ทำความรู้จักกับสิวเชื้อรา และวิธีรับมือที่ถูกต้อง

สิวเชื้อราเป็นคำที่ใครหลายคนใช้เรียกอาการผิดปกติทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็ก (Papule) หรือตุ่มหนองเม็ดเล็ก (Pustule) คล้ายสิว มักเกิดขึ้นบริเวณหลัง หน้าอก แขน หรือใบหน้า โดยขนาดของรอยผื่นหรือตุ่มหนองจะมีขนาดที่เท่า ๆ กัน ประมาณ 1–2 มิลลิเมตร และมักส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคันร่วมด้วย

ในความความเป็นจริงแล้ว สิวเชื้อราไม่ใช่สิว รวมถึงไม่ได้เป็นคำที่ถูกนิยามหรือใช้อย่างเป็นทางการในทางการแพทย์ แต่แพทย์จะเรียกอาการผิดปกติทางผิวหนังในลักษณะนี้ว่า โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Pityrosporum Folliculitis) และยังใช้วิธีรักษาแตกต่างจากการรักษาสิวทั่วไป ในบทความจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิวเชื้อราหรือโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อราที่ควรรู้ ทั้งสาเหตุของโรค และวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ทำความรู้จักกับสิวเชื้อรา และวิธีรับมือที่ถูกต้อง

อะไรคือต้นเหตุของสิวเชื้อรา

โดยปกติ ผิวหนังของมนุษย์จะมีเชื้อราในกลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia) อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเชื้อราที่มักไม่ส่งผลให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย แต่เมื่อผิวเสียสมดุล เชื้อราดังกล่าวอาจเจริญเติบโตอย่างผิดปกติจนนำไปสู่อาการทางผิวหนัง อย่างสิวเชื้อราหรือโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้

โดยปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องหรือส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตผิดปกติ เช่น ผิวอับชื้น ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากเกินไป การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ผิวหนังอุดตันจากผลิตภัณฑ์บางชนิด การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ การรับประทานอาหารบางชนิด การสวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป หรือการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น 

วิธีรักษาสิวเชื้อรา

ในการรักษาสิวเชื้อรา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านเชื้อราเพื่อรักษาการติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน อย่างยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) และชนิดยาทา อย่างยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) และยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เช่น

  • อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เหงื่อออกมาก
  • ใช้แชมพูขจัดรังแคหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีสารซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) หรือสารซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เป็นส่วนผสม ฟอกให้ทั่วร่างกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นหรือคับจนเกินไป เพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • หลีกเลี่ยงการแกะเการอยผื่นและตุ่มหนอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

ทั้งนี้ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสิวเชื้อรามีลักษณะคล้ายกับสิว หลายคนจึงอาจเข้าใจผิดและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รักษาสิวต่าง ๆ มาใช้ด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งยาบางชนิดอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยพบอาการทางผิวหนังในลักษณะข้างต้นและอาการไม่ดีขึ้น หรือพบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ขึ้น หรือมีตุ่มหนองขนาดใหญ่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