อันตรายจากเชื้อราแมว โรคผิวหนังที่คนเลี้ยงแมวต้องระวัง

เชื้อราแมวเกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ที่พบบนผิวหนังของสัตว์ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ Microsporum canis (M. canis) เชื้อราชนิดนี้สามารถติดต่อไปสู่คนผ่านการสัมผัสตัวสัตว์โดยตรง เช่น ลูบขน กอด อุ้ม หรือนอนเตียงเดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หนังศีรษะ เท้า หรือเล็บตามมา 

แม้จะเรียกกันว่าเชื้อราแมว แต่สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นอย่างสุนัขหรือแฮมสเตอร์ รวมถึงคนเลี้ยงเองก็สามารถติดเชื้อราชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน คนที่มีสัตว์เลี้ยงจึงควรระมัดระวังและหมั่นดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและตัวเราให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจนนำไปสู่ปัญหาผิวหนังตามมา

อันตรายจากเชื้อราแมว โรคผิวหนังที่คนเลี้ยงแมวต้องระวัง

อาการของการติดเชื้อราแมวมีอะไรบ้าง

การติดเชื้อราแมวมักก่อให้เกิดอาการทางผิวหนังบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ผิวหนัง หนังศีรษะ เท้า หรือเล็บ โดยอาการจะปรากฏให้เห็นในช่วงไม่กี่วันหลังจากการติดเชื้อรา

คนที่ติดเชื้อราแมวอาจมีอาการคันที่ผิวหนัง เกิดผื่นเป็นวงขนาดเล็กหรือใหญ่ วงของผื่นลอกเป็นขุย ผิวหนังแตก แดง หรือตกสะเก็ด ในกรณีที่ติดเชื้อราที่ศีรษะอาจมีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ซึ่งหากเราไปเกาบริเวณที่มีผื่นติดเชื้อราแล้วไปสัมผัสผิวหนังบริเวณอื่น อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในบริเวณนั้น ๆ ได้ด้วย

วิธีรักษาการติดเชื้อราแมว

การรักษาเชื้อราแมวจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อและความรุนแรงของการติดเชื้อ บางรายอาจรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่คนที่เป็นหลายตำแหน่งอาจต้องรักษาด้วยยาต้านเชื้อราที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ถึงมีโอกาสหายได้เร็วขึ้น 

ตัวอย่างยาต้านเชื้อราที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) และยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โดยแพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดทาในรูปแบบครีมหรือโลชั่น ติดต่อกันประมาณ 2–4 สัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น  

คนที่มีอาการติดเชื้อราที่หนังศีรษะจำเป็นต้องใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน เช่น ยากริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ร่วมกับยาทาหรือแชมพูต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ เราอาจลดความเสี่ยงของการติดเชื้อราแมวได้ด้วยการปรับพฤติกรรมให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น เช่น

  • ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงอย่างแมว สุนัข หรือแฮมสเตอร์มากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อสัตว์นั้นมีผื่นผิวหนังหรือมีอาการป่วย
  • หมั่นอาบน้ำ หวีขน และเป่าขนให้แมวหรือสุนัขเป็นประจำ
  • หลังสัมผัส กอด หรืออุ้มสัตว์เลี้ยงควรล้างมือหรือแขนให้สะอาดทุกครั้ง 
  • หากเลี้ยงสัตว์ในบ้านควรทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ หรือชุดเครื่องนอนบ่อย ๆ   
  • สัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาผิวหนังควรรีบพาไปหาสัตว์แพทย์โดยเร็วและหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวไปก่อน 
  • พาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อราตามที่สัตว์แพทย์แนะนำ

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกป่วยหรือมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อราแมวหลังสัมผัสแมวหรือสัตว์เลี้ยงของตน ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาต้านเชื้อรา ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง