ออกซิเจนในเลือด ปัจจัยสำคัญต่อสมองและร่างกาย กับ 5 วิธีเพิ่มด้วยตัวเอง

ออกซิเจนในเลือด เป็นสิ่งที่ใช้บ่งบอกถึงปริมาณออกซิเจนที่ไหลเวียนอยู่ในเลือด ซึ่งวัดได้จากการเจาะเลือดมาตรวจ หรือใช้เครื่องวัดออกซิเจนติดปลายนิ้ว โดยออกซิเจนจะมีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะเซลล์ อวัยวะ และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง ล้วนจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเป็นส่วนประกอบ

ออกซิเจนสามารถพบได้ทั่วไปในอากาศ ซึ่งทุกคนสามารถได้รับเป็นปกติอยู่แล้วผ่านการหายใจ แต่ก็มีบางปัจจัยเช่นกันที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับออกซิเจนในเลือดได้ เช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนในอากาศน้อย ภาวะหายใจผิดปกติ การได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ การสูดดมควันในปริมาณมาก การเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง โดยเฉพาะโรคทางปอดและหัวใจ และการใช้ยาบางชนิด

ออกซิเจนในเลือด

ออกซิเจนในเลือดกับความสำคัญต่อร่างกายและสมอง

ออกซิเจนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อร่างกาย เพราะทั้งเซลล์ อวัยวะต่าง ๆ หรือระบบการทำงานพื้นฐานของร่างกาย เช่น การขยับตัว การย่อยอาหาร หรือแม้แต่การคิด ล้วนจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเป็นส่วนประกอบ 

โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่ควบคุมระบบประสาทอย่างสมอง ออกซิเจนยิ่งมีความจำเป็นต่อสมองเป็นอย่างมาก เพราะสมองเป็นอวัยวะที่ต้องใช้ออกซิเจนจำนวนมาก หรือประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณออกซิเจนทั้งหมดในร่างกายเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเซลล์สมองยังเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อการลดลงของระดับออกซิเจนในเลือดได้ไวอีกด้วย

นอกจากนี้ การมีออกซิเจนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายยังอาจมีส่วนช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความแข็งแรง อาจช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย รวมถึงอาจช่วยให้สมองรู้สึกปลอดโปร่งและมีความจำที่ดีขึ้นได้

หากระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ ตั้งแต่อาการทั่วไป อย่างอาการปวดศีรษะ ไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ไปจนถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับทางสมอง เช่น เซื่องซึม ไม่มีสมาธิ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ หรือเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจ

สำหรับระดับออกซิเจนในเลือดที่เหมาะสม หากวัดด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ออกซิเจนในเลือดควรจะอยู่ระหว่าง 95–100 เปอร์เซ็นต์

วิธีเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดด้วยตัวเองในเบื้องต้น

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับวิธีเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดด้วยตัวเอง ควรเข้าใจก่อนว่า วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีที่ใช้สำหรับดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำจากการเจ็บป่วย เช่น โรคหืด ปอดบวม โรคหัวใจ หรือโรคใด ๆ ก็ตาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลักก่อนจะค่อย ๆ ลองใช้วิธีดังต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย

1. ฝึกหายใจ

การฝึกหายใจจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างมา 2 วิธีที่สามารถทำได้ง่ายมาให้ผู้ที่ต้องการฝึกได้ลองนำไปปรับใช้กัน

วิธีแรก ให้เริ่มด้วยการนั่งตัวตรงหรือนอนราบไปกับพื้น ผ่อนคลายร่างกายและหัวไหล่ และทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ ประมาณ 2 วินาที 

2.ค่อย ๆ หากใจออกทางปากเป็นระยะเวลา 4 วินาที โดยที่ระหว่างหายใจออก ให้ห่อปากเล็กน้อย คล้ายกับกำลังผิวปาก 

3.ทำซ้ำจนครบ 5–10 ครั้ง

วิธีที่สอง ให้เริ่มด้วยการนอนราบไปกันพื้น ผ่อนคลายร่างกายและหัวไหล่ และทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. วางมือข้างใดข้างหนึ่งลงบนหน้าอก ส่วนอีกข้างให้วางบนหน้าท้อง

2. ค่อยหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ และกลั้นค้างเอาไว้ประมาณ 2–4 วินาที โดยขณะหายใจเข้า ส่วนของร่างกายที่ขยายตัวควรจะเป็นช่วงท้อง ไม่ใช่บริเวณหน้าอก

3. ค่อย ๆ หายใจออก โดยในระหว่างหายใจออก ควรรู้สึกว่าบริเวณท้องค่อย ๆ ยุบลงช้า ๆ 

4. ทำซ้ำจนครบ 5–10 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการฝึกหายใจควรฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรทำติดต่อกันถี่ ๆ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด หรือเวียนศีรษะได้

