อาการลมพิษ รู้ไวแก้ไขทัน

อาการบวมและผื่นนูนสีแดงตามผิวหนังที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วถือเป็นลักษณะเด่นของอาการลมพิษ ซึ่งอาจปรากฏขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเป็นผลมาจากการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดก็ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่จะมีอาการอะไรบ้างนั้น บทความนี้มีคำตอบมาให้สังเกตตัวเองกัน 

โดยทั่วไป ลมพิษจะมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ลมพิษชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากการรับประทานอาหาร การใช้ยาบางชนิด การติดเชื้อ หรือแมลงกัดต่อย และลมพิษชนิดเรื้อรัง ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่อาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคของต่อมไทรอยด์ ตับอักเสบ การติดเชื้อ หรือโรคมะเร็งบางชนิด ส่วนใหญ่แล้วอาการของลมพิษมักจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่หากเกิดการบวมภายในลำคอก็อาจส่งผลต่อการหายใจได้ 

อาการลมพิษ

อาการลมพิษมีอะไรบ้าง

ปกติแล้ว อาการลมพิษชนิดเฉียบพลันสามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแขนขา ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ หรือหู โดยจะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์ และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการที่ต่างกันไป เช่น

  • ผื่นนูนแดงขึ้นตามผิวหนัง หากกดแล้วจะกลายเป็นสีขาว โดยจะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป
  • ผื่นอาจขึ้นเป็นจุดเดี่ยว ๆ หรือรวมกันเป็นกลุ่มผื่นดวงใหญ่บนผิวหนังก็ได้ 
  • มีอาการคัน รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนในบางครั้ง
  • อาจมีอาการแองจีโออีดีมา (Angioedema) หรืออาการบวมใต้ชั้นผิวหนังร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก เปลือกตา หรือภายในลำคอ 
  • อาการอาจรุนแรงขึ้นหากถูกกระตุ้นด้วยอุณหภูมิสูง การออกกำลังกาย หรือความเครียด
  • อาการลมพิษโดยทั่วไปมักจะหายไปเองภายใน 1 ชั่วโมง ไปจนถึง 1 วัน 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการซ้ำ ๆ ต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการนอนหลับได้ จึงควรไปปรึกษาแพทย์ขอคำแนะนำในการดูแลตนเองหรือรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างปกติมากที่สุด

วิธีบรรเทาด้วยตนเอง

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยลมพิษสามารถบรรเทาอาการได้เองที่บ้านตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. รับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสทามีนที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อลดอาการคันที่ผิวหนัง อย่างยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือยาเซทิริซีน (Cetirizine)
  2. ไม่ควรเกาหรือถูผิวหนังอย่างรุนแรง 
  3. ควรเลือกใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่อ่อนโยนต่อผิว
  4. สวมเสื้อผ้าบางเบาและไม่รัดแน่น เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและลดการเสียดสีกับผิวหนัง 
  5. หากลมพิษไม่ได้เกิดจากความเย็น อาจลองเพิ่มความเย็นให้ผิวหนังที่มีอาการด้วยการอาบน้ำ ใช้พัดลมเป่า ประคบด้วยผ้าเย็น หรือทาด้วยโลชั่น
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นต้นเหตุของอาการลมพิษ หรือสิ่งกระตุ้นที่ทราบอยู่แล้ว เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลง ความร้อน ความเย็น หรือความเครียด เป็นต้น  
  7. ทาครีมกันแดดหรือสวมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกไปบ้านหรือทำกิจกรรมในสถานที่กลางแจ้ง
  8. หากผู้ป่วยเกิดลมพิษจากความเย็น ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเย็นหรืออากาศเย็น รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าที่หนาและอบอุ่น หรือผ้าพันคอรอบจมูกและปาก เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับความเย็นจนเกินไป
  9. หากมีอาการลมพิษเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรจดบันทึกว่าตนเองมีอาการบริเวณใด เกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน รวมถึงทำกิจกรรมหรือรับประทานอะไรมาบ้าง เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นได้ง่ายขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากวิธีดูแลเบื้องต้นไม่ได้ผล มีอาการแย่ลง หรืออาการลมพิษเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม แต่หากมีสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis)  เช่น เวียนศีรษะ หายใจลำบาก ริมฝีปาก เปลือกตา และลิ้นบวม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายถึงชีวิตได้