองในเทียมร่วมด้วย หากมีภาวะแทรกซ้อนหรือเชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยา แพทย์อาจปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม 

ควรแจ้งผลตรวจหนองในให้คู่นอนทราบ และแนะนำให้คู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนที่ผู้ป่วยมีอาการหนองในไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหลังจากผู้ป่วยรักษาหายแล้ว หรือป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น

7. อาการหนองในจะหายเมื่อไร

อาการหนองในมักจะหายได้อย่างรวดเร็วหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ โดยอาการตกขาวผิดปกติและรู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะมักหายภายใน 2–3 วันหลังการรักษา อาการเลือดออกในระหว่างรอบเดือนมักดีขึ้นในรอบเดือนถัดไป ส่วนอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องน้อย และปวดอัณฑะ มักหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ 

หากเวลาผ่านไปแล้วอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจซ้ำจากแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดการดื้อยา หรือเกิดการติดเชื้อลุกลาม

8. หนองในและเป็นซ้ำได้ไหม

เมื่อรักษาหายแล้ว สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกหากมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษา จึงควรให้คู่นอนไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม 

ทั้งนี้ หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะแล้ว ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้นานถึง 7 วัน จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าตัวเองและคู่นอนจะได้รับการรักษาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการหนองในจะหายสนิท และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

9. มีอาการหนองในขณะตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร

หากมีอาการหนองในขณะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะฉีดยาเซฟไตรอะโซน ร่วมกับให้รับประทานยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)

หากไม่ได้รักษาหรือรับการรักษาล่าช้า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด และแท้งบุตร หรืออาจแพร่เชื้อไปสู่ทารกผ่านทางช่องคลอดในกรณีที่คลอดวิธีธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ทารกติดเชื้อหนองในที่ดวงตาอย่างรุนแรงได้

การรักษาหนองในที่ดวงตาสำหรับทารก แพทย์จะฉีดยาเซฟไตรอะโซนให้ทารก และล้างตาด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ และอาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

10. อาการหนองในป้องกันอย่างไร

วิธีการป้องกันโรคหนองในคล้ายกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • กรณีที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และให้คู่นอนไปตรวจด้วย
  • ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบผลการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการของโรคหนองใน และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • ไม่ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรทำความสะอาดเซ็กซ์ทอย หรือใช้ถุงยางอนามัยชิ้นใหม่กับเซ็กซ์ทอยทุกครั้งที่ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น

อาการหนองในมักติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อ และบางกรณีอาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการช้า หากมีอาการของโรคหนองใน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม หากได้รับการรักษาเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง และการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว