ไข่ดิบ ความอร่อยที่ควรระวัง

แม้ไข่ดิบจะเป็นแหล่งพลังงานและอุดมไปด้วยสารอาหารอย่างโปรตีน ไขมันชนิดดี วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนปกป้องดวงตา สมอง และหัวใจ เช่นเดียวกับไข่ปรุงสุก แต่การรับประทานไข่ดิบอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

ความอร่อยและรสชาติละมุนลิ้นของไข่ดิบนั้นอาจแฝงมากับอันตรายโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย หรือสูญเสียวิตามินบางชนิดในร่างกายไป โดยเฉพาะไข่ดิบที่ไม่ผ่านมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย และหากเราต้องการจะทานไข่ดิบควรเลือกอย่างไรถึงจะปลอดภัย

อันตรายจากไข่ดิบ ความอร่อยที่ควรระวัง

อันตรายจากการรับประทานไข่ดิบ

การรับประทานไข่ดิบอาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่อไปนี้

การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella)

การรับประทานไข่ดิบอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งพบได้ในระหว่างกระบวนการผลิตไข่ในตัวแม่ไก่ หรืออาจซึมผ่านเปลือกไข่เข้าไปปะปนกับไข่ดิบที่อยู่ภายใน โดยเฉพาะในระหว่างที่เราสัมผัสไข่หรือเตรียมอาหารที่มีไข่เป็นส่วนประกอบ 

การติดเชื้อซาลโมเนลลาอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โดยมักจะพบอาการท้องเสีย ปวดเกร็งท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ บางรายอาจมีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ

ร่างกายขาดไบโอติน (Biotin)

การรับประทานไข่ดิบเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณไบโอตินลดลง เนื่องจากไข่ขาวดิบมีโปรตีนที่เรียกว่าอะวิดีน (Avidin) ซึ่งจะเข้าไปจับกับไบโอตินในลำไส้ ทำให้ไบโอตินไม่ถูกดูดซึมและนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ตามปกติ อย่างไรก็ตาม โปรตีนอะวิดีนถูกทำลายได้ด้วยความร้อน คนที่รับประทานไข่ปรุงสุกจึงไม่ประสบปัญหาขาดไบโอตินหรือมีปริมาณไบโอตินในร่างกายลดลง 

เลือกรับประทานไข่ดิบอย่างไรให้ปลอดภัย

โดยทั่วไปไม่แนะนำให้รับประทานไข่ดิบ หากต้องการหรือจำเป็นต้องรับประทานควรใส่ใจเรื่องความสะอาดและปลอดภัยในขั้นตอนการเลือกซื้อ การเก็บรักษา และการเตรียมอาหารเป็นอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาในไข่ดิบให้ได้มากที่สุด เช่น 

  • เลือกซื้อเฉพาะไข่ดิบที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์หรือฆ่าเชื้อโรคมาแล้วเท่านั้น โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตจากบรรจุภัณฑ์ของไข่ ซึ่งมักระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว หรือปราศจากเชื้อซาลโมเนลลา 
  • เลือกซื้อไข่ที่จัดวางไว้ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือได้รับการควบคุมความเย็นอย่างสม่ำเสมอในตู้แช่หรือตู้เย็น
  • ล้างทำความสะอาดไข่ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ จากนั้นเก็บรักษาไข่ไว้ในตู้เย็นด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรวางไข่ไว้ที่อุณหภูมิห้อง เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว 
  • ไม่ควรซื้อหรือนำไข่ที่หมดอายุแล้ว ไข่ที่มีรอยแตกร้าวหรือสกปรกมารับประทาน 
  • หมั่นล้างมือและอุปกรณ์ครัวทุกชนิดให้สะอาดขณะเตรียมอาหารหรือปรุงอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะเมื่อต้องจับไข่ดิบด้วยมือเปล่า เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากอาหารหรืออุปกรณ์ครัวไปยังไข่ดิบ

อย่างไรก็ตาม วิธีลดความเสี่ยงของอันตรายจากไข่ดิบที่ดีที่สุดคือการไม่รับประทานไข่ดิบ และหันไปรับประทานไข่ปรุงสุกแทน แต่สำหรับผู้บริโภคที่ยังตัดใจเลิกรับประทานไข่ดิบไม่ได้ก็ควรระมัดระวังในการเลือกซื้อและการประกอบอาหารจากไข่ดิบอยู่เสมอ

หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หลังจากรับประทานอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอาการท้องเสียนานกว่า 3 วัน ท้องเสียร่วมกับมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อุจจาระปนเลือด อาเจียนติดต่อกัน หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำอย่างปัสสาวะน้อย ปากหรือคอแห้ง ลุกขึ้นยืนแล้วเวียนศีรษะ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว