อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งมักพบบ่อยในผู้ชายอายุช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่อวัยเพศไม่เกิดการแข็งตัว หรือเกิดการแข็งตัวแต่จะอยู่ได้เพียงในระยะเวลาสั้น ๆ จนกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์

อวัยวะเพศไม่แข็งตัวที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราวมักไม่ได้เป็นสัญญาณอันตรายใด ๆ แต่อาจส่งผลให้ขาดความมั่นใจและเกิดความเครียด ในบางกรณีสาเหตุของอวัยวะเพศไม่แข็งตัวอาจมาจากปัญหาด้านสุขภาพอย่างโรคหัวใจหรือโรคเบาหวาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์

อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

สาเหตุที่อวัยวะเพศไม่แข็ง 

ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มักเกี่ยวข้องกับสมอง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ หลอดเลือด และฮอร์โมน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • อวัยวะเพศมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ปัจจัยนี้อาจเกิดได้จากการสูบฉีดเลือดของหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง โดยสาเหตุที่มักพบได้ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และภาวะความดันโลหิตสูง
  • เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ปัญหาเกี่ยวกับไขสันหลัง รวมไปถึงการผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาทอย่างการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
  • ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง เช่น ระดับอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ต่ำ

นอกจากนี้ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อย่างความเครียด อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรืออาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดได้ เช่น ยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะความดันโลหิตบางชนิด หรือยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

รับมือกับปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งอย่างไรดี

ผู้ที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวอาจลองนำวิธีต่อไปนี้ไปปรับใช้ 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นผลดีต่อคนที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหลายด้าน ทั้งช่วยควบคุมความเครียด ควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น
  • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียม และไขมันสูง เนื่องจากการรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือด และอาจมีส่วนทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งได้
  • จัดการกับความเครียด และภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หากไม่สามารถรับมือได้อาจขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้บริเวณอวัยวะเพศและสะโพกได้รับแรงกดทับนาน ๆ เช่น การปั่นจักรยานนาน ๆ เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือเบาหวาน ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อาจเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ในบางกรณีที่ปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ อยู่ อาจขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแล และไม่ควรหยุดใช้ยาเอง เพื่อป้องกันอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้ว อาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวยังไม่ดีขึ้น รู้สึกเป็นกังวล เครียด หรือขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจหรือโรคเบาหวาน หรือเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการหลั่งช้าหรือหลั่งเร็วผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุของแต่ละคน