2. ดื่มซุปไก่สกัด

ซุปไก่สกัดเป็นเครื่องดื่มที่ได้มาจากกระบวนการสกัดเนื้อไก่ มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเครื่องดื่มชนิดนี้จะมีสารอาหารหลัก ๆ เป็นกรดอะมิโน ไดเปปไทด์ (Amino Dipeptide) อย่างคาร์โนซีน (Carnosine) และแอนเซอรีน (Anserine) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบในร่างกาย อีกทั้งยังเป็นสารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย

สำหรับประโยชน์ในด้านการเพิ่มออกซิเจน มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยการเปรียบเทียบผู้เข้าทดลอง 2 กลุ่ม ระหว่างผู้ที่ดื่มซุปไก่สกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน กับผู้ที่ดื่มซุปไก่สกัดหลอก แล้วพบว่ากลุ่มที่ดื่มซุปไก่สกัดมีออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมองมากขึ้น โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบความจำและการควบคุมสมาธิ 

ดังนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยเติมสารต้านอนุมูลอิสระให้ร่างกายแล้ว การดื่มซุปไก่สกัดยังอาจมีส่วนช่วยให้ออกซิเจนในร่างกายไหลเวียนไปเลี้ยงที่สมองได้ดีขึ้นอีกด้วย

การเลือกดื่มซุปไก่สกัดควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่สะอาด ได้มาตรฐาน มีไขมันและโซเดียมต่ำ รวมทั้งไม่มีวัตถุกันเสีย โดยปกติแล้ว การดื่มซุปไก่สกัดเพื่อบำรุงสมองถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ผู้ที่ดื่มก็ควรดื่มในปริมาณตามที่ฉลากผลิตภัณฑ์แนะนำ และหากมีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน 

3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง

การสูบบุหรี่หรือการสูมดมควันบุหรี่มือสองเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลงได้ อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับทางระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย

4. เปิดหน้าต่างหรือประตูเพื่อให้อากาศถ่ายเท

การเปิดประตูหรือหน้าต่างในบ้านก็เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่ายที่จะช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนที่มากขึ้น หรือหากเป็นไปได้อาจลองหาเวลาออกไปเดินในที่ที่อากาศปลอดโปร่ง เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับอากาศที่มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการช่วยคลายความเครียดและกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวอีกด้วย

5. ปลูกต้นไม้ในบ้าน

การปลูกต้นไม้ในบ้านเป็นวิธีที่อาจช่วยให้อากาศในบ้านมีออกซิเจนที่มากขึ้น แต่อาจจะต้องเลือกชนิดของต้นไม้ให้เหมาะสม โดยต้นที่สามารถปลูกได้ก็เช่น ต้นเศรษฐีเรือนใน พลูด่าง หรือเบญจมาศ เนื่องจากต้นไม้บางชนิดอาจจะส่งผลเสียต่อผู้ที่มีเด็กหรือเลี้ยงสัตว์ในบ้านได้

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคหืด ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่ด้วยเสมอ เนื่องจากการปลูกต้นไม้บางชนิดอาจส่งผลให้ภายในบ้านมีระดับความชื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราที่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคหืดเกิดอาการได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ที่พบว่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 90–92 เปอร์เซ็นต์ หรือเริ่มพบอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน หรือผิวหนัง เล็บ และริมฝีปากเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้าหรือแดงสด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด: 28 พฤศจิกายน 2566
ตรวจสอบความถูกต้องโดย: กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD

เอกสารอ้างอิง 

  • Konagai, et al. (2013). Effects of essence of chicken on cognitive brain function: a near-infrared spectroscopy study. Bioscience, biotechnology, and biochemistry, 77 (1), pp. 178–181.
  • U.S. National Library of Medicine MedlinePlus (2022). Cerebral hypoxia.
  • กรมสุขภาพจิต (2021). ฝึกหายใจอย่างไร...ในยุคโควิด.
  • Cleveland Clinic (2022). Blood Oxygen Level.
  • Cleveland Clinic (2022). Hypoxemia.
  • Cleveland Clinic (2021). Cerebral Hypoxia.
  • พัฒนพล เอ็งสุโสภณ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (2021). เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วใช้อย่างไร…
  • Jewell, T. & Hoshaw, C. Healthline (2023). What Is Diaphragmatic Breathing?
  • Gotter, A. Healthline (2023). Pursed Lip Breathing.
  • Stanborough, R.J. Healthline (2020). A Hobby for All Seasons: 7 Science-Backed Benefits of Indoor Plants.
  • Badii, C. Healthline (2018). Brain Hypoxia.
  • Riley, E. Healthline (2018). The Best Air-Purifying Plants for Your Home.