อาการของคุณแม่ช่วงท้อง 6 เดือน และพัฒนาการของทารกในครรภ์

ท้อง 6 เดือนยังเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ยังคงต้องคอยสังเกตอาการและดูแลตัวเองอยู่เสมอ เพราะเป็นการตั้งครรภ์ในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 และเตรียมจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายก่อนที่จะได้พบกับลูกน้อย การเรียนรู้ที่จะสังเกตอาการขณะตั้งครรภ์ในช่วงเดือนที่ 6 การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

ในช่วงใกล้คลอด คุณแม่หลายคนมักกังวลว่าอาการแบบใดที่เป็นสัญญาณอันตรายต่อลูกน้อย และควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งตัวเองและทารก พบแพทย์จึงได้รวบรวมสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการท้อง 6 เดือนมาฝากว่าที่คุณแม่ในบทความนี้

อาการของคุณแม่ช่วงท้อง 6 เดือน และพัฒนาการของทารกในครรภ์

สังเกตอาการคุณแม่เมื่อท้อง 6 เดือน

โดยทั่วไปคุณแม่ท้อง 6 เดือนมักไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว แต่คุณแม่น้อยคนอาจยังคงแพ้ท้องต่อเนื่องจนถึงก่อนคลอด และอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น

  • ปวดหน่วงท้องน้อย ปวดหลัง และปวดสะโพก เนื่องจากการรับน้ำหนักตัวของทารกที่เติบโตขึ้น
  • มีความอยากอาหารมากเป็นพิเศษ แต่หากรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ หรือรับประทานอาหารรสจัด มีไขมันและคาเฟอีนสูง อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และกรดไหลย้อน
  • ท้องผูก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ขณะตั้งครรภ์ ทำให้อวัยวะภายในและกล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารคลายตัว การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง จึงมักทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมา
  • ปวดศีรษะและเวียนศีรษะ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้น เพื่อไปหล่อเลี้ยงบริเวณมดลูก
  • เท้าและข้อเท้าบวม เป็นตะคริว ซึ่งเกิดจากระบบไหลเวียนเลือดทำงานหนักขึ้น เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
  • อาการเจ็บครรภ์เตือน (Braxton Hick Contraction) เป็นอาการท้องแข็งจากการที่มดลูกหดรัดตัว โดยอาการเจ็บท้องมักเกิดไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน อาจน้อยกว่า 30 วินาทีหรือนานถึง 2 นาที แต่ละครั้งมักรู้สึกเจ็บเท่าเดิมหรือเจ็บน้อยลง และอาการมักจะหายได้เอง
  • อาการทางผิวหนัง เช่น ผิวแตกลายและคันหน้าท้อง เนื่องจากผิวบริเวณหน้าท้องขยายตัวเมื่อทารกเติบโตขึ้น และฝ้าที่ใบหน้า ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในช่วงที่คุณแม่ท้อง 6 เดือน

ในช่วงเดือนที่ 6 ทารกจะเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวทารกเพิ่มขึ้น และเริ่มมีไขมันสะสมเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวของทารกในครรภ์จะยังมีลักษณะโปร่งแสงออกไปทางสีแดง ซึ่งจะมองเห็นรอยย่นของผิวและเส้นเลือดได้ชัดเจน เมื่อครบเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะมีลำตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และหนักราว ๆ 800–900 กรัม

ในระยะนี้ ไขกระดูกจะเริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือด  เริ่มมีลายนิ้วมือและนิ้วเท้า เริ่มมีขนคิ้วและขนตา เปลือกตาเริ่มแยกออกและใกล้จะเริ่มลืมตาได้ จมูกส่วนรับรู้กลิ่นเริ่มทำงาน ทำให้ทารกได้กลิ่นต่าง ๆ อย่างกลิ่นน้ำคร่ำ หูชั้นในพัฒนาสมบูรณ์ ทำให้ทารกได้ยินและสามารถตอบสนองต่อเสียงพ่อแม่และเสียงอื่น ๆ ภายนอกด้วยการดิ้นหรือชีพจรเต้นเร็วขึ้น 

นอกจากนี้ ปอดและสมองของทารกเริ่มพัฒนามากขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์ หากคลอดออกมาในช่วงเดือนที่ 6 จะถือว่าคลอดก่อนกำหนด และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก

คำแนะนำในการดูแลตัวเองเมื่อท้อง 6 เดือน

คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องการพลังงานรวม 2,000–2,300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยอาหารที่รับประทานควรมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารก เช่น โปรตีน โฟเลต แคลเซียม วิตามินบี วิตามินดี โอเมก้า 3 ธาตุเหล็ก และไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ และรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่แพทย์สั่ง

หากมีอาการกรดไหลย้อนควรปรับพฤติกรรมการกิน เช่น รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ห้ามดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด และเอนตัวนอน โดยมีระยะห่างหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์ เช่น เดิน และโยคะ และออกกำลังกายในน้ำ สัปดาห์ละ 3–5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที 

คุณแม่ท้อง 6 เดือนควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้องหรือปวดหลังอย่างรุนแรง
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก
  • ปัสสาวะแสบขัด มีฟอง และมีกลิ่นฉุนผิดปกติ
  • ท้องเสีย อาเจียน และมีไข้หลายวันโดยไม่ดีขึ้น
  • เจ็บครรภ์อย่างต่อเนื่องโดยไม่หายไป ปวดท้องรุนแรงและบ่อยกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
  • ลูกดิ้นน้อยลงกว่าปกติ

ท้อง 6 เดือนเป็นขั้นสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 และกำลังจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ในช่วงนี้ร่างกายของทารกจะมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่เองก็อาจพบอาการคนท้องที่ต้องคอยสังเกตและรับมือ รวมทั้งควรดูแลสุขภาพครรภ์อย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อจะได้พบกับลูกน้อยที่จะลืมตาดูโลกด้วยสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า